4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

วิจัยชี้: สัญญาณเตือนและความท้าทายใหญ่ ในการรับมือ NCD และสังคมผู้สูงอายุ

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “ระบบบริการปฐมภูมิ: ทางออกในการรับมือระบาดวิทยา NCD และสังคมผู้สูงอายุ” ในการประชุมวิชาการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2567 “ร่วมพลิกระบบสุขภาพไทย ด้วยงานวิจัยคุณภาพ” โดยในเวทีมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานวิจัยระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ภายใต้สถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยมีวิทยากรสำคัญ อาทิ รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.อุดม ทุมโฆสิต อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, นพ.อภิสรรค์ บุญประดับ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข, นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, นายสมบัติ ชูเถื่อน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ฯลฯ 

          รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นไว้ในเวทีดังกล่าวว่า การศึกษาวิจัยผลกระทบของบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยเปรียบเทียบระหว่าง รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปอยู่สังกัด อบจ. กับ รพ.สต. ที่ยังอยู่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นการศึกษาเพื่อมองหาสัญญาณเตือนที่เรียกว่า Early Warning Signs ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องเร่งให้ความสนใจ หรือเข้าไปปรับปรุงดำเนินการ โดยเป็นประเด็นที่มีผลต่อการให้บริการด้านสุขภาพกับประชาชน ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. ทั้งนี้ข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัยคือ บริการปฐมภูมิในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการถ่ายโอน รพ.สต. เช่น การจัดบริการคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ใน รพ.สต.ถ่ายโอน หลายพื้นที่มีการหยุดชะงักหรือปรับรูปแบบ และความร่วมมือในการทำงานระหว่าง รพ.สต.กับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มีเงื่อนไขที่ทำให้การทำงานร่วมกันมีความยุ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการส่งต่อข้อมูลข้ามสังกัด เช่น เรื่องการจัดการยา เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ ตลอดจนการถ่ายโอน รพ.สต. มีผลกระทบในเชิงโครงสร้างของการจัดบริการปฐมภูมิ และเกิดผลกระทบต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ป่วย NCDs ไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งการเดินหน้าต่อจำเป็นต้องมีนวัตกรรมการจัดการเชิงระบบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจัดการกับความสัมพันธ์ของแต่ละสังกัด การบริหารทรัพยากร การสนับสนุนทางวิชาการ และการจัดบริการร่วมกันในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องการการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อยกระดับสุขภาพประชาชน และเตรียมพร้อมหากเกิดภัยทางสุขภาพในอนาคต

          รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า งานวิจัยที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ ได้มีการศึกษาในเชิงของกระบวนการเรียนรู้ โดยศึกษารูปแบบการถ่ายโอนของแต่ละจังหวัดที่มีความไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะการทำงานระหว่าง อบจ. กับ สสจ. ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจฯ ต้องการให้หน่วยราชการเจ้าของภารกิจเดิมยังคงเป็นพี่เลี้ยงต่อไป ในกรณีที่ท้องถิ่นรับถ่ายโอนภารกิจไปแล้วมีปัญหา เจ้าของภารกิจเดิมยังควรต้องมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยเติมเต็มให้ท้องถิ่นสามารถทำงานได้ตามมาตรฐาน นอกจากนี้ในส่วนของประเด็นเฉพาะด้านในกลุ่มเป้าหมายสำคัญ อย่างเช่น กลุ่มผู้ป่วย NCDs และผู้สูงอายุ พบว่า ระบบการดูแลผู้ป่วย NCDs และงานป้องกัน NCDs ยังไม่เข้มแข็ง และมีความสับสนในบทบาทหน้าที่ ส่วนการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ไม่ได้รับบริการอย่างครอบคลุมและถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งประเด็นปัญหาที่พบดังกล่าว อาจแก้ปัญหาด้วยการใช้โมเดลทีมหมอครอบครัวช่วยสนับสนุน รวมทั้งสร้างกลไกการให้คำปรึกษาและการทำงานเป็นทีมร่วมกันในพื้นที่ โดยมีแนวทางเวชปฏิบัติเป็นแนวทางพื้นฐานในการทำงานตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ซึ่งสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ต้องการคือการที่ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และโรงพยาบาลแม่ข่ายมีความแออัดน้อยลง

          นายสมบัติ ชูเถื่อน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การถ่ายโอน รพ.สต. รอบแรก ตั้งแต่ปี 2551 มีการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล จำนวน 81 แห่ง และมีการศึกษาที่สรุปว่าหลังการถ่ายโอนไปแล้ว มีการบริการด้านสุขภาพที่ดีขึ้น โดยมีตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด เช่น เทศบาลเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี, อบต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่, เทศบาลตำบลนาเยีย จ.อุบลราชธานี ส่วนการถ่ายโอนรอบหลังในปี 2565 ที่มีการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ให้กับ อบจ. ยังคงเดินหน้าต่อไป หากแต่ครั้งนี้มีรูปแบบ วิธีการ ตลอดจนการประเมินและติดตามผลที่แตกต่างไปจากการถ่ายโอนครั้งที่แล้ว

          นายสมบัติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยพูดถึงคือ คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ซึ่งเปรียบเสมือนบอร์ดบริหาร รพ.สต. ที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไข ส่งเสริม พัฒนา และติดตามประเมินผล ทั้งในเรื่องของงาน คน เงิน ของ รวมถึงบริการของ รพ.สต. ทั้งหมด ดังนั้นกิจกรรมอะไรก็ตามที่จัดบริการใน รพ.สต. ถ่ายโอน ควรต้องผ่านการพิจารณาของ กสพ. ส่วนกองสาธารณสุขของ อบจ. เป็นเหมือนสำนักงานเลขานุการที่ดำเนินการตามความเห็นและมติของ กสพ. แต่ทว่าปัจจุบัน กสพ. ในหลายพื้นที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ส่วนแผนการพัฒนา รพ.สต. ในสังกัด อบจ. จะเป็นอย่างไร คิดว่าในระยะเปลี่ยนผ่านช่วงไม่กี่ปีแรก ควรบริหารจัดการให้ได้เหมือนตอนยังไม่ถ่ายโอน และให้ความสำคัญกับการคัดกรองเรื้อรัง โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง รวมทั้งควรเร่งพัฒนาบุคลากร และสร้างขวัญกำลังใจ ตลอดจนปรับโครงสร้างการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ส่วนในระยะถัดมา ควรมุ่งดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ที่สมดุลระหว่างงานส่งเสริมป้องกันกับการรักษาฟื้นฟู แล้วต่อจากนั้นจึงค่อยขยายบทบาทหน้าที่ของหน่วยบริการ รพ.สต. ให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

          ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส. สนับสนุนทุนวิจัยในเรื่องการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิที่เน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค โดยในบริบทช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีนโยบายเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต. ซึ่ง รพ.สต. ถ่ายโอน เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการปฐมภูมิ ที่จะช่วยให้คนไทยได้รับการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นทางออกสำคัญของภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ทั้งนี้หากพิจารณาตัวเลขค่าใช้จ่ายรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากที่เคยใช้ราว 1,200 บาทต่อคน ในปี 2545 ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 3,400 บาทต่อคน ในปี 2567 สะท้อนว่างบประมาณด้านสุขภาพของประเทศจะยังสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ ถ้าไม่หาทางออกด้วยการทำให้คนเจ็บป่วยน้อยลง

          ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวต่อว่า ภาพรวมของงานวิจัยจึงได้มีการมองในเชิงระบบของการถ่ายโอน รพ.สต. ทั้ง 6 ระบบ คือ ระบบบริการ ระบบกำลังคน ระบบข้อมูล ระบบยา เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระบบการเงินการคลัง และ ระบบการอภิบาล ซึ่งแต่ละระบบมีข้อเสนอเชิงนโยบายในระยะเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของบุคลากรที่ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน หรือรูปแบบการบริหารจัดการยา การจัดซื้อ การจัดสรรงบต่างๆ ที่ยังต้องมีการหารือกัน แต่สิ่งหนึ่งที่งานวิจัยพบจากทั้งหมดเกือบ 62 จังหวัดที่ถ่ายโอน รพ.สต. คือวาระที่นำเข้าในการประชุมบอร์ด กสพ. ส่วนใหญ่เน้นไปที่เรื่องของคนและเงินเป็นหลัก แต่ยังขาดการสะท้อนข้อมูลเรื่องสถานการณ์สุขภาพในพื้นที่ เพื่อนำไปวางแผนเรื่องการจัดสรรงบประมาณและกำลังคนได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในบริบทที่ประเทศไทยมีสถานการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมโรคเบาหวานและความดัน เพื่อไม่ให้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังมากขึ้นไปกว่านี้ รวมถึงบริบทสังคมผู้สูงอายุด้วย 

          “ปัจจุบัน รพ.สต. ทั่วประเทศมีการถ่ายโอนจากสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไป อบจ. แล้วประมาณ 40% ซึ่งเมื่อถ่ายโอนแล้ว คาดหวังว่างบประมาณจาก อบจ. จะมีส่วนมาช่วยเติมกำลังคนในระบบการให้บริการ เติมงบประมาณในการดูแลให้เพียงพอต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง สวรส. จะประเมินและวิเคราะห์นโยบาย เพื่อสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ จุดอ่อน จุดแข็ง และปัญหาอุปสรรคต่างๆ พร้อมเสนอแนวทางการแก้ปัญหา และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว

รูปภาพเพิ่มเติม
aYlNlfdX
08 พ.ย. 67
หัวข้อ

1

รายละเอียด

20


aYlNlfdX
08 พ.ย. 67
หัวข้อ

1

รายละเอียด

20


แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้