ข่าว/ความเคลื่อนไหว
ศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (ศมสท.) เครือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จัดประชุมการประเมินระบบทะเบียนราษฎร์และสถิติชีพ (Civil Registration and Vital Statistics : CRVS) เพื่อระดมแนวคิดและข้อเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์และทิศทางพัฒนาระบบ CRVS ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ
งานประชุมในครั้งนี้มีหน่วยงานเข้าร่วมประกอบด้วย สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข, Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP), สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ,สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ,มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายวิชาการต่างๆ เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2555 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบทะเบียนราษฎร์และสถิติชีพ (CRVS) มานานแล้ว ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบซึ่งช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เช่น การพิสูจน์สัญชาติจนสามารถจำแนกประชากรได้อย่างเป็นระบบ การพัฒนาระบบเพื่อรองรับบริการด้านสุขภาพโดยใช้ระบบทะเบียนราษฎร์สำหรับเชื่อมโยงข้อมูลในการลงทะเบียนประชากรเข้าระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น
“อย่างไรก็ตาม ระบบทะเบียนราษฎร์และสถิติชีพในประเทศไทย ยังพบปัญหาในด้านการใช้ประโยชน์ข้อมูลสำหรับการวางแผน เนื่องจากข้อมูลที่ไม่ตรงหรือไม่สอดคล้องกันกับแหล่งข้อมูลอื่นในสถิติบางตัว สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยต้องหาแนวทางเพื่อทำให้พัฒนาระบบข้อมูลของประเทศให้มีมาตรฐาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นภาพรวมน่าเชื่อถือ สามารถอ้างอิงและเปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ และจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานต่างๆ เช่น การสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนของหน่วยงานด้านสุขภาพ” ผอ.สวรส. กล่าว
ทั้งนี้ ศมสท. จึงรับเป็นหน่วยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ CRVS เพื่อดำเนินการประเมินระบบดังกล่าว โดยมีการใช้เครื่องมือมาตรฐานการประเมินและคู่มือพัฒนาระบบ CRVS เบื้องต้น ที่เรียกว่า “Rapid Assessment” พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลียร่วมกับองค์การอนามัยโลก เพื่อประเมินระบบทะเบียนราษฎร์และสถิติชีพเบื้องต้น กรณีศึกษาประเทศไทย ได้นำเสนอในที่ประชุม โดยมีข้อเสนอแนะและการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบอย่างกว้างขวางที่จะต้องมีการดำเนินการ ประกอบด้วย
ด้านการลงทะเบียนราษฎร์ เน้นการบำรุงรักษาระบบเพื่อรองรับกรณีระบบขัดข้องและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
จัดหลักสูตรการให้สาเหตุการตายให้แพร่หลายมากขึ้นสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุขและมิใช่ทางด้านการแพทย์ เช่น ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันที่ได้รับมอบอำนาจในการให้สาเหตุการตายนอกโรงพยาบาลของลูกบ้าน
ส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูล
ลดการระบุ การให้สาเหตุด้วย “ไม่ทราบสาเหตุของการตาย”
ส่งเสริมให้มีบุคลากรที่ให้รหัสการตายมากขึ้น เพื่อช่วยในการตรวจสอบการให้รหัส
ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ดำเนินการด้านระบบทะเบียนราษฎร์และสถิติชีพ
ส่วนประเด็นท้าทายจากการระดมความคิดเห็นร่วมกัน คือ ควรหาแนวทางเพื่อลดการให้รหัสด้วยการตายไม่ทราบสาเหตุ การจัดการรองรับกรณีแรงงานต่างด้าว เช่น การบริหารจัดการเพื่อรองรับจำนวนประชากรต่างด้าวที่มีเพิ่มขึ้น การนับและระบบการติดตามจำนวนคนต่างด้าว รวมทั้งการกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของระบบ โดยใช้กระบวนการ “การใช้ประโยชน์จากข้อมูล” เพื่อให้เห็นความสำคัญและเป็นอีกแนวทางในการพัฒนาข้อมูล เนื่องจากผู้ใช้จะช่วยเสริมจุดอ่อนให้ผู้ผลิตได้เห็นถึงสภาพปัญหาได้มากขึ้น
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้