4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ถอดบทเรียน สู่โจทย์วิจัย พร้อมยกระดับ “นโยบายรับยาร้านยา: เพื่อการเข้าถึงและประสิทธิภาพการรักษา พร้อมลดแออัดในโรงพยาบาล”

          ประชุมวิชาการ สวรส. ปี 2567 เปิดวงเสวนา “นวัตกรรมบริการเพื่อขับเคลื่อนร้านยาในระบบหลักประกัน” ถอดบทเรียนการดำเนินการนโยบายรับยาร้านยา โดยเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “นวัตกรรมบริการ เพื่อขับเคลื่อนร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพ” ซึ่งเป็นเวทีเสวนาหนึ่งในการประชุมวิชาการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2567 “ร่วมพลิกระบบสุขภาพไทย ด้วยงานวิจัยคุณภาพ” เพื่อฉายภาพนวัตกรรมบริการร้านยา ตลอดจนแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าของการดำเนินงานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และนำไปสู่การพัฒนาโจทย์วิจัยระยะต่อไป

          ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. ให้ความเห็นเกี่ยวกับเวทีครั้งนี้ว่า เวทีเสวนาดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่ระดับนโยบาย ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีการนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งนี้ สวรส. มีบทบาทของการประเมินพัฒนานโยบายสุขภาพสำคัญ โดยนโยบายรับยาร้านยา เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ สวรส. มีการดำเนินงานวิจัยคู่ขนานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นที่ได้จากเวทีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโจทย์การวิจัยที่จะนำไปสู่การยกระดับนโยบายและระบบสุขภาพของประเทศต่อไป 

          ผศ.ดร.สุรสิทธิ์ ล้อจิตรอำนวย สมาคมเภสัชกรชุมชน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ร้านยามีบทบาทในระบบหลักประกันสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนให้ร้านยาเข้ามาร่วมให้บริการประชาชนอย่างจริงจัง ภายใต้บทบาทการดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2) การดูแลอาการเจ็บป่วยโรคทั่วไปที่สามารถใช้บริการได้ที่ร้านยา และ 3) การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งการรับ ส่งต่อ และการจ่ายยาต่อเนื่อง ทั้งนี้ในการดูแลผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common Illness: CI) ถือเป็นทิศทางสำคัญของระบบสุขภาพทั่วโลกที่ร้านยาจะเข้ามาช่วยลดภาระให้กับหน่วยบริการ และช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาความร่วมมือ ทั้งเรื่องการเพิ่มจำนวนร้านยาที่เข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น รวมถึงการขยายขอบเขตการดูแล จากเดิม 16 กลุ่มอาการ เป็น 32 กลุ่มอาการในปัจจุบัน สอดคล้องกับอีกหลายประเทศที่ให้ร้านยาเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการ เช่น ประเทศอังกฤษ ที่มีระบบหลักประกันสุขภาพคล้ายกับประเทศไทย ซึ่งมีบริการจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงให้ร้านยาสามารถดูแลการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ ภายใต้การดำเนินการของเภสัชกร 
   
          “การใช้ศักยภาพของหน่วยบริการภาคเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการ เป็นหนึ่งในแนวทางการลดความแออัดในหน่วยบริการ โดยรัฐไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่งร้านยาถือว่าเป็นสถานบริการเอกชนแห่งหนึ่งที่มีศักยภาพสูง ทั้งเรื่องการกระจายตัวที่มีมากกว่า 1.8 หมื่นแห่งทั่วประเทศ มีความสะดวกในการใช้บริการ และการเข้าถึงบริการ ร้านยาจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหานี้” ผศ.ดร.สุรสิทธิ์ กล่าว 

          รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรม และกรรมการสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 มีผลทำให้ร้านยาต้องเข้ามามีส่วนสนับสนุน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีมาช่วยดูแลผู้ป่วย เริ่มตั้งแต่คัดกรอง ป้องกัน เภสัชกรรมทางไกล การรักษา และติดตามอาการ โดยเทคโนโลยีที่สำคัญ ได้แก่ ระบบ A-MED ในการดูแลผู้ป่วย CI ขณะที่การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาต่อเนื่อง จะมีนวัตกรรมใบสั่งยา ePrescription รวมถึงการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) ที่คาดว่าจะสามารถใช้ได้ในปี 2568 นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีดูแลผู้ป่วยที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับการให้บริการร้านยา ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งในขณะนี้มีจำนวนผู้ใช้งานประมาณ 40 ล้าน User รวมถึงโปรแกรม A-MED Care นวัตกรรมที่เข้ามาช่วยงานบริการร้านยา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ทั้งนี้ร้านยาที่ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยใช้โปรแกรม A-MED Care จะทำให้มีข้อมูลที่สามารถติดตามอาการของผู้ป่วยได้ พร้อมกันนี้ยังมี Telehealth Thailand เป็นแพลตฟอร์มกลาง ที่จะเชื่อมระบบนวัตกรรมทั้งหมดให้เป็นเนื้อเดียวกัน 
     
          ภก.พิชญะ วิเศษจินดา เภสัชกรประจำร้านยาศูนย์รวมยาสวนหลวง กล่าวว่า ร้านยาศูนย์รวมยาสวนหลวง ดำเนินการในฐานะร้านยาคุณภาพมากว่า 2 ปี ปัจจุบันเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิร่วมกับ สปสช. ซึ่งได้นำโปรแกรม A-MED มาช่วยดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย รวมถึงใช้ระบบใบสั่งยา ePrescription ในการดำเนินงานตามโมเดล 3 และการจ่ายยาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน รวมถึงระบบ PharmaCare ในการทำเภสัชกรรมทางไกล ตลอดจนการใช้เว็บแอปฯ เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ของยา และการเข้าถึงฐานข้อมูลสำหรับเภสัชกรเพื่อใช้ในการสืบค้นข้อมูลยา ทั้งนี้การใช้โปรแกรม A-MED ดูแลผู้ป่วย CI เภสัชกรจะสามารถเห็นข้อมูลที่บันทึกไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะข้อมูลแพ้ยา ซึ่งเป็นประโยชน์มาก รวมถึงข้อมูลที่แสดงเป็นลำดับเวลา ทำให้สามารถพิจารณาดูความต่อเนื่องของอาการเจ็บป่วย และติดตามยาที่ผู้ป่วยเคยได้รับ มากไปกว่านั้นยังใช้ในเรื่องการเบิกจ่ายกับ สปสช. ได้ภายในโปรแกรมเดียว ปัจจุบันร้านยามีประวัติคนไข้มากกว่า 1,000 คน ซึ่งถ้าทำในกระดาษคงเป็นไปไม่ได้ที่เภสัชกรจะจัดการข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่โปรแกรม A-MED ที่เป็นถังข้อมูล สามารถดึงและบันทึกข้อมูลได้ ซึ่งทำให้มีความถูกต้องและแม่นยำในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น 
   
          ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 1 กล่าวว่า จากการทำโครงการดูแลผู้ป่วย CI ในร้านยา ได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชน ถือว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีอีกหลายบริการใหม่ๆ เกิดขึ้น นอกจากนี้ ร้านยาที่เข้ามาให้บริการดูแลผู้ป่วย CI มั่นใจได้ว่าเป็นร้านยาคุณภาพ และมีเภสัชกรที่ได้รับการอบรมเพื่อการให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ มากไปกว่านั้น ยังมีการปรับการใช้โปรแกรมของร้านยา จากเดิมที่มีการใช้หลายโปรแกรม เช่น A-MED ePrescription หรือแอปพลิเคชันเป๋าตัง ขณะนี้ได้มีการปรับ โดยเหลือเพียงแอปพลิเคชันเป๋าตังที่ใช้สำหรับงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ส่วน A-MED Care Plus จะรวม ePrescription ไว้ด้วย ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการบันทึกข้อมูลของเภสัชกร สำหรับด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ยังมีบริการตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การตรวจหาเชื้อเอชไอวี การตรวจพยาธิใบไม้ตับจากปัสสาวะ รวมถึงสิ่งที่กำลังจะเกิด นั่นก็คือการคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโรคไต เพื่อให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และดูแลผู้ป่วยที่ดีขึ้น โดยคู่ขนานไปกับการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (RDU) ด้วย

          ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ร้านยามีจุดแข็งคืออยู่ใกล้ประชาชน ฉะนั้นหากใช้จุดแข็งในส่วนนี้ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งเป็นอีกรูปแบบของการบริการที่สามารถสนับสนุนให้ประชาชนเกิดการดูแลตนเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ ด้วยตนเอง เพราะท้ายที่สุด การทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีถือเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยจากนี้จำเป็นต้องถอดบทเรียนเพื่อพิจารณาว่าอะไรบ้างที่ยังมีความท้าทายและต้องพัฒนาเพื่อให้เกิดความั่นใจมากขึ้น เช่น การปรับกติกาการจ่ายเงิน เพื่อให้ร้านยามีความมั่นใจในเรื่องการได้รับงบประมาณสนับสนุน ฯลฯ เป็นต้น

รูปภาพเพิ่มเติม
aYlNlfdX
08 พ.ย. 67
หัวข้อ

1

รายละเอียด

20


aYlNlfdX
08 พ.ย. 67
หัวข้อ

1

รายละเอียด

20


แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้