หลากหลายครั้งที่เกิดวิกฤตด้านสุขภาพและพบว่า ‘ประชากรกลุ่มเปราะบาง’ มักกลายเป็นกลุ่มคนที่ ‘ตกสำรวจ’ และได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามเหล่านั้น ‘มากที่สุด’ ตัวอย่างหนึ่งคือสถานการณ์โควิด-19 โดยผลสำรวจของ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เมื่อปี 2563 ระบุว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนเปราะบาง ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมของรัฐ1 สอดคล้องกับข้อมูลประชากรกลุ่มเปราะบางของประเทศไทยปี 2562 โดยกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งสำรวจพบจำนวนคนเปราะบางมากกว่า 10 ล้านคน2 ทั้งกลุ่มคนไร้บ้าน ผู้พิการ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง คนยากจน ฯลฯ ที่แม้มีสิทธิอำนวยให้เข้าถึงบริการสุขภาพ แต่ก็อาจเข้าไม่ถึงบริการ หรือไม่ได้รับบริการที่ตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีองค์ความรู้ซึ่งตั้งต้นจากฐานงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาประชากรกลุ่มเปราะบางอยู่ไม่น้อย แต่พบว่าเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบบเดิมอาจไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจในปัญหาของคนกลุ่มนี้ จนบางครั้งอาจเกิดช่องว่างข้อมูลงานวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้มา ‘เกาไม่ถูกที่คัน’
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำ “โครงการวิจัยการพัฒนาระบบและแนวทางการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ในการทำวิจัยเกี่ยวกับประชากรกลุ่มเปราะบาง เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยที่เสริมพลังและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเปราะบาง” ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก สวรส.
โครงการวิจัยฯ นี้ ให้ความสำคัญและเน้นการพัฒนาศักยภาพ และติดอาวุธองค์ความรู้ที่มาจากประสบการณ์การทำงาน พร้อมยกระดับการทำงานวิจัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนองค์ความรู้ดังกล่าว และเปิดวงเสวนาในหัวข้อ “การทำงานกับกลุ่มเปราะบาง: ประสบการณ์ ความท้าทาย และการคิดนอกกรอบ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส., คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส., ดร.นภดล สุดสม นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน, คุณอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาเกี่ยวกับประเทศเมียนมา (ประเด็นความเหลื่อมล้ำฯ) สถาบันเอเชียศึกษา และชวนคุยโดย คุณประสาน อิงคนันท์ รวมถึงมีการถอดบทเรียนจากงานวิจัย สวรส. และโครงการของ สสส. รวมทั้งหมด 24 โครงการ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นนักวิจัย นักพัฒนานโยบาย นักขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคม นักวิชาการและคนทำงานกับกลุ่มประชากรเปราะบางจากโครงการวิจัยต่างๆ ประมาณ 60 คน ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น
ดร.นภดล สุดสม นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน อธิบายถึงความท้าทายในงานวิจัยการพัฒนาสุขศาลาพระราชทานแบบมีส่วนร่วมบนฐานของชุมชนในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ จ.น่าน ว่า การทำความเข้าใจในบริบทต่างๆ ของกลุ่มเปราะบาง เช่น วัฒนธรรม ความเชื่อ สภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ มีความสำคัญในการทำงานร่วมกับกลุ่มเปราะบางเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่ควรยึดติดกับสิ่งเหล่านั้นเพราะแต่ละบริบทมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด หากแต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของชุมชน ที่ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมไปถึงต้องเป็นการวิจัยร่วมกันที่ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการวิจัยแล้ว ชุมชนยังมีการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จบไปพร้อมกับการวิจัย นอกจากนั้นการวิจัยในรูปแบบนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในเชิงนโยบายค่อนข้างมาก เพื่อให้เกิดการทำงานข้ามสังกัดแบบไร้รอยต่อของหน่วยงานที่ตั้งขึ้น ซึ่งมีลักษณะเฉพาะกับบริบทพื้นที่และอาจสังกัดอยู่กับหลายกระทรวง เช่น สุขศาลาฯ จ.น่าน ที่สังกัดทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และกระทรวงสาธารณสุข
คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า หนึ่งในความท้าทายสำคัญของ สสส. คือจะทำอย่างไรจึงจะพิสูจน์ได้ว่างานวิจัยที่ทำสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพได้จริง ภายใต้แนวคิดการใช้ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมถึงแนวคิดสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้าของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งหวังว่าการถอดบทเรียนในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการต่อยอดความรู้ของภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้ และด้วยบทบาทของ สสส. นอกจากการประสานความร่วมมือ ร้อยเรียง รวมถึงกระตุ้นหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพในแต่ละเรื่องแล้ว ยังอยากเห็นการเดินร่วมกันไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในรูปแบบใหม่ๆ ด้วย
คุณอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาเกี่ยวกับประเทศเมียนมา (ประเด็นความเหลื่อมล้ำฯ) สถาบันเอเชียศึกษา แลกเปลี่ยนมุมมองว่า การจะพัฒนาศักยภาพคนทำวิจัยด้านใดด้านหนึ่งต้องอาศัยการต่อยอดจากงานวิจัยเดิมเป็นฐาน และขณะเดียวกันก็ควรแสวงหาและมองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความท้าทายของการทำงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) การใช้ความรู้ที่พัฒนาขึ้น สร้างการยอมรับจากทุกฝ่าย ดังนั้นในขั้นตอนของการทำงานวิจัยจึงจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วม 2) การต่อยอดและการนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งนักวิจัยต้องเข้าใจในบริบทของพื้นที่ และระบบหรือโครงสร้างต่างๆ ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีแนวทางในการที่จะนำไปปฏิบัติอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ สิ่งที่ได้จากเวทีนี้มีทั้งความรู้ที่วิเคราะห์สังเคราะห์จนได้เป็นหลักทั่วไป (Explicit Knowledge) รวมถึงความรู้ที่ฝังในตัวคน (Tacit Knowledge) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ เช่น ความสำเร็จในการทำวิจัยที่เกิดร่วมกันกับคนในพื้นที่ การไวต่อความรู้สึกขณะเก็บข้อมูล ประสบการณ์ความขัดแย้งในการทำโครงการวิจัย การจัดการความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ และหลังจากนี้จะมีการประชุมกลุ่มแบบ Focus Group เพื่อพัฒนาคำถามในการลงไปทำงานในพื้นที่ ตลอดจนนำความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ไปใช้ในการทำงานจริงกับประชากรเปราะบางกลุ่มต่างๆ เพื่อประเมินว่าได้ผลเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลจากกระบวนการดังกล่าว จะนำไปพัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและคนทำงานกับประชาการกลุ่มเปราะบางต่อไป
ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า สวรส. มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อย ที่สร้างมาตรการหรือนวัตกรรมการแก้ปัญหาให้กับประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งสามารถนำประสบการณ์การทำงานวิจัยมาถอดบทเรียนองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย เสริมพลังและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มเปราะบางได้เป็นอย่างดี ซึ่งการวิจัยเพื่อการถอดบทเรียนองค์ความรู้ในครั้งนี้ คาดว่าจะเกิดการจัดการความรู้ที่มีอยู่อย่างเป็นระบบ และอาจเกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการทำวิจัย การพัฒนาความรู้ในเชิงนวัตกรรม รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเครื่องมือให้นักวิจัยได้นำความรู้และประสบการณ์ ขยายสู่วงกว้างที่ไม่ได้จำกัดแค่นักวิจัย แต่รวมถึงคนทำงานด้านประชากรกลุ่มเปราะบางด้วย ตลอดจนการสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการทำงาน และการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและครบวงจร
“อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของการบริหารจัดการงานวิจัยแผนงานประชากรกลุ่มเปราะบางคือ สวรส. ไม่อยากให้มีจำนวนงานวิจัยเรื่องประชากรกลุ่มเปราะบางมากขึ้นทุกปี แต่ภายใน 5 ปีนี้ ควรลดงบประมาณวิจัยด้านนี้ให้น้อยลง แต่สิ่งที่ต้องเร่งทำมากขึ้นคือ ต้องทำให้กลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้สามารถดูแลตนเองได้ดีขึ้น ลดจำนวนประชากรกลุ่มเปราะบางให้เหลือน้อยลง และบรรเทาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเปราะบางได้มากขึ้น” ทพ.จเร กล่าว
......................................
ข้อมูลจาก
- การประชุมเชิงปฏิบัติการนำเสนอและชี้แจงทำความเข้าใจโครงการวิจัยการพัฒนาระบบและแนวทางการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ในการทำวิจัยเกี่ยวกับประชากรกลุ่มเปราะบาง เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยที่เสริมพลังและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเปราะบาง และถอดบทเรียนองค์ความรู้ ครั้งที่ 1 วันที่ 29-30 พ.ค. 2566 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น