ข่าว/ความเคลื่อนไหว
เครือข่ายสังคมจัดเวทีประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาสังคมสุขภาวะตอบรับนโยบายรัฐบาลและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม นำโดยผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตผู้บริหารและผู้บริหารปัจจุบันขององค์กรสำคัญในระบบสุขภาพ อาทิ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษาสำนักพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์อาวุโส สวรส. นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล อดีตผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ฯลฯ โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และ นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์สำคัญ และนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 ณ ห้องปฏิบัติธรรม ชั้น 2 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ)
ทั้งนี้จากการแถลงนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาล มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค สร้างความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทิศทางนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลส่งต่อมายังนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เคาะแผน Quick win ภายใต้การยกระดับ 30 บาท พลัส 13 เรื่อง ได้แก่ 1) โครงการพระราชดำริฯ/เฉลิมพระเกียรติ 2) รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล เพิ่มการเข้าถึงบริการเขตเมือง 3) สุขภาพจิต/ยาเสพติด 4) การดูแลรักษาโรคมะเร็งแบบครบวงจร 5) สร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร 6) การแพทย์ปฐมภูมิ 7) สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ 8) สถานชีวาภิบาล 9) พัฒนา รพ.ชุมชน แม่ข่าย 10) ดิจิทัลสุขภาพ 11) ส่งเสริมการมีบุตร 12) เศรษฐกิจสุขภาพ 13) ยกระดับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้รัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ (ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศ
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (ผอ.สวรส.) กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนา สวรส.ในยุคปัจจุบันว่า จะมุ่งพัฒนา สวรส. สู่ “Smarter HSRI for Better Health” โดยเสริมสร้างสิ่งที่มีอยู่เดิมและพัฒนาสิ่งใหม่ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาการดำเนินงานและระบบสุขภาพที่ดีกว่า ทั้งนี้ตัวอย่างผลงานวิจัยที่สำคัญที่ผ่านมา เช่น การประเมินนโยบายโครงการรับยาที่ร้านยา/การส่งยาทางไปรษณีย์ การสังเคราะห์ข้อเสนอและออกแบบเชิงนโยบายการถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการปฐมภูมิ โดยประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด การออกแบบและพัฒนาข้อเข่าเทียมเชิงพาณิชย์ แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลที่ผลิตจากโลหะไทเทเนียมด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ รวมทั้งการแพทย์จีโนมิกส์ ซึ่งการดำเนินงานสำคัญในเฟส 2 ของ สวรส. กำลังเร่งถอดรหัสพันธุกรรมให้ได้ตามเป้า 50,000 ราย เพื่อเป็นฐานข้อมูลของประเทศ และการจัดทำแนวทางการขอใช้ประโยชน์ข้อมูล เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาวิจัย และการพัฒนาการแพทย์สาธารณสุข ตลอดจนด้านความปลอดภัยข้อมูลและการคืนข้อมูลพันธุกรรมให้กับอาสาสมัคร
โดยจุด pain point ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ที่ควรเร่งแก้ไข เช่น การเพิ่มงบวิจัยพัฒนาของประเทศที่รวมทั้งของภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันอยู่ที่ 1% กว่าๆ ของ GDP ซึ่งควรผลักดันให้ได้ 2%, โลกเปลี่ยนเร็วเกือบทุกมิติ โดยเฉพาะเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นงานวิจัยต้องตามให้ทัน ไม่ตกขบวน, มีหน่วยงานให้ทุนจำนวนมาก ภายใต้ระบบ ววน. ก็มีถึง 9 PMU บางเรื่องมีการทำงานซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นควรทำงานเชื่อมประสานกัน รู้ขอบเขตการทำงานของกันและกัน สนับสนุนต่อยอดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง และหนุนเสริมกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ส่งต่อสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งด้านงานวิจัยต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่หนักแน่นเพียงพอ งานวิจัยต้องตอบสนองภาวะวิกฤตให้เท่าทันกับการนำมาพิจารณาตัดสินใจเชิงนโยบาย เช่น ในสถานการณ์โควิด มีคำถามเรื่องระยะเวลาในการกักตัวที่เหมาะสม การเปิดประเทศควรเป็นอย่างไร ฯลฯ ขีดความสามารถในการวิจัยเชิงระบบ ควรมีการสร้างและพัฒนาให้มีบุคลากรด้านนี้มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านวิจัยของประเทศ รวมทั้งการนำเสนอข้อมูลงานวิจัยให้กับฝ่ายนโยบาย ฯลฯ ทั้งนี้มีเป้าหมายจะผลักดันให้ สวรส. เป็นผู้นำในการวางทิศทางการสร้างองค์ความรู้และการสนับสนุนทุนวิจัยที่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม, สนับสนุนให้เกิดการจัดการความรู้ในรูปแบบของ Intelligence unit การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ และสร้างเครือข่ายวิจัยด้านสุขภาพของประเทศให้มีความเข้มแข็ง และจะมีการสื่อสารกับภาคนโยบายและสังคมมากขึ้น นพ.ศุภกิจ กล่าว
ช่วงท้ายของการประชุมฯ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาระบบวิจัย อาทิ ควรเชื่อมโยงวิจัยระบบสุขภาพกับแพลตฟอร์มระดับชาติ, งานวิจัยควรเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่เชื่อมโยงกับระบบการศึกษาด้วย, การพัฒนาและวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถคาดการณ์แนวโน้มอนาคตได้, การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นเร่งด่วนในการทำวิจัย เพื่อเห็นผลในระยะ 3 ปี, การพัฒนาศักยภาพนักวิจัยให้เป็นนักขับเคลื่อน เพื่อให้สามารถผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์และการปฏิบัติได้, ควรมีการประเมินนโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาล เพื่อจัดทำข้อเสนอการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม, การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสามารถสมดุลสิ่งใหม่เก่าของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดี ฯลฯ
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้