ผอ.สวรส. ชงแผนขับเคลื่อนองค์กร 3 ปีต่อบอร์ด สวรส.
เร่งปรับองค์กรสู่สมรรถนะสูง มุ่งโจทย์วิจัยสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
พร้อมใช้องค์ความรู้พัฒนาระบบสุขภาพ ทั้งในภาวะปกติและวิกฤตเร่งด่วน
การประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (บอร์ด สวรส.) ครั้งที่ 10/2566 โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.กสธ.) เป็นประธานการประชุม และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (ผอ.สวรส.) กรรมการเเละเลขานุการ พร้อมด้วยกรรมการจากผู้เเทนกระทรวงเเละผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ร่วมประชุม เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2566 ณ ห้องประชุมสุปัญญา ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผอ.สวรส. เสนอนโยบายและแผนการบริหารสถาบันฯ ต่อบอร์ด สวรส. เพื่อขับเคลื่อนองค์กรในระยะ 3 ปีต่อจากนี้ว่า จากนโยบายรัฐบาลด้านสาธารณสุขที่มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ให้ความสำคัญกับการให้บริการกลุ่มเปราะบางเพื่อความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้มีการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์และวิจัยก้าวหน้า (Frontier Research) ซึ่งทิศทางนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลส่งต่อมายังนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มุ่งเน้นการยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นฐานที่สำคัญ ภายใต้ Quick win อาทิ การเพิ่มการเข้าถึงบริการเขตเมือง, สุขภาพจิต/ยาเสพติด, การป้องกันรักษาโรคมะเร็งแบบครบวงจร, สร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร, การแพทย์ปฐมภูมิ, ดิจิทัลสุขภาพ, ส่งเสริมการมีบุตร ฯลฯ รวมทั้งส่วนหนึ่งของแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 ที่มุ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อม โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม สวรส. ในฐานะองค์กรวิชาการระบบสุขภาพของประเทศ จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายด้านสาธารณสุขและการพัฒนาประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ภายใต้ภารกิจ สวรส. และแผนยุทธศาสตร์ 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) สร้างและจัดการองค์ความรู้การวิจัยด้านสุขภาพ 2) พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ 3) สร้างและพัฒนาบุคลากรวิจัยและเครือข่ายวิจัย และ 4) พัฒนากลไกสนับสนุนการบริหารจัดการองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
นพ.ศุภกิจ เสนอต่อว่า สำหรับแผนบริหารจัดการ สวรส. ในปีงบ 2567 นี้ มีเป้าหมายที่จะพัฒนา สวรส. ไปสู่ “Smarter HSRI for Better Health” โดยเสริมสร้างสิ่งที่มีอยู่เดิมและพัฒนาสิ่งใหม่ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาการดำเนินงานและระบบสุขภาพที่ดีกว่า ทั้งนี้มีเป้าหมายระยะ 3 ปี โดยในปี 2567 จะเน้นปรับองค์กรให้สามารถรองรับเป้าหมายการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวางระบบการกำหนดโจทย์วิจัยและกรอบการให้ทุนวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ การวางแนวทางสื่อสารนโยบายและสื่อสารสังคม จัดตั้งกลไกการเชื่อมประสานเครือข่าย การพัฒนากฎ/ระเบียบที่เกี่ยวข้องและการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ตลอดจนด้านบุคลากรและการบริหารทุน ปี 2568 เน้นเร่งดำเนินงานในเรื่องที่เริ่มไว้ในปี 2567 ให้มีประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงการใช้ประโยชน์งานวิจัยที่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ และปี 2569 เน้นสร้างความมั่นคงและคำนึงถึงความยั่งยืนในการดำเนินงานของสถาบัน ตลอดจนผลักดันให้ สวรส. เป็นสถาบันที่มีขีดความสามารถสูงในการสร้างและสนับสนุนการใช้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ทั้งในภาวะปกติและวิกฤตเร่งด่วน
“ทั้งนี้กิจกรรมที่จะเร่งให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดทำ Research Mapping เพื่อหาโจทย์วิจัยมุ่งเป้า โดยเฉพาะการหาโจทย์วิจัยเชิงรุก ซึ่งคาดหวังให้แล้วเสร็จโดยมีแนวทางและโจทย์วิจัยภายในปี 2567, การสร้างความร่วมมือในงานวิจัยด้านสุขภาพ กับหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งองค์การมหาชนในกำกับและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เช่น WHO Thailand, Global Fund และหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย (PMU) ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยสุขภาพ โดยจะพัฒนาให้เกิดกลไกความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมไม่น้อยกว่า 3 เรื่อง ในปี 2567, การใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายใต้โครงการ
Genomic Thailand โดยจะจัดทำข้อเสนอแนวทางและกระบวนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสำหรับนักวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมคืนข้อมูลให้แก่อาสาสมัครและประโยชน์สาธารณะ, การจัดตั้ง
HSIU (Health System Intelligence Unit) เป็นหน่วยบริหารจัดการองค์ความรู้เพื่อตอบสนองความต้องการของฝ่ายนโยบายและสังคมทั้งภาวะปกติและเร่งด่วน โดยวางแผนเป็นหน่วยเชิง function ที่สามารถนำเสนอองค์ความรู้อย่างเป็นระบบและทันการณ์ ตลอดจนการปรับปรุง/แก้ไขพระราชบัญญัติ สวรส. พร้อมดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ รวมทั้งการปรับปรุงองค์กรในด้านต่างๆ เพื่อการมีสมรรถนะสูง”
นพ.ศุภกิจ กล่าว
วาระการประชุมสำคัญ นอกจากนโยบายและแผนการบริหารสถาบันฯ ดังกล่าวแล้ว ยังมีการนำเสนอการศึกษาทางเลือกเชิงนโยบายในการกระจายแพทย์ไปยังหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ขาดเเคลนหรือห่างไกลในชนบท ซึ่งประเด็นด้านบุคลากรทางการแพทย์เป็นประเด็นหนึ่งที่ รมช.กสธ. ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพ ทั้งนี้ รมช.กสธ. ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า งานวิจัยต้องชัดเจนและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ เช่น การวิเคราะห์สถานการณ์การขาดแคลนแพทย์ว่าปัจจุบันขาดแคลนหรือไม่ ถ้าขาดแคลน ขาดแคลนเท่าไหร่ อย่างไร ตลอดจนการเสนอทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบในระยะยาวต่อไป