ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส. ) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ศึกษารูปธรรมพัฒนาการงานด้านสาธารณสุขหลังการถ่ายโอนสถานีอนามัย สู่องค์กรปกครองส่วนถิ่น (อปท.) ตามแผนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ โดยหยิบยกกรณีการถ่ายโอน สถานีอนามัยบ้านสันนาเม็ง อ.สันทราย สอ.สุเทพ อ.เมือง และโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นโมเดลการศึกษาในการทำงานเชิงรุกหลังตอบโจทย์ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวถึงการ กระจายอำนาจรูปแบบการถ่ายโอนสถานีอนามัย และโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้สังกัด อปท.ว่า เป็นรูปแบบหนึ่งการปฏิรูประบบสุขภาพ ตามแนวทางการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม โดยในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ถ่ายโอน สอ. และ รพ.สต.ให้กับ อปท. ไปแล้วจำนวน 28 แห่ง นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และในปี 2555 จะมีการขยายเพิ่มอีก 11 แห่ง รวมเป็น 39 แห่งจากจำนวนทั้งสิ้น 9,762 แห่งทั่วประเทศ
“ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าการถ่ายโอนยังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก จำเป็นต้องมีการวิจัย เพื่อนำประสบการณ์ บทเรียน ข้อคิดเห็นต่างๆ มาใช้ปรับปรุงกลไกการกระจายอำนาจที่เหมาะสมสำหรับบริบทประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้ดียิ่งขึ้น” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง นักวิจัย สวรส. กล่าวถึงผลวิจัย ‘การประเมินผลท้องถิ่นกับการพัฒนาระบบสุขภาพในบริบทการกระจายอำนาจ: การสังเคราะห์บทเรียนและข้อเสนอเชิงนโยบาย’ ว่า การถ่ายโอน สอ. ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เปรียบได้กับเป็นการชิมลาง สำหรับทิศทางของการถ่ายโอนฯ พบว่า การปรับตัวของท้องถิ่นในขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากภาคการเมืองเริ่มมองเห็นแล้วว่า การทำงานด้านสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และการมีสถานีอนามัยเป็นของตัวเองสามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย ซึ่งมีแต่ได้กับได้ ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลายแหล่งให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเข้ากองทุน สปสช. มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
“การกระจายอำนาจด้านสุขภาพไปยังท้องถิ่นนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นทิศทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา เช่น ในช่วงมหาอุทกภัยปีก่อน สะท้อนให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลกลางไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ยิ่งในปัจจุบันปัญหาด้านสุขภาพมีความซับซ้อน ชุมชนมีความหลายหลาย วิถีชีวิตของผู้คนแตกต่างกันมากขึ้น จึงต้องเป็นเรื่องของชุมชน ที่ต้องร่วมมือกันในการจัดการปัญหาดังกล่าว และแนวทางนี้กำลังเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก”
ส่วนแนวโน้มในอนาคตจะมีการถ่ายโอนมากขึ้นเพียงใดนั้น รศ.ดร.ลือชัย กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจ เพราะติดขัดด้านนโยบายที่ยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่ได้รับไฟเขียวในเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าการทำงานของท้องถิ่นและสถานีอนามัยจะต้องมีการร่วมมือกันในการกำหนดทิศทางด้านสุขภาพมากขึ้น
“เชียงใหม่” เป็นจังหวัดที่มีการถ่ายโอนสถานีอนามัยมาสังกัด อปท. แล้วรวม 4 ใน 28 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ รพ.ชต.ดอนแก้ว สอ.บ้านสันนาเม็ง สอ.สุเทพ และ สอ.ท่าผา อ.แม่แจ่ม โดย “รพ.ชต.ดอนแก้ว” นับเป็น รพ.ชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยที่บริหาร และสนับสนุนงบประมาณโดย อบต.ดอนแก้ว หลังการถ่ายโอนงานสาธารณสุขสู่ท้องถิ่น เมื่อ 4-5 ปีก่อน ได้มีรูปแบบการขยายงานบริการทางด้านสุขภาพที่ครบคลุม เช่น สปา แพทย์แผนไทย ทันตกรรม ฯลฯ ซึ่งบทบาทการทำงานของ รพ.ชต.ดอนแก้ว เมื่อถ่ายโอนมาแล้ว ได้ทำงานเชิงรุกเต็มที่กับชุมชน มีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านแพทย์แผนไทย ส่ง จนท.ไปอบรม แพทย์แผนไทย 372 ชั่วโมง มาทำงานเป็นอาชีพเสริมที่ รพ.ชต. และยังเตรียมที่จะมีการขยายบริการสปาในอนาคตด้วย สำหรับเครือข่ายด้านสาธารณสุข รพ.ชต.ดอนแก้ว ยังได้ร่วมมือกับ รพ.นครพิงค์ มาสนับสนุนโดยมีแพทย์มาประจำที่ รพ.ชต. ด้วย
อีกหนึ่งพื้นที่ของการมาศึกษาดูงาน คือ สถานีอนามัยบ้านสันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ที่ได้ปรับบทบาทหลังเทศบาลตำบลสันนาเม็ง รับถ่ายโอนภารกิจการจัดการสาธารณสุข จาก สธ. ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้ อปท. พ.ศ.2542 เมื่อ 18 ต.ค.51 ได้มีการพัฒนาบริการด้วยเป้าหมายจะพัฒนาสถานีอนามัยเป็นที่พึ่งของชุมชน มีแพทย์มาตรวจที่สถานีอนามัย (จิตอาสา) แพทย์ที่เกษียณอายุแล้วมาประจำ นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาวิชาการและความสัมพันธ์กับ รพ.นครพิงค์ ที่ให้การสนับสนุน แพทย์มาตรวจที่สถานีอนามัยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง การสนับสนุนด้านวิชาการ เช่น หากมีหลักสูตรอื่นๆ จากกระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่เข้ารับการอบรม
และ สถานีอนามัยสุเทพ โดยเทศบาลตำบลสุเทพได้มีการสนับสนุนงบต่อเติมอาคารสถานีอนามัย 3 ล้านบาท บทบาทการให้บริการของสถานีอนามัยสุเทพขึ้นตรงกับ Cup รพ.ช้างเผือก ที่นับเป็นการทำ MOU ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรก มีการสนับสนุนด้านให้บุคลลากรมาทำงานที่สถานีอนามัยทุกวันทำการ ทำให้เจ้าหน้าของสถานีอนามัย ทำงานเชิงรุกเข้าถึงชาวบ้านและชุมชนได้เต็มที่ นอกจากนี้ เทศบาลยังส่งเสริมการตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมปรับปรุงรถให้เป็นรถพยาบาลไว้คอยรับส่งผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน ซึ่งความคาดหวังในอนาคต ต้องการพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็น External OPD รวมถึงการพัฒนาการคัดกรองภาวะสุขภาพแบบถึงบ้าน
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้