การจัดเวที Policy Forum ณ รัฐสภา ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีและโอกาสสำคัญที่ผู้บริหารของหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยด้านสุขภาพของประเทศ ได้ร่วมกันสะท้อนมุมมองต่อผู้กำหนดนโยบายหรือฝ่ายการเมือง โดยเวทีครั้งนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์มุมมองความสำคัญของการกำหนดนโยบายบนฐานงานวิจัย ครั้งแรกหลังได้รับตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2566 กับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ สวรส. นำทัพขับเคลื่อนวิจัยระบบสุขภาพของประเทศ
ในการเสวนาหัวข้อ “การกำหนดนโยบายและทิศทางสำคัญต่อการผลักดันระบบสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข แสดงมุมมองสำคัญ โดยกล่าวไว้ช่วงหนึ่งว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านนโยบายและแผนระบบสุขภาพในระดับประเทศ ทำให้เห็นถึงวิวัฒนาการของฝ่ายนโยบายที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ และผลกระทบจากนโยบายมากขึ้น ซึ่งการสั่งการโดยขาดข้อมูลนั้นเห็นได้ชัดว่ามีน้อยลง เพราะคำนึงถึงโอกาสผิดพลาดและผลกระทบที่รุนแรงที่มีได้สูง ตัวอย่างในทางตรงกันข้าม การพบข้อมูลเชิงประจักษ์ของผู้ป่วยเบาหวานที่ตกหล่นไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา ที่นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายให้มีโครงการคัดกรองผู้ป่วยเบาหวาน 3 ปีติดต่อกัน ส่งผลให้สามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้มากขึ้น จะเห็นได้ว่ากระบวนการที่จะได้มาซึ่งนโยบายที่เกิดประโยชน์กับแต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์สนับสนุน ต้องมีกระบวนการสาธารณะ และมองอย่างรอบด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อลดปัญหาที่อาจจะตามมา ซึ่งถ้าเรื่องใดมีความเห็นต่าง ความรู้และข้อมูลเชิงประจักษ์จะช่วยลดการถกเถียงและข้อขัดแย้งได้ นอกจากนี้กรณีในภาวะวิกฤตที่ต้องการการตัดสินใจบนข้อมูลเชิงประจักษ์ที่รวดเร็ว ทันสถานการณ์ การมี Intelligence unit ในการทำงานวิชาการจะช่วยตอบข้อมูลให้กับฝ่ายนโยบายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในระยะสั้นได้ในทันที
"งานวิจัยหรืองานวิชาการต้องทำให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจในสิ่งที่กำลังตัดสินใจ และเห็นข้อมูลว่าถ้าเลือกแบบนี้แล้วจะได้ผลอย่างไร แบบไหนเกิดประโยชน์กับประเทศ และถ้ามีข้อมูลเชิงประจักษ์ในพื้นที่ให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยแล้วนั้น ยิ่งจะทำให้ผู้กำหนดนโยบายเคาะนโยบายได้อย่างมั่นใจและรวดเร็ว รวมทั้งการสื่อสารงานวิจัยที่ทำให้เห็นในเชิงปฏิบัติได้ชัดเจนก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ทั้งนี้การทำงานที่หนุนเสริมกันในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จะช่วยให้เกิดการนำความรู้มาใช้ในการกำหนดนโยบายของประเทศได้มากขึ้น นอกจากนั้นควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและสังคมด้วย เพราะเป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนระบบสุขภาพ คือ ประชาชนและสังคมโดยรวม” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทั้งนี้อีกเวทีเสวนา “ระบบสุขภาพเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทย และผลงานวิจัยนวัตกรรมสู่การใช้จริงภายใต้มาตรฐานสากล” ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้นำเสนอประเด็นสำคัญและมีมุมมองที่น่าสนใจไว้เช่นกันว่า เป้าหมายของการลงทุนด้านวิจัยสุขภาพคือ การมุ่งไปสู่การสร้างคนไทยให้มีสุขภาพดี ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต เพราะเมื่อคนไทยสุขภาพดี ก็จะเป็นบุคลากรสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างรายได้ให้ประเทศ ทั้งนี้ สวรส. มีผลงานสำคัญที่สนับสนุนงานวิจัยเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิด -19 ที่ได้งบประมาณจากระบบ ววน. มาบริหารจัดการงานวิจัยและขับเคลื่อนให้เกิดความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตอบสนองสถานการณ์ในหลากหลายมิติ เช่น การจัดทำข้อเสนอเรื่องบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine), การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพเพื่อรับมือในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก และการทบทวนการปรับการให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ฯลฯ ขณะที่การวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีการพัฒนานวัตกรรมเปลและเต็นท์ความดันลบแยกผู้ติดเชื้อโควิด -19, แผ่นปิดกะโหลกศีรษะไทเทเนียมที่มีการออกแบบเฉพาะบุคคลใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดสมองและไม่สามารถใช้กะโหลกเดิมปิดศีรษะได้ และชุดตรวจ albuminuria คัดกรองโรคไตเรื้องรัง
ส่วนการวิจัยระบบสุขภาพของประเทศ สวรส. ได้สนับสนุนทำให้เกิดแผนงานการแพทย์จีโนมิกส์ ที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model และผลักดันให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์จีโนมิกส์ได้อย่างมีคุณภาพ ช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวันอันควรของประชาชน รวมถึงยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข กรณีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยมีการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีงานวิจัยที่ติดตามประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนหลังการถ่ายโอน ซึ่งการขับเคลื่อนงานวิจัยต่างๆ ดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ส่งผลต่อการสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทยและพัฒนาระบบสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรม
นอกจากเวที Policy Forum หน่วยงานในระบบ ววน. นำโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ยังได้มีการแถลงผลงานที่สามารถสร้างผลลัพธ์และผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ในรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานในระบบ ววน. ภายใต้หัวข้อ “4 ปีของการลงทุน ประเทศได้อะไรและจะไปต่ออย่างไร” โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานเปิดงาน เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. ตลอดจนสร้างการรับรู้ถึงบทบาทและภารกิจของหน่วยงานในระบบ ววน. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดย สวรส. ได้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปจัดแสดง จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) แผ่นปิดกะโหลกศีรษะไทเทเนียม ออกแบบเฉพาะบุคคลใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดสมองและไม่สามารถใช้กะโหลกเดิมปิดศีรษะได้ 2) ชุดตรวจ albuminuria คัดกรองโรคไตเรื้องรัง 3) งานวิจัยถ่ายโอน รพ.สต. ขับเคลื่อนประสิทธิภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิ ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายผู้ชมนิทรรศการ ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.), สมาชิกวุฒิสภา (สว.), คณะกรรมาธิการ, เจ้าหน้าที่ประจำรัฐสภา, สื่อมวลชน ณ โถงชั้น 1 อาคารรัฐสภา เกียกกาย
..........................
ข้อมูลจาก
Policy Forum : การเสวนาหัวข้อ
- การกำหนดนโยบายและทิศทางสำคัญต่อการผลักดันระบบสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ
- ระบบสุขภาพเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทย และผลงานวิจัยนวัตกรรมสู่การใช้จริงภายใต้มาตรฐานสาก