4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส.ร่วมกับเครือข่ายฯ เปิดเวทีระดมความเห็น พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานสู่มาตรฐานสากล

          โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคเบาหวานที่พบได้ในทุกอายุ และพบบ่อยในเด็กวัยเรียน วัยรุ่น และวัยทำงาน มีสาเหตุเฉพาะต่างจากเบาหวานชนิดที่ 2 คือ เกิดจากเซลที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินเสื่อมสภาพไป ทำให้ร่างกายไม่มีฮอร์โมนอินซูลิน หรือมีไม่เพียงพอต่อกระบวนการทำงานในระบบสมดุลน้ำตาลของร่างกาย การรักษาจึงต้องมีการฉีดฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปในร่างกายให้ระดับน้ำตาลมีความสมดุล ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการฉีดอินซูลิน และการรับประทานอาหารเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้เหมาะสม ทั้งนี้ข้อมูลจากสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ณ 29 เม.ย. 2567 ประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จำนวน 5,215 คน [1] ซึ่งจำนวนของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ตามมาตรฐานสากลในปัจจุบันใช้ระบบ DSMP (Diabetes Self-Management program) ที่ประกอบด้วย การให้ความรู้และสร้างทักษะเพื่อการดูแลโรคเบาหวานด้วยตนเอง (Diabetes Self-Management Education: DSME) และการช่วยเหลือสนับสนุนให้มีการดูแลตนเอง (Diabetes Self-Management Support: DSMS) โดยผู้ป่วยจะได้รับความรู้ในการดูแลตนเอง และได้รับสิทธิ์ตามสิทธิ์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กรณีการเบิกจ่ายยาและอุปกรณ์ ได้แก่ อุปกรณ์กำกับติดตามระดับน้ำตาลในเลือดของตนเอง เช่น Gluco-strip, Ketone-strip และสมุดบันทึกข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคลให้ตรงกับสาเหตุ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มากยิ่งขึ้น 

          จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยโครงการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ตามรูปแบบ DSMP-NS model สู่การปฏิบัติในระบบสาธารณสุข และการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนเพื่อการบริบาลและติดตามการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่สนับสนุนทุนวิจัยโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และดำเนินการวิจัยโดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่ออธิบายกระบวนการนำ DSMP-NS model ไปดำเนินการ และวิเคราะห์ปัจจัยที่สนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อการนำ DSMP-NS model สู่การประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมในระบบการให้บริการผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขได้ร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จัดประชุมประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็น เพื่อขับเคลื่อนระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้ง 3 กองทุนด้านสุขภาพของประเทศ โดยมีผู้ร่วมให้ความคิดเห็นเป็นผู้ให้บริการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนจากโรงพยาบาลเครือข่ายในเขตสุขภาพที่ 5, 6, 9 และ 12 ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานกำหนดนโยบาย ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สยามสแควร์

          การประชุมดังกล่าวได้มีการสรุปข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนร่วมกันเบื้องต้นทั้งหมด 8 เรื่อง 1) ควรมีระบบโครงสร้างการส่งต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ตั้งแต่โรงพยาบาลแม่ข่ายไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 2) ส่งเสริมให้เกิดรูปแบบและกระบวนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การบริการรักษา และการติดตามผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในสถานพยาบาลทุกระดับ ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3) มีกระบวนการจัดหาเวชภัณฑ์ที่คุ้มทุนเพื่อเพิ่มทางเลือกในระดับประเทศ 4) ส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง drug warehouse ระดับจังหวัด 5) พัฒนาแนวปฏิบัติการจัดสรรงบประมาณ กรณีส่งต่อระหว่าง รพ.แม่ข่าย-ลูกข่าย ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 6) สนับสนุนให้ รพ.สต./อสม./ร้านยาคุณภาพ/โรงเรียน มีบทบาทในการเฝ้าระวัง และติดตามผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 7) ส่งเสริมบทบาทชุมชนในการจัดตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน/ชมรม/กลุ่มมิตรภาพบำบัดที่มีความเหมาะสมตามช่วงวัยร่วมกับสหวิชาชีพ 8) ควรมีการศึกษา unit cost ของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 

          นอกจากนี้ยังมีความเห็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ควรกำหนดแผนการดูแลผู้ป่วยให้ชัดเจนตามมาตรฐาน, แต่ละกองทุนด้านสุขภาพควรพัฒนาระบบให้มีการวินิจฉัยผู้ป่วยและการบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนและถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการนำไปวิเคราะห์เรื่องการจัดสรรงบประมาณได้อย่างเหมาะสม, ระบบการส่งต่อควรมีทั้งส่งไปและส่งกลับ เพื่อให้มีระบบการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง, ควรมีการอบรมให้ความรู้กับหน่วยบริการ เพื่อให้มีการดูแลผู้ป่วยในมาตรฐานเดียวกัน, ควรมีการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ทั้ง 3 กองทุนด้านสุขภาพ, ควรมีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง, ควรขยายเครือข่ายไปยังสถานพยาบาลเอกชน ฯลฯ 

          ด้าน ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีการทำผังการดำเนินงาน (Flow) ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ให้ชัดเจน เพื่อจะได้เห็นว่าในระบบบริการยังมีช่องว่างหรือมีปัญหาอะไร อยู่ตรงไหนบ้าง และควรมีงบประมาณสนับสนุนตรงจุดไหน อย่างไร ทั้งนี้ในบางกรณีของปัญหาที่พบ อาจมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ในการนำไปแก้ปัญหาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ส่วนด้านการส่งต่อผู้ป่วย ควรมีการเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้หากมีการพัฒนาการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานกลางแล้ว ควรผลักดันไปสู่การปฏิบัติต่อไป
..........................

ข้อมูลจาก 
การประชุมประชาพิจารณ์ “การขับเคลื่อน DSMP NS เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและเข้าถึงการบริการของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1” จัดโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2567

[1]T1DDAR DASHBOARD. (cmu.ac.th)

รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้