ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (TRC-HS) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมรับฟังข้อเสนอแนะโครงการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนหลังการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปีงบประมาณ 2566 เพื่อคืนข้อมูลงานวิจัยระยะที่ 1 พร้อมรับฟังความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ ที่นำไปสู่การวางแผนการวิจัยในระยะที่ 2 ทั้งนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งจากสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อาทิ สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP), อบจ.เชียงราย, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เมืองเชียงราย, อบจ.หนองบัวลำภู, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หนองบัวลำภู, อบจ.สุราษฎร์ธานี, สสจ.สุราษฎร์ธานี, อบจ.ระนอง, สสจ.ระนอง, อบจ.เลย, สสจ.ร้อยเอ็ด, สสอ.ด่านซ้าย จ.เลย ฯลฯ และนักวิจัย สวรส. กรณีถ่ายโอน รพ.สต.ฯ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในรูปแบบออนไลน์ กว่า 50 คน ณ ห้องกินรี 2 โรงแรม อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กทม.
รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิจัย สวรส. กล่าวว่า กรณีถ่ายโอน รพ.สต.ฯ มีผลกระทบต่อการจัดการทรัพยากร และการบริหารจัดการสุขภาพในพื้นที่อย่างชัดเจน ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. จึงเป็นการหาเครื่องมือในการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ อันอาจเป็นผลจากการถ่ายโอน รพ.สต.ดังกล่าว ซึ่งระยะแรกหลังการถ่ายโอนฯ การดำเนินงานที่เกิดขึ้น ยังยากที่จะเห็นผลกระทบที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่งานวิจัยมุ่งเน้นในช่วงแรก จึงเป็นการพยายามค้นหาสิ่งที่เรียกว่า สัญญาณเตือนของการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เห็นถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน และการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ทั้งนี้การมองหาสัญญาณเตือน งานวิจัยใช้วิธีการ 2 แบบคือ การวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลการใช้บริการสุขภาพของ สปสช. และใช้ตัววัดทางสุขภาพเจาะไปที่กลุ่มเปราะบางต่างๆ ที่เชื่อว่าจะไวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง เช่น ผู้สูงอายุ แม่และเด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ฯลฯ เพื่อดูว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีสถานะสุขภาพเป็นอย่างไร โดยในการวิเคราะห์ข้อมูลได้มีการพิจารณาทั้งข้อมูลพื้นฐานก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลง ปัญหาหรือภาระสุขภาพเดิมก่อนการถ่ายโอนฯ และข้อมูลหลังการเปลี่ยนแปลง เพื่อสะท้อนสัญญาณที่เป็นตัวชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านต่างๆ ตลอดจนการลงไปดูในพื้นที่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าจะกระทบต่อบริการหรือผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดบริการ การเข้าถึงบริการที่เป็นผลจากการจัดการทรัพยากร รวมถึงงานด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นงานที่ดำเนินการกับกลุ่มประชากรในภาพรวมของพื้นที่ เช่น งานควบคุมโรค งานส่งเสริมสุขภาพ
งานคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ
“ข้อมูลที่พบและสัญญาณเตือนที่น่าสนใจ และควรลงไปดูในรายละเอียดต่อ อาทิ เรื่องที่ดำเนินการได้ดี ไม่น่าเป็นห่วง เช่น การดูแลแม่และเด็ก เนื่องจากยังสามารถจัดบริการได้ดี ไม่สะดุด รวมทั้งผลลัพธ์ทางสุขภาพ เช่น การควบคุมน้ำตาลยังไม่พบข้อมูลว่าแย่ลง แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณเตือนบางเรื่องที่อาจไม่ค่อยดีนัก เช่น การคัดกรองในผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งแต่ก่อนจะมีการจัดบริการที่ รพ.สต. แต่พอมีการย้ายสังกัดก็พบว่ามีการยกเลิกบริการเหล่านี้ไป สอดคล้องกับฐานข้อมูลการใช้บริการที่พบว่าตัวเลขลดลง ส่วนข้อมูลที่น่าเป็นห่วงและควรลงไปวิเคราะห์ถึงสาเหตุคือเรื่องโรคไข้เลือดออก เนื่องจากเริ่มเห็นข้อมูลในพื้นที่ที่มีการถ่ายโอนฯ มีอัตราการรับผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นผู้ป่วยในค่อนข้างเยอะ และมีการระบาดของโรคในพื้นที่เยอะขึ้น ซึ่งจากกรณีศึกษาพบว่า ในพื้นที่ที่มีการถ่ายโอนฯ แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเปลี่ยนเป็นคนละสังกัด จึงทำให้การประสานงานอาจยังทำได้ไม่ดี การลงพื้นที่ไม่สะดวก และ
ไม่รวดเร็วเหมือนเดิม เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ไม่มีการถ่ายโอนฯ ซึ่งการประสานงานยังเป็นสังกัดเดียวกัน” รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าว
รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าวถึงงานวิจัยระยะต่อไปว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาวิจัยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อยืนยันสัญญาณเตือนในระยะแรก ว่าเป็นสัญญาณเตือนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนหรือไม่ เนื่องจากการทำวิจัยในระยะที่ 1 เป็นช่วงแรก และเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน ช่วงสั้นๆ อาจยังไม่เข้าที่เข้าทาง แต่เมื่อผ่านระยะปรับตัวไปแล้ว ควรศึกษาและชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ที่ถ่ายโอนฯ กับไม่ถ่ายโอนฯ เกิดอะไรที่แตกต่างกันบ้าง ซึ่งเมื่อข้อมูลจากงานวิจัยสมบูรณ์เรียบร้อย จะมีการนำไปวางแผนเป็นฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและในพื้นที่สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ซึ่งทีมวิจัยจะพยายามคัดเลือกสัญญาณเตือนที่เห็นโอกาสและใช้ในการพัฒนาเป็นสำคัญ โดยจะมีการอธิบายการแปรความหมายให้ชัดเจน เพื่อให้เข้าใจตรงกัน และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนดูแลสุขภาพประชาชนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส. ให้ความสำคัญกับสุขภาพประชาชนหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. จึงได้สนับสนุนให้มีงานวิจัยนี้ โดยข้อค้นพบจากงานวิจัยระยะที่ 1 เห็นได้ชัดว่า บริบทและการดำเนินการในแต่ละพื้นที่มีความหลากหลาย การประเมินผลเชิงเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่โดยตรง หรือใช้ตัวชี้วัดเพียงตัวใดตัวหนึ่ง เพื่อบอกผลลัพธ์ด้านสุขภาพของประชาชน ทำได้ยาก รวมถึงความพร้อมของข้อมูลและระบบสารสนเทศ ที่จะใช้เพื่อการติดตามประเมินผลในระบบ ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการ จึงต้องมีการศึกษาในระยะที่ 2 ซึ่งหวังว่าการประเมินผลกระทบจากการถ่ายโอน รพ.สต.ฯ ที่นำเสนอในรูปแบบของสัญญาณเตือนตั้งแต่เนิ่นๆ นี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปวางแผนในการติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ สวรส. ได้มีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต. อาทิ กฎ/ระเบียบที่เกี่ยวข้อง, ข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องถ่ายโอนฯ, ข่าว, Policy Brief ฯลฯ โดยนำเสนอในรูปแบบของ dashboard ซึ่งสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ได้ที่ https://hsiu.hsri.or.th/
1
20
1
20
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้