4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. สช. ระดมเครือข่ายร่วมพัฒนา “วิจัยยกระดับการรับมือวิกฤตสุขภาพด้วยการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ระดมเครือข่ายวิจัยทั้งนักวิชาการและผู้แทนหน่วยงานด้านสังคม/ชุมชน อาทิ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สถาบันพระบรมราชชนก วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิรักษ์ไทย ฯลฯ ร่วมทบทวนพัฒนา “งานวิจัยยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพ ด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน” ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่เน้นศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลเชิงประจักษ์ ตลอดจนบริบทในพื้นที่เป็นสำคัญ โดยใช้แนวคิดการออกแบบเชิงระบบ เพื่อพัฒนานวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน ตอบโจทย์การจัดการภาวะวิกฤตด้านสุขภาพในอนาคต พร้อมมีผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้ความคิดเห็น อาทิ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ฯลฯ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์  

          ทั้งนี้ ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวถึงความสำคัญของเรื่องนี้ว่า ท่ามกลางสถานการณ์ในอนาคตที่อาจมีเรื่องท้าทายและคาดเดาไม่ได้ การถอดบทเรียนจากประสบการณ์ และการสร้างองค์ความรู้เพื่อเตรียมรับมือ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพชุมชนที่เป็นฐานรากของสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ภาคประชาสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อยกระดับความมั่นคงและความยั่งยืนทางด้านสุขภาพ รวมทั้งนโยบายต่างๆ ในการพัฒนาเชิงระบบควรก่อร่างมาจากความรู้เชิงประจักษ์ ตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ประเทศไทยก็สามารถบริหารจัดการระบบสุขภาพโดยใช้องค์ความรู้เชิงระบบ ทำให้ระบบสุขภาพสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นและความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนจนสามารถผ่านช่วงวิกฤตด้านสุขภาพมาได้ หากแต่ถ้ามองย้อนในวิกฤตก็ยังมีช่องว่างความรู้ที่ต้องเร่งเติมเต็ม โดยเฉพาะการรับมือของชุมชนหรือกลุ่มเปราะบางต่างๆ ในสังคม เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ฯลฯ ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสุขภาพทั้งในสถานการณ์ปกติและภาวะวิกฤต 

          ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวต่อว่า การวิจัยที่สามารถรับมือหรือแก้ปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ควรมีทิศทางของการสร้างองค์ความรู้ในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้ 1) ปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย เช่น โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  2) แนวทางการพัฒนามาตรการส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค  3) แนวทางการตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของประชาชนด้านการดูแลรักษาและการบริการสุขภาพ  4) แนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่ก่อให้เกิดภาระด้านการเงินการคลังกับประเทศ  5) การพัฒนาระบบการให้บริการสุขภาพ เช่น ระบบบริการสุขภาพทางไกล ระบบการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ  6) นวัตกรรมระบบบริการปฐมภูมิกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด  7) นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค  8) ระบบการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านสุขภาพ  9) แนวทางการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในระบบสุขภาพทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ 10) การพัฒนานโยบายในการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบของหน่วยงานรัฐในการเพิ่มความยืดหยุ่น และการบูรณาการข้ามหน่วยงานในภาวะวิกฤติ เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ  11) การประเมินผลประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพแบบบูรณาการข้ามหน่วยงานทั้งระดับประเทศและพื้นที่ 12) การพัฒนานวัตกรรมระบบบริการสุขภาพ  ซึ่งทุกประเด็นควรเปิดพื้นที่และโอกาสในการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย ผู้ใช้ประโยชน์ หรือชุมชนในการพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อให้เกิดรูปแบบการจัดการด้วยตนเอง และการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งแต่ละชุมชนมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการออกแบบเชิงระบบควรมีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่  นอกจากนี้สถานการณ์วิกฤตเป็นสิ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจึงควรถูกจัดการความซับซ้อนและหลากหลายอย่างเป็นระบบ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญ

          “งานวิจัยเพื่อยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพฯ ดังกล่าว มีพื้นที่การวิจัยทั้งหมด 19 ชุมชนทั่วทุกภาค โดยแบ่งเป็น ชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร 10 ชุมชน ภาคกลาง 3 ชุมชน ภาคเหนือ 2 ชุมชน ภาคใต้ 1 ชุมชน และภาคอีสาน 3 ชุมชน ซึ่งงานวิจัยจะเร่งพัฒนาชุดความรู้และนวัตกรรมระบบสุขภาพปฐมภูมิในชุมชนเมืองโดยการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้สามารถมีระบบจัดการเพื่อรับมือภาวะวิกฤตด้านสุขภาพได้ด้วยตนเอง และสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ พร้อมกับการพัฒนาระบบข้อมูลชุมชน ตลอดจนข้อเสนอเชิงนโยบายในการสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในชุมชนเมืองโดยชุมชนต่อไป” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว 

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้