4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. สานเครือข่ายวิชาการ พร้อมภาคีป้องกันยาเสพติด เดินหน้าสร้างความรู้พัฒนารูปแบบป้องกัน-บำบัดเยาวชนห่างไกลยาเสพติด

          ปัญหาการใช้สารเสพติดในกลุ่มเยาวชนอีกหนึ่งผลพวงจากปัญหาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ จากข้อมูลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในระหว่างปี 2557-2559 พบว่ามีเยาวชนกระทำความผิดเกี่ยวกับสารเสพติดให้โทษ คิดเป็นร้อยละ 43.10, 42.24, 39.63 ของคดีทั้งหมดตามลำดับ และจากสถิติการจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติด ปี 2562 พบว่ากลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งที่อยู่ในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา มีจำนวน 19,002 คน คิดเป็น 11.77% ของผู้ต้องหาคดียาเสพติดทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

          จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาการดำเนินงานด้านวิชาการร่วมกันระหว่าง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มหาวิทยาลัยบูรพา และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของภาคตะวันออก โดยที่ผ่านมามีการลงนามความร่วมมือและดำเนินงานมาเป็นระยะจนสามารถจัดตั้งศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคตะวันออก โดย สวรส. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยให้กับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 สวรส. โดย ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย ได้ร่วมเวทีวิชาการนำเสนองานวิจัย ภายใต้แผนการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านสถานการณ์และการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมป้องกัน และบำบัดรักษาสารเสพติด: ศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคตะวันออก โดยในเวทีดังกล่าวได้มีการนำเสนองานวิจัยเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพัฒนาให้งานวิจัยมีคุณภาพและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังข้อมูล อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 2, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่บางพระ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา, มหาวิทยาลัยนเรศวร, สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงเรียนอนุบาลบ้านบึง, โรงเรียนวัดบุญญราศรี, วิทยาลัยเทคนิคระยอง, เทศบาลเมืองแสนสุข, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านเพียรพิทักษ์, ศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคเหนือ, สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ ณ โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี 

          ทั้งนี้ในเวทีดังกล่าว มีการนำเสนองานวิจัย 4 เรื่อง 1) การศึกษาแบบผสมผสานเพื่ออธิบายพฤติกรรมและปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้สารเสพติดในกลุ่มนักศึกษาอาชีวะในเขตภาคตะวันออก 2) การพัฒนาโปรแกรมการบ่มเพาะความยืดหยุ่นทางจิตใจ และเป้าหมายในชีวิตเพื่อป้องกันการใช้สารเสพติดด้วยกระบวนการบำบัดผสมผสานการยอมรับและสร้างพันธะสัญญาและศิลปะการแสดงในเยาวชนในเขตภาคตะวันออก: การวิจัยแบบผสมผสาน 3) โปรแกรมบูรณาการจิตประสาทวิทยาการรู้คิดที่เน้นการตอบสนองของสมองเพื่อเสริมสร้างการควบคุมยับยั้งสำหรับผู้ติดสารเสพติดในสถานบำบัดทางเลือกเขตภาคตะวันออก 4) ผลของโปรแกรมการใช้คู่มือการบำบัดความคิดและพฤติกรรมด้วยตนเองต่อความคิดอัตโนมัติทางลบและภาวะซึมเศร้าของเยาวชนที่ติดสารเสพติดประเภท 1 ในเรือนจำกลางชลบุรี ซึ่งองค์ความรู้ที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของ สวรส. ดังกล่าว ทำให้เห็นถึงสถานการณ์การใช้และการเข้าถึงสารเสพติดของกลุ่มเยาวชน ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้สารเสพติด รูปแบบการใช้สารเสพติด ตลอดจนการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและบำบัดทางด้านจิตใจให้กับกลุ่มเยาวชน ไม่ว่าจะเป็น การบ่มเพาะความยืดหยุ่นทางจิตใจ การสร้างเป้าหมายในชีวิต การเสริมสร้างการควบคุมและยับยั้งชั่งใจ การบำบัดความคิดและพฤติกรรมที่มีต่อความคิดด้านลบและภาวะซึมเศร้าของเยาวชน ฯลฯ 

          ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ให้ความเห็นว่า การทำงานร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นับเป็นความร่วมมือทางด้านวิชาการที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของ สวรส.ในการสร้างเครือข่ายทางด้านวิชาการในพื้นที่ต่างๆ ส่วนองค์ความรู้โดยเฉพาะโปรแกรมการป้องกันและบำบัดรักษาด้านยาเสพติดดังกล่าว แม้ว่าอาจตั้งต้นการพัฒนาความรู้จากกลุ่มเยาวชนที่ติดสารเสพติดทั้งในสถานศึกษา เรือนจำ และสถานบำบัดทางเลือกต่างๆ แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มเยาวชนทั่วไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ และพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการใช้สารเสพติดได้ ซึ่งในระยะต่อไปหากมีการทดสอบการใช้โปรแกรมและมีการประเมินผลอย่างเป็นระบบ เพื่อยืนยันประสิทธิผลของโปรแกรมที่ชัดเจนแล้ว อาจมีการผลักดันโปรแกรมไปสู่การใช้ประโยชน์ เช่นการนำไปประยุกต์ใช้ในสถาบันการศึกษาหรือสถานบำบัดยาเสพติด ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งกรณีการป้องกันและบำบัดรักษา แล้วหลังจากนั้นควรมีการติดตามผลในระยะยาวอย่างเป็นระบบ และนำข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์เพื่อการพัฒนารูปแบบการป้องกันและบำบัดรักษาสารเสพติดต่อไป
.......................
ข้อมูลจาก : เวทีวิชาการนำเสนองานวิจัยภายใต้แผนการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านสถานการณ์ สภาพการณ์ และการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมป้องกัน และบำบัดรักษาสารเสพติด: ศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคตะวันออก จัดโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยบูรพา

รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้