4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. จับมือ สรพ. ปั้น ‘นวัตกร’ สร้างความมั่นคงระบบสุขภาพไทย ด้วย ‘งานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์’

          มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยยืนยันว่า มนุษย์สามารถมีอายุขัยยืนยาวได้มากที่สุดถึง 150 ปี ซึ่งเป็นไปตามแบบจำลองที่มุ่งคำนวณหา “ตัวบ่งชี้สภาพของสิ่งมีชีวิตแบบมีพลวัต” หรือ DOSI1  และอายุขัยของมนุษย์ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ส่วนสำคัญเป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่ช่วยให้ ‘มีทางเลือก’ ในการออกแบบการรักษาได้อย่าง ‘แม่นยำ-เจาะจง’ มากขึ้น

          สำหรับประเทศไทย มีผู้ประกอบวิชาชีพ นักวิจัยผู้ประกอบการ ฯลฯ คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือมีความก้าวหน้าและอยู่ในเกณฑ์สากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยชุดทดสอบ albuminuria เพื่อช่วยในการคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้น ที่เพียงแค่ใช้ปัสสาวะสามหยด ก็สามารถบ่งบอกความเสี่ยงของการเป็นโรคไตเรื้อรังได้ หรืองานวิจัยแผ่นปิดกะโหลกศรีษะเทียมไทเทเนียม ซึ่งช่วยลดอัตราการติดเชื้อในระหว่างการผ่าตัด ลดการผ่าตัดซ้ำ ทำให้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงยิ่งชัดเจนว่าการวิจัยคือพื้นฐานของการแก้ปัญหาและการพัฒนาสู่การสร้างวัฒนธรรมการพัฒนาด้วยงานวิจัย รวมทั้งเป็นส่วนสนับสนุนในการเพิ่มความปลอดภัยในผู้ป่วยและทุกคน โดยเฉพาะงานวิจัยด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย นับเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการแก้ปัญหาและพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ตลอดจนเกิดความยั่งยืนในอนาคต ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการรักษาพยาบาล  ดังนั้นสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดการประชุมหัวข้อ “การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพ” เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2566 โดยได้รับความสนใจจากนักวิจัย นักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์ในระบบสุขภาพของประเทศ กว่า 500 คน  ซึ่งความมุ่งหวังของการจัดเวทีนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ในระดับพื้นที่ ให้สามารถพัฒนาโจทย์และโครงร่างการวิจัยจากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติงาน และสามารถนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์และขยายผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพได้จริง และเพื่อพัฒนาเครือข่ายวิจัยระบบสุขภาพและนโยบาย รวมทั้งกลไกสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถการทำวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษา และนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่ 

          นพ.ประวิช ตัญญสิทธิสุนทร ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมวิจัยทางการแพทย์ ให้คำจำกัดความ “นวัตกรรมทางการแพทย์”ว่า ไม่ได้หมายถึงยา หรือเครื่องมือแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวกับการปรับปรุงการบริการสุขภาพ รูปแบบการดำเนินการให้บริการ รูปแบบขององค์กร หน่วยบริการ สถานพยาบาลต่างๆ ให้ดีขึ้นด้วย

          นพ.ประวิช ขยายความว่า นวัตกรรมทางการแพทย์จากการวิจัยเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับการแพทย์ของประเทศรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ซึ่งนอกจากผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยและการต่อยอดเชิงพาณิชย์แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องความปลอดภัย ที่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการรับรองภายในประเทศ เพื่อการการันตีว่า เมื่อนำนวัตกรรมนั้นๆ ไปใช้ในระบบบริการสุขภาพ หรือจำหน่ายไปแล้ว จะมีความปลอดภัยกับผู้ใช้อย่างแน่นอน 

          ด้าน พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า จุดเน้นสำคัญของงานวิจัยทางการแพทย์เพื่อตอบโจทย์ความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพ คือการให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสถานพยาบาล ซึ่งต้องมีงานวิจัยที่ผ่านการทำการวิจัยอย่างถูกต้อง ตรงกับโจทย์และตรงกับความต้องการ รวมถึงต้องมีการวิเคราะห์และทบทวนวรรรณกรรมอย่างละเอียด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในอนาคต ที่ท้ายสุดแล้วงานวิจัยต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง 

          นอกจากนี้ งานวิจัยที่จะช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสถานพยาบาล ต้องคำนึงถึงการสร้างวัฒนธรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพร่วมกันของบุคลากรสาธารณสุข โดยต้องศึกษาสภาพแวดล้อมของสถานพยาบาลในทุกมิติ ทั้งจากผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ซึ่งสภาพแวดล้อมในสถานพยาบาลมีผลอย่างมากต่อคุณภาพ และประสิทธิภาพการบริการสาธารณสุข 

          ดร.นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ภาพและจุดเน้นของกรมการแพทย์ ที่พร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพ และต้องตรงกับความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ โดยปัจจุบัน กรมการแพทย์มีแผนการวิจัยด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ครอบคลุม 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) สร้างค่านิยมองค์กรด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ 2) พัฒนาโครงสร้างและระบบจัดการ 3) พัฒนาศักยภาพบุคลากร 4) สนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมและส่งเสริมการนำไปใช้ประโชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ และ 5) กำกับ ติดตาม และประเมินผลแผนปฏิบัติงาน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นทิศทางการดำเนินงานขององค์กร เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศภายในปี 2570 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างบุคลากรที่เป็นนักวิจัย นวัตกรทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการจากภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายนักวิจัย เนื่องจากการพัฒนานวัตกรรม ภาครัฐทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องพึ่งพาทุกภาคส่วนมาช่วยกัน อย่างเช่นการสร้างหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัดของโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ที่ร่วมกับบริษัทเอกชนผลิตคิดค้นขึ้นมา ซึ่งหุ่นยนต์ดังกล่าวหากซื้อจากต่างประเทศ ราคาไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท แต่เราคิดค้นขึ้นมาได้และมีราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก  

          ส่วนของภาคเอกชน คุณปริวัตร อัครพิมาน กรรมการผู้จัดการและที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท สมาร์ท อินไซท์ ครีเอชั่น จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์และนวัตกรรมที่เป็นทั้งงานวิจัย เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ นักวิจัยต้องคำนึงถึง ‘วงจรชีวิตของนวัตกรรม’ นั้นด้วย ซึ่งนักวิจัยจะทราบโดยการสำรวจตลาด ความต้องการและความจำเป็นของผู้ใช้ ซึ่งวงจรชีวิตของนวัตกรรมจะสัมพันธ์กับการค้นหาข้อมูล การศึกษา และการทำต้นแบบเพื่อนำไปทดลอง และเมื่อได้ผลลัพธ์จากการทดลองแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนของการถ่ายโอนองค์ความรู้งานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมไปสู่กระบวนการผลิตจริง

          คุณปริวัตร ย้ำว่า ในขั้นตอนกระบวนการผลิตที่ผ่านการถ่ายโอนข้อมูลจากนักวิจัยไปสู่เส้นทางการผลิต นักวิจัยที่คิดค้นควรให้วิศวกรที่ควบคุมการผลิตเครื่องมือแพทย์เข้าร่วมในขั้นตอนด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาจะสามารถนำไปสู่การผลิตได้จริง และตรงตามผลทดลองที่ได้รับมาตรฐานมาแล้ว

          ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า งานวิจัยที่ สวรส. สนับสนุน จะเป็นเทคโนโลยีที่ผ่านการพัฒนาเบื้องต้นมาแล้ว โดย สวรส. จะเน้นการสนับสนุนงานวิจัยในเชิงทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพของเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงสนับสนุนเพื่อเป้าหมายการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และสนับสนุนการยกระดับงานวิจัยเพื่อผลักดันไปสู่การใช้ในระบบบริการสุขภาพอย่างถ้วนหน้า 

          ดร.จุไรรัตน์ กล่าวอีกว่า หากนักวิจัยไทยสามารถพัฒนางานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง รวมถึงการต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ด้วย โดยงานวิจัยสามารถผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ ก็จะช่วยให้ลดงบประมาณการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศได้อีกมาก ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าที่ใช้งานวิจัยช่วยสร้างมูลค่า และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ได้ทุกระดับ

          “งานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นอีกหนึ่งแผนงานที่สำคัญของ สวรส. และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการวิจัย ที่ช่วยให้เกิดการสร้างความมั่นคงให้กับระบบสุขภาพของประเทศ และยกระดับการบริการให้ดีขึ้นในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ รวมทั้งการแก้ปัญหาเชิงระบบ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการ” ดร.จุไรรัตน์ ระบุ
..............................
ข้อมูลจาก
- การประชุม “การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพ” วันที่ 4 ส.ค. 2566 ณ ห้องประชุมสานใจ 1 ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ 
1(https://www.bbc.com/thai/features-57298728)
รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้