ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสภาเภสัชกรรม เพิ่มการเข้าถึงบริการปฐมภูมิเพื่อดูแลผู้มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) กรณีที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) ในร้านยาโดยเภสัชกร ครอบคลุมการดูแล 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ 1) ปวดหัว 2) เวียนหัว 3) ปวดข้อ 4) เจ็บกล้ามเนื้อ 5) ไข้ 6) ไอ 7) เจ็บคอ 8) ปวดท้อง 9) ท้องเสีย 10) ท้องผูก 11) ถ่ายปัสสาวะขัด/ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ 12) ตกขาวผิดปกติ 13) อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน 14) บาดแผล 15) ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา 16) ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู พร้อมติดตามอาการหลังรับยา 3 วัน1 โดยปัจจุบันมีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการเป็นหน่วยให้บริการกับ สปสช. (ร้านยาคุณภาพของฉัน) จำนวน 1,259 แห่ง2 จากร้านยาทั่วประเทศที่มีจำนวนกว่า 17,000 แห่ง3 ซึ่งเริ่มให้บริการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมานั้น
บทบาทของเภสัชกรจึงถูกให้ความสำคัญและถูกดึงศักยภาพขึ้นมาทำหน้าที่ในการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนในร้านยาที่อยู่ใกล้ชิดชุมชนมากขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการดูแลสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ดังนั้นวาระการประชุมของคณะกรรมการกำกับทิศแผนงานวิจัยพัฒนาระบบยา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ครั้งที่ 3/2566 จึงว่าด้วยเรื่องหลักคือการกำกับติดตามและรับฟังข้อมูลความก้าวหน้าของงานวิจัย “การประเมินผลการให้บริการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยของร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” พร้อมลงพื้นที่รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อผลการดำเนินนโยบายการให้บริการร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการฯ และกรรมการฯ อาทิ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย ภญ.พรพิศ ศิลขวุธท์ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผศ.ดร.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ดร.ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ฯลฯ ร่วมประชุมฯ ครั้งนี้
ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และลงพื้นที่ร้านยาในจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566
รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายนักวิจัย สวรส. นำเสนอผลการประเมินการให้บริการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยของร้านยาฯ ว่า กลุ่มเป้าหมายที่เก็บข้อมูลเป็นผู้รับบริการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2565 ถึง 31 พ.ค. 2566 จำนวน 134,175 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 64.29 อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 42 ปี ประมาณร้อยละ 40 อายุมากกว่า 51 ปี จำนวนคนและจำนวนครั้งที่มารับบริการมากที่สุดคือเขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 59 เป็นร้านยาเดี่ยว อาการนำที่มาพบเภสัชกรมากที่สุดได้แก่ ไข้ ไอ เจ็บคอ ร้อยละ 36.8 รองลงมาคือ อาการปวดกล้ามเนื้อ ร้อยละ 20 และอาการผื่นผิวหนัง ร้อยละ 10.6 และผลลัพธ์ทางคลินิกจากการให้บริการพบว่า ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วยร้อยละ 43.4 อาการทุเลาร้อยละ 45.7 และอาการไม่ดีขึ้นต้องส่งต่อเพื่อพบแพทย์ ร้อยละ 2 จำนวนรายการยาที่เภสัชกรจ่ายแก่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 2-3 รายการ และพบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ร้อยละ 15.3 ทั้งนี้แรงจูงใจหนึ่งในการให้บริการของเภสัชกรคือ มีความภาคภูมิใจในวิชาชีพ เนื่องจากเภสัชกรได้มีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชาชนในเชิงคุณภาพมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนามาตรฐานการให้บริการในร้านยา ตลอดจนช่วยลดความแออัดในโรงพยายาบาล
ด้าน ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. ย้ำว่า ร้านยานับเป็นสถานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่สำคัญ และควรได้รับการยกระดับให้มีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชาชน เนื่องจากร้านยาตั้งอยู่ใกล้ชิดประชาชน และกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในชุมชน มีความสะดวกในการใช้บริการ ไม่ต้องเสียค่าเดินทางและเสียเวลานานในการรอรับบริการ โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจการใช้บริการสุขภาพของประชาชนพบว่า มีแนวโน้มของการมาใช้บริการที่ร้านยาค่อนข้างสูงอยู่แล้วแต่เดิม เมื่อมีการขยายสิทธิการรักษาที่ครอบคลุมบริการที่ร้านยา ทำให้ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถมารับบริการได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน ดังนั้นควรเร่งสนับสนุนและขยายผลให้เกิดการใช้บริการที่ร้านยามากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยและการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเชิงระบบและพัฒนาคุณภาพร้านยาได้เป็นอย่างดี และช่วยสนับสนุนให้เกิดการให้บริการในระดับปฐมภูมิที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้หลังจากการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศแผนงานวิจัยพัฒนาระบบยา สวรส. คณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการฯ ในจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ ร้านสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน มหาวิทยาลัยนเรศวร สาขา 2, ร้านดี-เซ็นเตอร์, ร้านเอ็กซ์ต้า สาขาเรือนแพ, ร้านครอบครัวเภสัช โดยคณะกรรมการฯ ได้สอบถามข้อมูลรูปธรรมในการดำเนินงานเพิ่มเติม ซึ่งแต่ละร้านมีผู้มาใช้บริการในโครงการเจ็บป่วยเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 20-30 คนต่อวัน และข้อดีที่เห็นคือ ผู้มารับบริการได้รับการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพมากขึ้น มีการบันทึกประวัติการรักษาและมีการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น การขยายจำนวนร้านยาให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ระบบการเบิกจ่ายควรมีความสะดวกรวดเร็ว, พัฒนาโปรแกรมที่ใช้ในการบันทึกข้อมูลให้มีความสะดวก ครบถ้วน ใช้งานไม่ซับซ้อนและรองรับการทำงานเป็นครือข่ายกับโรงพยาบาล, มีการตรวจสอบคุณภาพเพื่อรักษามาตรฐานร้านยาในโครงการฯ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ฯลฯ
...................................
ข้อมูลจาก :
- การประชุมคณะกรรมการกำกับทิศแผนงานวิจัยพัฒนาระบบยา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ครั้งที่ 3/2566
- โครงการวิจัย การประเมินผลการให้บริการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยของร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
2รายชื่อร้านยาดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ผู้มีสิทธิบัตรทองรับยาที่ร้านได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย