สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ “Journey to impact” เส้นทางวิจัยนวัตกรรม สู่เศรษฐกิจและระบบสุขภาพไทยที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2566 ภายใต้งานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ซึ่งเวทีเสวนาดังกล่าว ได้ฉายภาพไปถึงทิศทาง ระบบ และวิธีการวิจัยนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และพัฒนาระบบสุขภาพไทย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวทีเสวนาว่า การทำงานวิจัยเชิงนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ จำเป็นต้องมีความเข้าใจก่อนว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคำถามและการค้นคว้าที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยทุกวันนี้ประเทศไทยยังสนับสนุนงบประมาณการวิจัยไม่มากนัก จึงนับเป็นความท้าทายของการวิจัยเชิงนวัตกรรม เพราะการสนับสนุนอย่างจำกัดนี้ยังไม่มากพอที่จะขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น และพบว่าปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนงบ 1 ใน 3 เท่านั้น ส่วนอีก 2 ใน 3 มาจากภาคเอกชน นอกจากนี้ ระบบนิเวศของการวิจัยยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการสนับสนุนการวิจัยเท่าที่ควร รวมถึงไม่มีการบูรณาการการวิจัยให้เกิดผลกระทบสูง จึงทำให้ไม่มีระบบเครือข่ายที่เข้มแข็ง และที่สำคัญคือขาดกลไกในการเชื่อมต่อกับฝ่ายนโยบาย อีกทั้งในแง่ของงานวิจัย ก็ยังไม่มุ่งเป้ามากพอที่จะสามารถต่อยอดมาใช้ประโยชน์ได้จริง รวมถึงงานวิจัยนวัตกรรมหลายเรื่องยังไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่ในภาวะวิกฤต
“โดยธรรมชาติถ้ามีโครงการ 100 โครงการ โอกาสที่จะมีศักยภาพในการเป็นนวัตกรรมมีไม่ถึง 10% ยิ่งถ้าภาครัฐไม่เข้าไปสนับสนุนอะไรเลย ก็จะยิ่งทำให้ลดลงจนอาจเหลือไม่ถึง 1% ที่จะมีโอกาสนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายที่ให้ทุน ฝ่ายที่จะช่วยพัฒนา ฯลฯ ควรที่จะเข้าไปร่วมผลักดันให้จำนวน 10% ดังกล่าวสามารถนำไปใช้จริงได้ทั้งหมด” นพ.ศุภกิจ กล่าว
อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในเครือข่ายนักวิจัย สวรส. ที่ถอดบทเรียนจากประสบการณ์การพัฒนางานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง ‘สเปรย์หยุดโควิด-19’ ว่า สิ่งที่จะทำให้งานวิจัยไปสู่การใช้งานจริงได้จำเป็นต้องมีหลายองค์ประกอบ และจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เช่น องค์ความรู้ เทคโนโลยี การตลาด ความสามารถในการแข่งขัน ฯลฯ ซึ่งแต่ละองค์ประกอบต้องมีความพร้อมและทำให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การใช้ประโยชน์ให้ได้เมื่อโอกาสมาถึง ดังนั้นโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้กระบวนการไปสู่อุตสาหกรรมไทยมีความยั่งยืน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย นักวิจัย รวมถึงกลุ่มธุรกิจในประเทศไทยที่ยังไม่ค่อยกล้าลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์หรือยา เพราะยังไม่เห็นความสำเร็จในด้านนี้มาก่อน ทำให้กลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับเรื่องที่คาดหวังผลสำเร็จได้รวดเร็วมากกว่า ซึ่งถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำให้เกิดตัวอย่างความสำเร็จขึ้นมาได้ และพัฒนากลไกสนับสนุนให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ถึงจุดหนึ่งเชื่อว่างานวิจัยนวัตกรรมน่าจะมีเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น
ด้านภาคเอกชน ภก.เชิญพร เต็งอำนวย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า งานนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 และเกี่ยวข้องกับการช่วยชีวิตผู้คน (Life-saving) หมายความว่า อะไรก็ตามในหมวดนี้ล้วนมีผลกระทบกับชีวิตผู้คนทั้งสิ้น แม้บางผลิตภัณฑ์อาจส่งผลกระทบแค่เฉพาะกลุ่มก็ตาม เช่น วัคซีนโรคภูมิแพ้ ฉะนั้นประเทศไทยจึงควรจัดประเภทวิจัยนวัตกรรมให้ชัดว่า จะทำนวัตกรรมอะไรที่มีผลกระทบสูง ซึ่งถ้าผลิตภัณฑ์ใดมีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว เราไม่ควรลงสนามไปแข่งขันด้วย แต่ต้องเปลี่ยนกลยุท์เป็นการคิดเลือกหาผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบรองลงมา แต่สามารถสร้างฐานการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับประเทศได้
“วันนี้เมดิคัลฮับยังไม่สามารถเกิดได้อย่างชัดเจน เนื่องจากยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้เอง เพื่อสนับสนุนการรักษาทางการแพทย์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์จะช่วยให้แพทย์แสดงความสามารถในการรักษาพยาบาลและดึงผู้ป่วยจากต่างประเทศมารักษาในประเทศไทยได้มากขึ้น นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับระบบการแพทย์และสาธารณสุขโดยใช้วิจัยนวัตกรรมไปช่วยสนับสนุน ซึ่งถ้าสามารถทำได้อย่างที่กล่าวแล้ว ประเทศไทยก็จะเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลได้ทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลก” ภก.เชิญพร ระบุ
ขณะที่ คุณสุเมธ ไชยสูรยกานต์ Chief Strategy Officer บริษัท เมติคูลี่ จำกัด ได้ยกตัวอย่างนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เกิดจากงานวิจัย พัฒนาจนผลักดันเข้าสู่ตลาดและระบบสุขภาพได้สำเร็จ โดยได้เล่าถึงปัจจัยความสำเร็จจากการพัฒนางานวิจัยนวัตกรรม ‘แผ่นปิดกะโหลกไทเทเนียม’ ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งในเชิงระบบบริการสุขภาพและเชิงพาณิชย์ว่า สิ่งที่จะช่วยให้นักวิจัยพัฒนาเครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์ยาได้ก็คือ บุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่มีศักยภาพในการช่วยพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และด้วยช่องว่างของอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีขายอยู่แล้วในท้องตลาด ยังไม่ตอบโจทย์ในการรักษา จึงทำให้มีการพัฒนาวิจัยนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของทั้งผู้ป่วยและแพทย์ผู้รักษา เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือแพทย์หรือยา มีจุดร่วมที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ ต้องมีคุณภาพที่ได้ตามมาตรฐานรับรอง ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทเมติคูลี่ฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และทุ่มกำลังไปกับการวิจัยเพื่อการพัฒนาให้ได้การรับรองมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด และบริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะพัฒนานวัตกรรมไปในระดับต่างประเทศด้วย ซึ่งถ้าจะไปสู่ตลาดโลก จำเป็นต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากแหล่งที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อย่างเช่นถ้าจะไปขายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกาต้องได้มาตรฐาน United States Food and Drug Administration (USFDA) หรือหากในฝั่งยุโรปก็ต้องมีมาตรฐาน CE หรือ CE Marking ดังนั้นในช่วงแรกๆ ควรต้องเตรียมใจและความพร้อมในการหาผู้ร่วมลงทุน เนื่องจากเงินลงทุนส่วนใหญ่จะต้องถูกใช้ไปกับค่าทดสอบตามมาตรฐานต่างๆ โดยเฉพาะยิ่งนวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องอยู่ในร่างกายของมนุษย์ การวิจัยต้องแสดงผลให้เห็นและมั่นใจได้ว่าสามารถอยู่ในร่างกายได้และปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบ กองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. อธิบายถึงบทบาทในฐานะหน่วยงานจัดสรรทุนวิจัยของประเทศว่า ปัจจุบันนอกจาก ววน. จะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเวลาพูดถึงการวิจัยและนวัตกรรมที่จะไปสู่กระบวนการผลิตในเชิงพาณิชย์ เทคโนโลยีต้องอยู่ในระดับพร้อมใช้ แต่ส่วนใหญ่มักพบว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยียังไม่มีความพร้อมและยังไม่ได้รับการยอมรับหรือเชื่อมั่นจากผู้ใช้ในตลาด ฉะนั้น ววน. จึงมองว่าควรมีงบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนเพื่อถมช่องว่างนี้ นั่นก็คืองบประมาณสำหรับส่งเสริมการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization: RU) โดยจะเป็นในลักษณะของกองทุนร่วมสนับสนุนกับองค์กรอื่นๆ (Matching fund) ซึ่งงบประมาณ RU จะเป็นเครื่องมือในการทำหน้าที่ทดสอบตลาด การวางจำหน่าย การสร้างความเชื่อมั่นจากผู้ใช้ ฯลฯ และสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการทุนวิจัย (PMU) ต่างๆ สำหรับใช้ประเมินโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยทั้งในอดีตและอนาคตว่ามีโครงการใดบ้างที่พร้อมจะใช้งบประมาณ RU ในปี 2567 และ 2568 นี้ ตลอดจนการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยควบคู่ไปด้วย
ด้าน ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ปิดท้ายว่า เส้นทางการพัฒนาวิจัยนวัตกรรมเป็นเส้นทางที่ต้องมีการทำงานร่วมกันหลากหลายภาคส่วน และมากไปกว่านั้น ต้องมีการเชื่อมโยงงานวิจัยกับโจทย์จากภาคอุตสาหกรรม และมีตลาดรองรับ ซึ่ง สวรส. พยายามผลักดันให้งานวิจัยนวัตกรรมได้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างถ้วนหน้า ทั้งการใช้ประโยชน์จากการเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ และการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพ ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ จำเป็นต้องมีกลไกและกระบวนการในระดับนโยบาย เพื่อให้เกิดรูปธรรมของการสนับสนุนที่เป็นระบบ มีการวิเคราะห์สถานการณ์ รวมถึงคาดการณ์ให้ชัดและไวพอที่จะบอกว่า ปัญหาสุขภาพที่สำคัญคืออะไรบ้าง รวมทั้งการสร้างระบบนิเวศการสนับสนุนการวิจัย ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมีการทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาประเทศบนฐานของการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเป็นสำคัญ