4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

“บราวนี่” ยอดฮิต ติดอันดับขนมหวานสูตรกัญชา สวรส. เร่งวิจัย สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย “ปกป้องเด็กเยาวชนไทย”

          การปลดล็อคกัญชาและกัญชง ด้านหนึ่งคือโอกาสของการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น แต่อีกด้านส่งผลให้การใช้กัญชาและกัญชงมีความแพร่หลาย โดยเฉพาะในรูปแบบของอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งผลกระทบสำคัญที่ตามมาคือ มีการใช้กัญชาผสมในอาหาร เครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีค่าสาร THC เกินกว่าปริมาณที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันยังขาดระบบการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ถึงสารต่างๆ ที่อยู่ในอาหาร เครื่องดื่ม อาหารปรุงสำเร็จ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเปราะบางอย่างกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 25 ปี ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวหากได้รับสาร THC และสารอื่นๆ เกินกว่าปริมาณที่ร่างกายรับได้ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและการเจริญเติบโตตามวัยของเด็กและเยาวชน ซึ่งผลกระทบจะแตกต่างกับผู้ใหญ่มาก ดังนั้นการจะผลักดันไปสู่การมีกฎหมาย/มาตรการที่เหมาะสม และมีความปลอดภัยกับเด็กและเยาวชน “ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัย” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง 

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย “การวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญของพืชกัญชาในอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องปรุงและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชา/กัญชง: แนวทางเชิงนโยบายระบบสุขภาพ ลดการเข้าถึงในกลุ่มเปราะบาง ที่เป็นเด็กและเยาวชน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปริมาณสารแคนนาบินอยด์ของพืชกัญชาในอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมของกัญชา/กัญชง รวมถึงประเมินความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพกายและจิตใจ การตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาและการสังเกตฉลากสินค้าในกลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็กและเยาวชน และศึกษาวิธี/กระบวนการผลิต อัตราส่วน/ปริมาณการผสมกัญชา/กัญชงในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เพื่อเสนอแนวทางการป้องกันการเข้าถึงในกลุ่มเปราะบางที่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, นพ.นพพร ชื่นกลิ่น กรรมการสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, ภญ.สุภาวดี ธีระวัฒน์สกุล ผู้อำนวยการกองอาหาร คณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ศ.ดร.อาณัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเอเชีย  

           ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์เชิงนโยบายในเรื่องกัญชาจะถูกให้ความสนใจลดลง ในทางตรงข้ามในด้านสถานการณ์การใช้หรือการบริโภคกัญชายังคงมีอยู่ในสังคม รวมทั้งการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชาในอาหารหรือขนมไม่ได้ลดลง สอดคล้องกับผลการสำรวจในงานวิจัยของ สวรส. ก่อนหน้านี้ที่พบว่า กัญชาเข้าถึงได้ง่ายและเป็นสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิดการเสพสารเสพติดชนิดที่มีความรุนแรงมากขึ้น และเป็นที่ทราบกันดีว่าสารเสพติดเหล่านี้ ถ้าเด็กและเยาวชนเข้าถึงก็จะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาเรื่องพืชกัญชาในส่วนที่จะนำมาใช้ประโยชน์ให้ชัดเจน ควบคู่กับการเสนอแนวทางการป้องกันและควบคุม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งงานวิจัยนับเป็นองค์ความรู้สำคัญให้กับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดทิศทางให้กับประเทศต่อไป

          ทั้งนี้งานวิจัยยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยส่วนหนึ่งของผลการวิจัยเบื้องต้นที่ได้จากการสำรวจผู้ดำเนินกิจการ/ร้านค้าที่มีผลิตภัณฑ์ซึ่งมีส่วนผสมของกัญชา/กัญชง จำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล, ผู้บริโภคกลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 25 ปี และการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา/กัญชง พบว่า ผู้ดำเนินกิจการ/ร้านค้า มีระดับความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาในอาหารและเครื่องดื่มดีเยี่ยม แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าในกลุ่มร้านค้าที่มีความรู้น้อย เป็นผู้ประกอบการด้านอาหาร สำหรับลักษณะการจัดร้านมีหลายแบบ เช่น แนวคาเฟ่ ร้านติดฟิล์มดำมิดชิด ร้านอยู่ในห้างสรรพสินค้า ขายแบบออนไลน์ ฯลฯ ส่วนผลิตภัณ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ขายดีที่สุดคือ บราวนี่ รองลงมาคือ คุกกี้ กัมมี่ และน้ำหวานผสมรสต่างๆ ด้านกลยุทธ์ส่งเสริมการขาย เช่น มีการลดราคาให้ลูกค้าเก่า มีของแถม ทำให้มียอดการสั่งซื้อมากขึ้น มีการวางของโชว์บริเวณเคาเตอร์จ่ายเงิน ฯลฯ ความเห็นของผู้ประกอบการถึงผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค เชิงบวก ช่วยให้ผ่อนคลาย ร่างกายแข็งแรง มีชีวิตชีวา หลับสบาย ฯลฯ เชิงลบ หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการมึนเมา ประสาทหลอน แยกตัวจากสังคม ฯลฯ รวมถึงมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เคยมาขอซื้อผลิตภัณฑ์กัญชามากถึง 70%

          ด้านความเห็นของผู้บริโภคที่เป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 25 ปี พบว่า 23% มีระดับความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาในอาหารและเครื่องดื่มอยู่ในระดับดีเยี่ยม ส่วนคนที่มีความรู้น้อยมากมี 19% โดยผู้ชายจะมีความรู้มากกว่าผู้หญิง ทั้งนี้ประเภทผลิตภัณฑ์ผสมกัญชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อยู่ในกลุ่มขนม/ของหวาน เช่น บราวนี่ คุกกี้ เจลลี่ คอร์นเฟลก รองลงมาเป็นเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ เบียร์ น้ำหวาน ชาเขียว เครื่องสำอาง ยาสมุนไพร ฯลฯ ด้านปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ มากที่สุดคือ การแนะนำจากเพื่อน/คู่รัก รองลงมาคือคุณภาพของผลิตภัณฑ์, ร้านค้าอยู่ใกล้กับที่อยู่อาศัย/เดินทางสะดวก, ราคาเหมาะสม/ไม่แพง ฯลฯ ความถี่ในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาคือ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ รองลงมาคือ ใช้ทุกวัน และสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนทัศนคติในการนำกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบอาหารและเครื่องดื่ม เห็นด้วย 43% เห็นด้วยอย่างยิ่ง 34% ไม่แน่ใจ 12% ไม่เห็นด้วย 7% และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 4% ความเห็นต่อผลกระทบด้านร่างกาย/จิตใจ จากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา เชิงบวก ช่วยในการพักผ่อน หลับสบาย จิตใจผ่อนคลาย เชิงลบ ทำให้เกิดอาการมึนหัว ใจเต้นแรง เดินเซ

          นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้เสนอถึงจุดท้าทายสำคัญในระหว่างเส้นทางตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การควบคุมการปลูก ควบคุมสายพันธุ์ ควบคุมมาตรฐานการผลิต การออกใบอนุญาต/การขึ้นทะเบียน การสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง สื่อ/โฆษณาในสังคมออนไลน์ กลางน้ำ เช่น กระบวนการสกัด/แปรรูป/สารสังเคราะห์ มาตรฐานการสกัด/แปรรูป การเปิดเผยขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการสกัด/แปรรูป การออกใบอนุญาต/การรับรองในการจำหน่ายของหน่วยงานต่างๆ ปลายน้ำ เช่น ขนาดและการติดป้ายกำกับ/ฉลากให้ชัดเจน การระบุสาร THC สำหรับการใช้ในแต่ละครั้ง การระบุสารเคมี/ยาฆ่าแมลงที่ใช้ การระบุความเสี่ยง/ผลข้างเคียงต่อสุขภาพ การระบุคำเตือน/ข้อควรระวัง การขึ้นทะเบียนและการได้รับการอนุญาตที่มีมาตรฐาน ตลอดจนหลังปลายน้ำ เช่น การเติบโต/ขยายตัวของอุตสาหกรรม/ธุรกิจในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะรูปแบบออนไลน์ ผลกระทบข้างเคียง การใช้ในทางที่ผิด อายุในการเข้าถึงสื่อ/โฆษณา ฯลฯ

รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้