4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส.สานเครือข่ายวิจัยภาคใต้ พร้อมติดตามพัฒนาคุณภาพวิจัย telehealth ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันสูง

          ปัจจุบันกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับหนึ่งของโลก จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) พบประชากรทั่วโลก มีแนวโน้มการเสียชีวิตจากโรค NCDs เพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2555 จาก 38 ล้านคน เป็น 41 ล้านคน สำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2561 โรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึงร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมด โดยมีจำนวนมากถึง 320,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ย 37 คนต่อชั่วโมง ซึ่งโรคที่พบมากสุดคือ โรคหลอดเลือดสมอง รองลงมาคือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคทางเดินหายใจอุดกั้น โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ตามลำดับ ซึ่งกรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมภาวะโรคได้ และมีอาการคงที่ แต่ยังคงต้องรับยาและได้รับการดูแลต่อเนื่อง สามารถนำเทคโนโลยีสุขภาพทางไกล (telehealth) มาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการทางการแพทย์ โดยมีรูปแบบการให้บริการ เช่น การเฝ้าสังเกตการณ์ทางไกล, การให้คำปรึกษาทางไกล, การให้ความรู้ทางไกล, การจัดการการดูแลผู้ป่วยทางไกล เพื่อช่วยลดความแออัด และลดภาระงานของผู้ให้บริการในสถานพยาบาล ตลอดจนสนับสนุนการดูแลตนเองของผู้ป่วย

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ได้มีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพทางไกล (telehealth) เพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน พร้อมสนับสนุนทุนวิจัย “โครงการใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง” เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพทางไกลในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเพื่อประเมินผลการใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ สวรส. ได้ลงพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องการสนับสนุนทุนวิจัย และติดตามความก้าวหน้าของโครงการวิจัยดังกล่าว และมีผู้บริหารแต่ละหน่วยงาน ทีมวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. นพ.จรุง บุญกาญจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายธงชัย สิทธิยุโณ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 11 รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ฯลฯ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยระยะต่อไป เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช

          ทั้งนี้ในส่วนของการแลกเปลี่ยน/หารือการพัฒนานักวิจัยในพื้นที่ และพัฒนาประเด็นวิจัยที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ได้เปิดโอกาสให้นักวิจัยหน้าใหม่ที่เป็นคณาจารย์จากสำนักต่างๆ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อให้เห็นแนวทางของการพัฒนาโจทย์วิจัยที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และมีการขยายผลเชิงระบบได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีความเห็นที่น่าสนใจ อาทิ ในพื้นที่ภาคใต้อาจมีการพัฒนางานวิจัยร่วมกันในรูปแบบของ consortium ที่มีการหยิบยกปัญหาร่วมในพื้นที่ มาศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่จะสามารถนำไปแก้ปัญหาให้เกิดผลกระทบในระดับพื้นที่ ซึ่งอาจมีทั้งงานวิจัยที่เป็น knowledge generation และ research utilization, การทำ action research เป็นเรื่องสำคัญ เห็นได้จากหลายเรื่องมีนโยบายชัด แต่พอนำไปปฏิบัติจริง มักมีปัญหาเรื่องการจัดการ ซึ่งการวิจัยเชิงปฏิบัติการและการประเมินผลเป็นระยะจะช่วยให้เกิดการนำไปใช้ได้จริงมากยิ่งขึ้น โดยมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยรองรับอย่างชัดเจน, อาจมีการทำงานร่วมกันกับคนทำงานในพื้นที่ เช่น รพ.สต. โดยใช้ประสบการณ์การทำงานในพื้นที่เป็นข้อมูลสำคัญ ส่วนสถาบันการศึกษาสนับสนุนเรื่องวิชาการ เพื่อให้งานวิจัยได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง, การทบทวนวรรณกรรมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้ละเอียดและมากพอ, การค้นหาความจริงสำคัญกว่าการตั้งโจทย์วิจัย นักวิจัยจำเป็นต้องค้นหาความจริงที่เป็นสาเหตุของปัญหาอย่างรอบด้าน ซึ่งหมายรวมถึงมิติทางสังคมด้วย เช่น วิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ

          ส่วนการติดตามโครงการวิจัยฯ เป็นการติดตามการพัฒนาและการใช้ V-OPD (Virtual OPD) แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการวิจัยการใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง ในพื้นที่นำร่อง โรงพยาบาลสิชล โดยใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูงที่มีค่าความดันครั้งล่าสุด <160/100 mmHg, มีระดับน้ำตาลในเลือดครั้งล่าสุด <160 mg/dl, มีระดับน้ำตาลสะสมในเลือดครั้งล่าสุด <8% และมีอายุ 35 ปีขึ้นไปที่มีความพร้อมในการใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอาการปกติ เพื่อลดการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น แต่ยังสามารถได้รับการบริการดูแลอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานการนัดหมายของโรงพยาบาล รวมถึงได้รับยาโดยไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล และได้รับคำแนะนำด้านสุขภาพในการดูแลตนเองด้วย โดยผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการให้บริการสุขภาพผ่านการใช้งานในระบบ Line OA ซึ่งเป็นระบบที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความคุ้นชิน และมีเมนูการใช้งานสำคัญ 6 เมนู ได้แก่ 1) รายงานสุขภาพ 2) สุขศึกษา 3) ถ่ายรูป 4) ออกกำลังกาย AR 5) ลงทะเบียนรับบริการ และ 6) ติดต่อเจ้าหน้าที่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำไปใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย และเก็บข้อมูลเพื่อการประเมินผลเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเพื่อการพัฒนางานวิจัย เช่น งานวิจัยต้องเก็บข้อมูลให้รอบด้านว่าการใช้เทคโนโลยี V-OPD ควรมี intervention อื่นเสริมด้วยหรือไป เช่น หากผู้ป่วยเจาะเลือดด้วยตนเอง แต่เป็นการเจาะที่ไม่ได้คุณภาพ ควรมีตัวช่วย เช่น อสม. หรือ รพ.สต. หรือไม่, ควรประเมินและพัฒนางานวิจัยจนสามารถนำไปขยายผลและใช้ได้จริง หรืออาจขยายผลไปยังโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย, งานวิจัยควรพิสูจน์ให้เห็นด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าการใช้เทคโนโลยี V-OPD สามารถช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยที่ผู้ป่วยยังได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ควรได้รับหรือไม่, การดำเนินการในเรื่องต่างๆ ควรสอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจาก สปสช. ฯลฯ

รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้