ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุมเผยแพร่ผลการศึกษาการวิจัยประเมินผลแผนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 (ฉบับที่ 1 และ 2) พร้อมทบทวนแผนการกระจายอำนาจตั้งแต่ระดับนโยบาย และปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถปฏิบัติตามแผนฯ ได้ เพื่อสังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดทำแผนกระจายอำนาจฯ ฉบับที่ 3 ให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป
ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ นักวิจัย สวรส. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ เผยว่าความก้าวหน้าในภารกิจการถ่ายโอนสถานีอนามัย/รพ.สต. ปัจจุบันมีเพียง 39 แห่งจาก 9,762 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 0.40% กล่าวได้ว่ายังไม่สำเร็จในเชิงปริมาณ ทั้งนี้หากมองความสำเร็จของท้องถิ่นที่มีการถ่ายโอนไปแล้วพบว่า ในหลายแห่งมีผลการปฏิบัติงานได้ดี อย่างไรก็ตามจากการประเมินที่ผ่านมาของแผนการกระจายอำนาจฉบับที่1 และ 2 พบปัญหาที่สำคัญ อาทิ ความต่อเนื่องเชิงนโยบายจากระดับกระทรวง ซึ่งมีผลต่อการส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการทำงานของหน่วยงานภายใต้สังกัดในระดับพื้นที่ การทับซ้อนของภารกิจหน้าที่ระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เนื่องจากต่างก็มีภารกิจที่ต้องดำเนินงานใกล้เคียงกัน จึงทำงานทับซ้อนทั้งในเชิงพื้นที่ แผนงาน งบประมาณ และเป้าหมายการให้บริการ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมของบุคลากร อปท. เพื่อรองรับภารกิจด้านสุขภาพยังไม่มีการดำเนินงานอย่างจริงจัง
สำหรับข้อเสนอแนะของการจัดทำแผนฯ 3 นั้น นักวิจัย สวรส. ระบุว่า จำเป็นต้องสร้างความรับผิดชอบที่ชัดเจน คือ มีกระบวนการตรวจสอบ และตัวชี้วัดความสำเร็จ สร้างการสื่อสารผ่านช่องทางที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงานเพื่อปรับมุมมองใหม่ให้ชัดเจนตรงกัน ขณะเดียวกันจะต้องมีการสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ ส่วนปัญหาความทับซ้อนในการทำงานยังสามารถที่จะปรับแผนยุทธศาสตร์ให้เข้ากันได้ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นที่ต้องเชื่อมโยงการทำงานโดยการสร้างเจ้าภาพเพื่อความชัดเจนในการทำงาน เป็นต้น
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยและพัฒนาการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ สวรส. กล่าวว่า หลักคิดของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ คือการยกระดับการให้บริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่ผ่านมาพบว่าการยกระดับเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ความเท่าเทียมยังต้องพัฒนา อย่างไรก็ตามเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นมีพัฒนาการในหลายเรื่อง แต่การพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการในภารกิจที่รับถ่ายโอน ยังมีช่องว่างที่เราต้องให้ความสนใจในการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่น ส่วนประเด็นเรื่องกลไกการกำกับการส่งเสริม ซึ่งจะเป็นกลไกที่จะไปช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือ ความไว้ใจระหว่างท้องถิ่นกับราชการส่วนกลาง อยากจะเห็นประเด็นเหล่านี้ถูกบรรจุไว้ในแผนกระจายอำนาจ ฉบับที่ 3
“ในแผนฯ 3 อยากให้มีการพัฒนาร่วมกัน โดยเฉพาะภาคท้องถิ่นจะต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เรียนรู้ในการทำงาน และปรับความคิดเพื่อให้การกระจายอำนาจด้านสุขภาพมีประสิทธิผล ขณะที่ส่วนราชการจะต้องมาเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนา เชื่อว่าภาคท้องถิ่นมีการปรับตัวได้เร็วกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ทั้งนี้บทบาทของรัฐบาลต่อเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรยังเป็นคำถามที่สำคัญ” ศ.ดร.สกนธ์ กล่าว
ทางด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า แผนกระจายอำนาจ ฉบับที่ 1 และ 2 เน้นภารกิจถ่ายโอนสถานพยาบาล ดังนั้นทิศทางของแผนกระจายอำนาจฯ ฉบับที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุข ไม่ควรจำกัดเพียงภารกิจถ่ายโอนสถานพยาบาล แต่ควรระบุความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบภารกิจที่ อปท.ดำเนินการร่วมกับสาธารณสุข ว่าเป็นภารกิจที่ส่วนกลางโอนให้ อปท.ดำเนินการบางขั้นตอน และสาธารณสุขยังคงดำเนินการบางส่วนอยู่ โดยแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ ขั้นตอน วิธีปฏิบัติ ระหว่างสาธารณสุขกับอปท.อย่างชัดเจน เช่น กองทุนสุขภาพตำบล ผู้บริหารท้องถิ่นมีสิทธิมอบนโยบายในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมตัดสินใจ
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้