ข่าว/ความเคลื่อนไหว
คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ร่วมด้วยหน่วยงานภาคีด้านสุขภาพ ประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเวทีสาธารณะ “วิกฤตพยาบาล ระดมปัญญาร่วมหาทางออก” ภายหลังจากเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เรียกร้องให้รัฐบาลบรรจุแต่งตั้งพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว โรงพยาบาลรัฐบาลให้เป็นข้าราชการ
โดยมี นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะกรรมการฯ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายบัญชา อาภาศิลป์ สำนักพัฒนาระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมงาน ณ ห้องประชุมสานใจ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ. กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเป็นข้าราชการด้วยข้อจำกัดหลายประการทั้งกรอบอัตรากำลังและงบประมาณภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้สิ่งที่ สธ. ต้องดำเนินการคือ การปรับบทบาทกระทรวงฯ ให้สอดคล้องกับความจำเป็นและสถานการณ์ในปัจจุบัน การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น และการบริหารกำลังคนด้วยการจ้างงานในหลายรูปแบบ ซึ่งการแก้ปัญหาให้กลุ่มพยาบาลที่มีสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่เรียกร้องให้บรรจุเป็นข้าราชการ ขณะนี้ สธ. ได้ยกร่างระเบียบกระทรวงว่าด้วย “พนักงานกระทรวงสาธารณสุข” (พนง.กสธ.) ไว้เรียบร้อยแล้วรอเพียงให้กระทรวงการคลังเห็นชอบก็จะมีผลบังคับใช้ทันที โดยสาระสำคัญของร่างระเบียบดังกล่าวจะมีการแบ่งกำลังคนเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มวิชาชีพ เช่น พยาบาล เภสัช 2.กลุ่มสนับสนุน เช่น ธุรการ การเงิน บัญชี และ 3.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เช่น วิศวะหรือกลุ่มงานอื่นที่กระทรวงฯ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษ ทำให้หลังจากนี้จะไม่มีลูกจ้างชั่วคราวแล้ว
“พนง.กสธ. ดังกล่าวจะได้เงินเดือนมากกว่าข้าราชการ 1.2 เท่ามีสิทธิการลาเท่ากับข้าราชการ ส่วนสิทธิการรักษาพยาบาลจะนำเข้าระบบกองทุนประกันสังคม ซึ่งในอนาคตจะมีการปรับมาตรฐานทั้ง 3 กองทุนให้เท่าเทียมกัน(ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) และสวัสดิการข้าราชการ) อย่างไรก็ตาม พนง.กสธ. จะไม่มีบำเหน็จบำนาญ แต่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการสาธารณสุข โดยการหักเงินสะสมและรัฐจะสมทบในอัตราเท่าๆ กันเข้ากองทุนทุกเดือน” นพ.สุพรรณ กล่าว
ส่วนในเรื่องของความก้าวหน้าในวิชาชีพจะแก้ไขระเบียบบางเรื่องเพื่อเปิดช่องให้ผู้ที่มีความสามารถเติบโตในสายงานได้ รวมทั้งสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับคนในครอบครัว ทั้งนี้ พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ในสังกัด สธ. มีทั้งสิ้น 26,790 คน ในจำนวนนี้ 12,088 คน หรือร้อยละ 45 เป็นพยาบาลวิชาชีพ โดยในปี 2556 สธ. ได้ขอตำแหน่งข้าราชการไป 5,800 ตำแหน่ง คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณ 4,200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะให้เป็น พนง.กสธ. คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,700 ล้านบาท หากเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้หมายความว่าภายใน 1 ม.ค. 2556 จะสามารถบรรจุข้าราชการตามตำแหน่งที่ได้มา ที่เหลือจะถูกบรรจุเป็น พนง.กสธ.คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2556
จากนั้นในเวทีได้เปิดระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเวทีอย่างหลากหลาย อาทิ วิกฤตพยาบาลที่เกิดขึ้นวันนี้ยังไม่มีกลไกการแก้ปัญหาที่ชัดเจน หากปล่อยเอาไว้อาจกระทบต่อการบริการสาธารณสุข แนวทางเรื่อง พนง.กสธ. เป็นทางออกหนึ่งที่ต้องทำให้เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับข้าราชการ แต่ในระยะสั้นจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับระเบียบข้อจำกัดหรือทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปอย่างไรโดยเน้นสนับสนุนคนที่ต้องทำงานหนัก ส่วนในระยะยาวปัญหาพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดจะทำอย่างไร รวมทั้งการบริหารตำแหน่งข้าราชการที่ว่างลงจะต้องมีความเป็นธรรม เช่น เมื่อตำแหน่งพยาบาลว่างจะต้องไม่นำไปให้กับสายงานอื่น รวมทั้งที่ประชุมได้เสนอทางเลือกอื่นๆ เช่น ปัจจุบันเทศบาลบาล/อบต. รับสถานีอนามัย/รพ.สต.ถ่ายโอนมาจาก สธ. มีความต้องการพยาบาลหลายอัตรา ฉะนั้นทางออกหนึ่งคือมาเป็น ขรก.ท้องถิ่น เพียงแต่ไม่ได้สังกัด สธ. หรือข้อเสนอควรจะมี “กรมการพยาบาล” เพื่อให้คนในสายงานตรงเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารกันเองบ้าง เป็นต้น
ทั้งนี้ ในเวทีมีการนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อเป็นแนวทางของการระดมความคิดเห็นร่วมกัน ในเรื่อง “แนวทางการจัดการกำลังและการบริหารจัดการบุคลากรในภารกิจการบริการด้านสุขภาพในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข” โดยนางวิไลลักษณ์ เรืองรัตนตรัย ผู้แทนคณะวิจัย พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาในระยะสั้น คือ การปรับรูปแบบการจ้างงานเป็นรูปแบบอื่นๆ ที่มีข้อพึงให้ความสำคัญในหลายประเด็น เช่น การใช้คำว่าลูกจ้างที่ผ่านมาทำให้มีผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินหรือสินเชื่อ การปรับปรุงระบบการจ่ายค่าตอบแทน รวมถึงการพิจารณาเพิ่มตำแหน่งข้าราชการในกรณีที่จำเป็น เพื่อลดความเลื่อมล้ำและแก้ปัญหาขาดแคลนในบางพื้นที่ เป็นต้น ส่วนข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว คือ การพัฒนารูปแบบการจ้างและการกำหนดค่าตอบแทนแนวใหม่ การศึกษาปัจจัยทางด้านกฎหมายและระเบียบให้สอดรับ เป็นต้น
ทางด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นแนวทางในการบริหารบุคลากร กรณีศึกษาจากการประเมินผล 10 ปี โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) โดยระบุว่า โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นโรงพยาบาลที่มีฐานะเป็นองค์กรอิสระแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ปัจจุบันมีพยาบาลวิชาชีพจำนวน 184 คน โดยทุกตำแหน่งมีฐานะเป็นพนักงานโรงพยาบาลไม่มีใครเป็นข้าราชการ ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข เห็นได้จากการเข้ารับบริการและอัตราการลาออกที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการลาออกของบุคลากรในสังกัดโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ
การมีระบบงบประมาณที่เป็นอิสระจากระบบงบประมาณภาครัฐ ทำให้มีความคล่องตัวกว่า และการมีรูปแบบการจ้างงานแบบเดียวในองค์กรคือพนักงานโรงพยาบาลทำให้ไม่เกิดการเปรียบเทียบ ไม่เกิดบรรยากาศของการบริหารบุคลากรแบบ 2 มาตรฐาน ปัจจุบัน มีการปรับฐานเงินเดือนตามมติ ครม. ปริญญาตรีพยาบาลได้เงินเดือน 15,000 บาท และมีค่าวิชาชีพและประสบการณ์บวกให้ ทั้งยังเพิ่มแรงจูงใจด้วยการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ กล่าวสรุปสาระสำคัญที่เป็นข้อเสนอจากการเปิดเวทีในครั้งนี้ว่า
1.นโยบายการจำกัดกำลังคนภาครัฐจะยังคงเดินต่อไปหรือไม่ ที่ผ่านมาสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐได้แค่ไหนอย่างไร ส่งผลกระทบต่อความเลื่อมล้ำหรือไม่ ในขณะที่ข้าราชการตำรวจ ทหารมีจำนวนที่โตขึ้นเรื่อยๆ หากมองกลับไปในวิชาชีพพยาบาลจะเดินไปยังไง โดยถ้าจะจำกัดด้านกำลังต่อไปจะทำให้เกิดความเป็นธรรมได้อย่างไร
2.ควรมีการกระจายตำแหน่งข้าราชการและคืนตำแหน่งที่ว่างลงต้องเป็นธรรม
3.เสนอให้มีการจ้างแบบเป็นข้าราชการให้หมดได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้รูปแบบการบริหารที่เป็นทางเลือกอื่นจะเป็นอย่างไร เช่น การจ้างรูปแบบ “พนง.กสธ.” จะต้องจูงใจเพียงพอ หรือให้มีการบริหารในรูปแบบองค์กรมหาชน ที่จำเป็นต้องเกาะติดโดยดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
4.ทิศทางการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
“มองว่าวิกฤตปัญหาเหล่านี้จะต้องการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่การคิดแทนโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจที่ตรงกันเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตรุนแรงขึ้นมาอีก รวมถึงการสนับสนุนงานวิจัยในบางเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาบนพื้นฐานของความจริงและใช้ปัญญา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยคลี่คลายปมไปสู่การเดินหน้าหาทางออกต่อไป” นพ.อำพล กล่าว
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้