4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

เปิดประชุมวิจัยระบบสุขภาพ ปี 56 สธ.พร้อมปฏิรูประบบสุขภาพ “ลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรม”

          สวรส. เปิดงานประชุมการวิจัยระบบสุขภาพ ประจำปี 2556 “จัดการความรู้ สู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” ชูประเด็น “ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” หมอประดิษฐ เผยยังพบช่องโหว่ระบบหลักประกัน ประกาศเดินหน้า “ปฏิรูประบบสุขภาพ” นโยบายสำคัญแก้วิกฤตความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมเท่าเทียม

           นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวมอบนโยบายเรื่อง “การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” ในงานประชุมวิชาการการวิจัยระบบสุขภาพ ประจำปี 2556 จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นนโยบายด้านระบบสุขภาพของรัฐบาลที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าตลอด 1 ทศวรรษของการดำเนินนโยบายจะบรรลุเป้าประสงค์ได้เป็นอย่างดี ทั้งในมิติการเข้าถึงบริการ การลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล โดยสามารถป้องกันการล้มละลายหรือความยากจนลงได้ แต่จากการศึกษาวิจัยของ สวรส. ยังพบปัญหาอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดอยู่ 3 ประการ คือ

          1) ความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพ เนื่องจากขาดกลไกกลางในการอภิบาลระบบ ทำให้แต่ละกองทุนมีการออกแบบการบริหารจัดการระบบ การจ่ายค่าบริการ รวมถึงสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการให้บริการต่างกัน ส่งผลให้ประชาชนในแต่ละสิทธิได้รับบริการแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับยา หรือหัตถการ 2) ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่จากปัญหาด้านการกระจายทรัพยากรและความพร้อมของระบบบริการในพื้นที่ระหว่างจังหวัดและเขตต่างๆที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดความแตกต่างในการได้รับบริการ รวมถึงประสิทธิผลของการให้บริการ และ 3) การขาดประสิทธิภาพการจัดบริการ  การใช้ทรัพยากร และการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพ เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจากการใช้ยาต้นแบบหรือยานอกบัญชียาหลัก

          “รัฐบาลมุ่งที่จะสร้างความเป็นธรรมในระบบบริการสุขภาพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นการก้าวเข้าสู่ช่วงทศวรรษที่ 2 ของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงได้วางกรอบแนวคิดหลักในการปฏิรูประบบสุขภาพให้มีกลไกการอภิบาลระบบสุขภาพระดับชาติที่เป็นเอกภาพและมีธรรมาภิบาล เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนากฎ กติกา และมาตรฐานต่างๆของระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการปฏิรูป โดยให้มีกลไกกลางระดับชาติในการกำหนดนโยบายระบบสุขภาพ ระบบการคลังและประกันสุขภาพ การแยกบทบาทการให้บริการให้มีช่วงห่างจากบทบาทในการกำหนดนโยบายและกำกับติดตามเพื่อลด conflict of interest ของกระทรวงฯ รวมถึงการบูรณาการการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพของ 3 กองทุน ให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพ ซึ่งรัฐบาล และ สธ. ได้เดินหน้าขับเคลื่อนโดยการออกแบบระบบประกันสุขภาพให้มีชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานและมีระบบมาตรฐานเดียวกัน และได้เริ่มนำร่องบูรณาการการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพเฉพาะบริการ เช่น ระบบบริการและชดเชยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ได้เริ่มไปแล้วเมื่อ 1 เม.ย.55 ระบบการจ่ายยาต้านไวรัสเอดส์ ที่เริ่มมาตั้งแต่ 1 ต.ค.55 เป็นต้นมา และขณะนี้ยังได้ตั้งคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์เพื่อให้บริการเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกกองทุน ซึ่งจะทำให้ผู้มีสิทธิในทุกกองทุนสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้อย่างมีคุณภาพทัดเทียมกัน ทั้งหมดนี้ภายใต้แนวคิดการดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพและความยั่งยืน” นพ.ประดิษฐ กล่าว

           ทางด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ จะเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมของระบบประกันสุขภาพไทยแก่ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบายและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์  ตลอดจนเปิดเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบสุขภาพ  รวมทั้งกระตุ้นให้มีการวิจัยระบบสุขภาพในด้านนี้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากระบบสุขภาพไทยยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำอยู่ไม่น้อย ในขณะที่การศึกษาเพื่อพัฒนาและเวทีแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งๆที่เรื่องดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาระบบสุขภาพไทย

           สำหรับการเปิดเวทีในวันแรกมีการนำเสนอเรื่อง “สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง” เผยข้อมูลเชิงประจักษ์ “ความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพไทย” ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งงานวิจัยในหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ภายหลังมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนจนในชนบทและประชาชนในภาคอีสานได้เป็นอย่างมาก รวมถึงการลดความยากจนจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล อย่างไรก็ดียังคงพบว่ามีความแตกต่างของการได้รับบริการระหว่างกองทุนสุขภาพ และระหว่างพื้นที่ต่างๆ

           รวมถึงเวทีเสนอผลการประเมินนโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำในระบบการแพทย์ฉุกเฉินของ 3 กองทุนประกันสุขภาพ” ที่รัฐบาลประกาศดีเดย์และดำเนินการมาจนครบ 1 ปี ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของระบบบริการฉุกเฉินมาตรฐานเดียว  ที่แม้ว่านโยบายนี้จะได้รับเสียงตอบรับจากสังคมเป็นอย่างดี แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังมีข้อจำกัดที่ต้องพัฒนา จากการศึกษาปรากฏข้อค้นพบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าสนใจ อาทิ ความไม่ชัดเจนในนิยามของคำว่า "ฉุกเฉิน" ความไม่เข้าใจจากการเรียกเก็บส่วนต่างจากคนไข้ เป็นต้น ข้อเสนอสำคัญจากงานวิจัยต่อนโยบายนี้จะเป็นเข็มทิศแนะการพัฒนาให้นโยบายสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้