การมุ่งเน้นไปที่การสร้างรากฐานของระบบสุขภาพอย่าง “ระบบสุขภาพปฐมภูมิ” ให้มีความเข้มแข็ง เป็นหนึ่งในทิศทางที่ประเทศไทยกำลังก้าวเดินไป โดยมีพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ 2562 เป็นเสมือนเข็มทิศ เพื่อนำพาให้ประชาชนทุกคนก้าวไปสู่การมีสุขภาวะดีแบบองค์รวม ผ่านกลไกที่สำคัญนั่นก็คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตลอดจนความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ด้านการพัฒนาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 55 ว่า รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โดยบริการสาธารณสุขดังกล่าวต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟู[
อ้างอิง1]
ทว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุขไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ถือเป็นความท้าทายอย่างมากต่อการยกระดับบริการปฐมภูมิให้เป็นในทิศทางเดียวกันทั้งระบบ ฉะนั้นเพื่อระดมความคิดเห็นในการแสวงหาฉันทมติร่วมในการดำเนินการถ่ายโอน รพ.สต. และการบริหารการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิร่วมกัน รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย สมาคมหมออนามัย และชมรมผู้อำนวยการ รพ.สต. (ประเทศไทย) จัดการสัมมนาในหัวข้อ “สู่สุขภาวะครบส่วนและถ้วนหน้า” โดยระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยประเมินผลนโยบายการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสู่ อบจ.” ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวรส. ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ
สำหรับผลการวิจัยดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.อุดม ทุมโฆสิต หัวหน้าโครงการวิจัยฯ นักวิจัยเครือข่าย สวรส. กล่าวถึงสาระสำคัญของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ว่า จากการทบทวนสถานการณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบันพบว่า สถานะสุขภาวะของชาติ ปัญหาความเจ็บป่วยของผู้คนยังคงมีอยู่ค่อนข้างมาก แต่ทรัพยากรและศักยภาพของระบบบริการยังมีไม่เพียงพอต่อการตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น อีกทั้งการรักษาในขั้นปฐมภูมิจนถึงตติยภูมิในเชิงภาระงานของโรงพยาบาลที่รับส่งต่อ และค่าใช้จ่ายแฝงในระบบบริการยังสูงมาก นอกจากนี้ มากไปกว่านั้น เมื่อขยับมามองแนวโน้มในอนาคต ยังพบอีกว่า ในปีหน้า 2567 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ซึ่งอาจนำมาสู่อัตราความเจ็บป่วยที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นตามช่วงวัย ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยแรงงานก็กำลังจะลดลง และหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมอาจนำไปสู่ภาวะวิกฤต เพราะภาระด้านการเงินการคลังในการให้บริการสุขภาพของประเทศจะสูงเกินไป
ศาสตราจารย์ ดร.อุดม อธิบายต่อไปว่า หากมองปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงยุทธศาสตร์ ประเด็นที่ควรให้ความสนใจคือ ที่ผ่านมาและในขณะนี้ ประเทศไทยมีการทุ่มเทพลังทางการรักษาพยาบาลอันเป็นการรับมือปัญหาที่ปลายเหตุค่อนข้างมาก แต่ยังลงทุนแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของความเจ็บป่วยน้อยเกินไป ซึ่งทุกฝ่ายต่างเห็นร่วมกันในประเด็นเชิงปฏิบัติ แต่ยังไม่มีการเดินหน้าเท่าที่ควร ดังนั้นในการแก้ไขจึงควรสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตลอดจนการเฝ้าระวังโรคให้สูงขึ้น ผ่านการลงทุน และอาศัยภาคีเครือข่ายสุขภาพเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมสุขภาวะ ลดอัตราป่วย ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนบริการ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ รพ.สต. มากยิ่งขึ้น ตลอดจน การบริหารจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิแบบมีส่วนร่วม และการทำให้มาตรฐานคุณภาพบริการของ รพ.สต. มีความครบส่วนและถ้วนหน้า
ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาเรื่อง “บทบาทของ สวรส. ต่อการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ” ตอนหนึ่งว่า การพัฒนาเชิงระบบสุขภาพ ไม่ว่าอะไรก็ตามควรต้องยึดฐานของวิชาการให้แน่น เพื่อให้เกิดการพูดคุยกันอย่างเข้าใจ มีหลักฐานและข้อมูลรองรับ ตลอดจนไม่ตัดสินใจ หรือให้ความเห็นด้วยอารมณ์ความรู้สึก เช่น การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้ รพ.สต. หลังถ่ายโอน ที่ขณะนี้มีหลายรูปแบบมาก ซึ่งถ้าไม่มีข้อมูลจากงานวิจัย แต่ละฝ่ายก็อาจมีการโต้เถียงตามความคิดเห็นของตนเอง ทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ผลสุดท้ายผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือประชาชน ดังนั้นจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยจะเป็นคำตอบที่ช่วยในการตัดสินใจทั้งในเชิงปฏิบัติและเชิงนโยบายให้สามารถใช้ได้จริง ซึ่งที่ผ่านมา สวรส. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิผ่านกรอบ Six building blocks โดยในปี 2565 มีการสนับสนุนและดำเนินการเสร็จแล้ว 17 โครงการ สำหรับปี 2566 บางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนปี 2567 กำลังจะมีการวางแผนจัดสรรทุนวิจัยเพิ่ม
“นอกจากนี้ ในเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต. ทาง สวรส. ยังมีการทำสิ่งที่เรียกว่า Health System Intelligent Unit โดยเป็นการรวบรวมข้อมูล กฎระเบียบกฎหมาย งานวิจัยต่างๆ อย่างละเอียดเกี่ยวกับการถ่ายโอน รพ.สต. เพื่อให้นักวิจัย/นักวิชาการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเชิงระบบ ตลอดจนสังเคราะห์เป็นข้อเสนอที่มีหลักฐานข้อมูลสนับสนุนชัดเจนเพื่อการวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายได้” ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว
.........................
ข้อมูลจาก
- เวทีสัมมนา “สู่สุขภาวะครบส่วนถ้วนหน้า” โดยระบบสุขภาพปฐมภูมิ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ