4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

เปิดงานวิจัย ‘ถ่ายโอนฯ รพ.สต.’ กรณีพื้นที่พิษณุโลก : ชงปรับกฎหมาย หนุนการดำเนินงานไม่สะดุด-ประโยชน์สูงสุดสู่ประชาชน

          ภายหลังราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ปี พ.ศ. 25641  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เกิดระบบสุขภาพท้องถิ่นใน 49 จังหวัด โดยมีจำนวน รพ.สต. ทั่วประเทศกว่า 9,000 แห่ง ถ่ายโอนในปีงบประมาณ 2566 ได้ 3,264 แห่ง หรือคิดเป็น 1 ใน 3  

          ทั้งนี้มิติด้านกฎหมายเป็นหนึ่งในมิติที่สำคัญที่จะทำให้การถ่ายโอนครั้งนี้เกิดระบบสุขภาพท้องถิ่นที่พึงประสงค์ และเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการดำเนินงาน รวมทั้งส่งผลต่อการสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทุกวิชาชีพที่ตัดสินใจเปลี่ยนสังกัดไปอยู่ภายใต้การบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังนั้นเพื่อให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์การดำเนินงาน โดยมีข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดเจน ในการนำไปสู่การปฏิรูปหรือปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง  และเพื่อให้เกิดระบบสุขภาพท้องถิ่นที่พึงประสงค์ สถาบันวิจัยระบบสารารณสุข (สวรส.) จึงสนับสนุนงานวิจัย “การศึกษาหน้าที่และอำนาจขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกในเรื่องการรับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก กรณีศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะด้านการปฏิรูปกฎหมายและแก้ไขอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลายงานวิจัย เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการถ่ายโอนให้บรรลุเป้าหมาย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ทำการศึกษาปัญหาและอุปสรรคด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการถ่ายโอนฯ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อปรับปรุงระเบียบและจัดทำแนวทางการแก้ไขที่เกี่ยวข้อง  โดย สวรส. และทีมวิจัย ได้จัดเวทีเสวนาคืนข้อมูลงานวิจัยดังกล่าวในเวที “ทิศทางและก้าวย่างสู่สุขภาวะที่ดียิ่งขึ้นฯ” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยระบบบริการสุขภาพ สวรส. นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่ อปท. นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์ ที่ปรึกษาด้านการแพทย์ อบจ.พิษณุโลก และทีมวิจัย ดร.คณิดา นรัตถรักษา อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นายธีรเดช นรัตถรักษา ผู้ก่อตั้งโรงฝึกพลเมืองพิษณุโลก ดำเนินการเสวนาโดย ศ.ดร.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 ณ ห้องประชุมสานใจ ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ

          ดร.คณิดา นรัตถรักษา อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นักวิจัยเครือข่าย สวรส. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ อธิบายว่า งานวิจัยได้หยิบยกกรณีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ของพื้นที่ อบจ.พิษณุโลก มาเป็นกรณีศึกษา เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะการปฏิรูปกฎหมายและแก้ไขอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลเบื้องต้นในปี 2566 อบจ.พิษณุโลก ได้รับโอน รพ.สต. มาแล้วรวม 37 แห่ง จากทั้งหมด 147 แห่งในจังหวัด หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 และมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. โอนย้ายตามความสมัครใจ ทั้งหมด 128 คน ในหลากหลายสาขาวิชาชีพ อาทิ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข แพทย์แผนไทย ทันตาภิบาล ฯลฯ และมีการเก็บข้อมูลตามแนวทางระบบสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (six building blocks) และเพิ่มอีกหนึ่งประเด็น คือประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชน  

          “จากการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ในส่วนของข้อความในกฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวกับการถ่ายโอนตามที่ระบุไว้ในคู่มือการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจ ในหลายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เช่น พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ฯลฯ มีการระบุข้อความไว้ชัดเจน หากแต่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดอย่างจริงจังและชัดเจน และในประเด็นระเบียบที่ว่าด้วยค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของ อปท. ไม่มีความชัดเจน ซึ่งควรลงไปดูในรายละเอียดต่อ และประเด็นการจัดสรรงบประมาณให้แก่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอน ยังได้ไม่ครบตามขนาดของ รพ.สต.” ดร.คณิดา ให้ข้อมูล
 
          ด้าน นายธีรเดช นรัตถรักษา ผู้ก่อตั้งโรงฝึกพลเมืองพิษณุโลก หนึ่งในทีมวิจัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความใส่ใจของหน่วยงานราชการส่วนกลางที่มีต่อกฎหมายการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ส่วนใหญ่เห็นว่าหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นไม่มีความพร้อมในการรับถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลาง แม้จะมีแผนและขั้นตอนการดำเนินการอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับความรับรู้เจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งพบว่ายังมีหลายหน่วยราชการไม่มีความเข้าใจถึงเจตนารมณ์การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. อย่างเพียงพอ จึงยังไม่มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เท่าที่ควร  ส่วนประเด็นอื่นๆ ถัดมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ที่สัดส่วนของคณะกรรมการฯ ยังไม่มีความหลากหลาย ขณะที่ประเด็นปัญหากฎระเบียบการบริหารงานบุคคล เช่น เมื่อมีการเปลี่ยนสังกัดหรือรับโอนข้าราชการในประเภทที่ต่างกัน จึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ฯลฯ

          ขณะที่ประเด็น “สถานะทางกฎหมาย” ของคู่มือการถ่ายโอนภารกิจฯ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ยังมีข้อถกเถียงหรือตีความว่าคู่มือดังกล่าวเป็นกฎหมายในระดับใด หรือเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติของ ก.ก.ถ. ฉะนั้นเมื่อปรากฏว่าส่วนราชการหรือหน่วยงานต่างๆ ละเลยล่าช้าในการปฏิบัติตาม จะมีมาตรการในการเร่งรัดให้ดำเนินการได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ทางทีมวิจัยมีข้อเสนอว่า มีหลายแนวทางในการแก้ไขปัญหา เช่น ให้ขยายความ อธิบาย หรือแก้ไขรายละเอียดในคู่มือการถ่ายโอนฯ หรืออาจเสนอคณะรัฐมนตรี แก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง หรืออาจกำหนดเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อาทิ ควรมีการจัดตั้งข้อบัญญัติงบประมาณของ อบจ. ให้ชัดเจน ควรมีแนวนโยบายการพัฒนาประสิทธิภาพหรือศักยภาพของ รพ.สต. ให้มากขึ้น ควรออกประกาศเรื่องการทำความตกลงร่วมมือกันในการจัดทำบริการสาธารณะของ อปท. โดยเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ควรมีการประเมินผลหลังจากที่มีการถ่ายโอนฯ เพื่อการกำกับติดตาม และส่งเสริมให้ทุกวิชาชีพทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการแบ่งขอบเขตอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ อปท. เช่น กรณีเกิดโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ ควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสภาองค์กรชุมชน ให้มีความเชื่อมโยงกับบทบาทหน้าที่ของ อบจ. ควรมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณด้านการสาธารณสุขตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับ อปท. เช่น การระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อยาและเวชภัณฑ์ โดยแยกออกมาเฉพาะเรื่องให้ชัดเจน  อปท.ต้องมีหน้าที่ป้องกันการแพร่ระบาดหรือการฟื้นฟูผู้ติด
ยาเสพติด ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นใหม่ที่ อปท. ต้องดำเนินการ ฯลฯ

          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยระบบบริการสุขภาพ สวรส. ให้ความเห็นว่า ทิศทางการกระจายอำนาจเป็นเรื่องสากลที่ควรนำมาเป็นแนวทางในการปฏิรูปการดำเนินงานด้านต่างๆ ไม่ใช่แค่เพียงด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมที่มีมาอย่างยาวนาน ย่อมทำให้เกิดความเห็นที่หลากหลาย เกิดแรงต้าน ตลอดจนปัญหาทัศนคติ ที่ส่งผลต่อความมั่นใจของบุคลากร  สำหรับกรณีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. ประเด็นกฎหมายและระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ นับเป็นประเด็นสำคัญ ที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน รวมไปถึงความมั่นใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก ดังนั้นการศึกษาวิจัยเพื่อสะท้อนให้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เป็นข้อเสนอแนะในการปรับแก้และพัฒนาจุดต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน จึงเป็นข้อมูลสำคัญมาก และทีมวิจัยควรชี้ให้เห็นว่าในด้านกฎหมายทำให้เกิดการติดขัดอะไร อย่างไร พร้อมเสนอทางออกเพื่อการแก้ไขให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนอย่างมาก ตลอดจนสนับสนุนให้การถ่ายโอนภารกิจฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
 
          นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจฯ ครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญของการปฏิรูประบบสาธารณสุข ที่ต้องการให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็งมากขึ้น พร้อมขยายฐานการให้บริการในระดับพื้นที่มากขึ้น ซึ่ง รพ.สต. ต้องเข้าใจบทบาทของตนเอง และพร้อมที่จะยกระดับขึ้นมาเป็นที่พึ่งของประชาชน มากกว่าการเป็นแค่หน่วยดูแลสุขภาพบื้องต้น

          ขณะที่ นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ย้ำว่า ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งมีรายละเอียด 245 ภารกิจที่จะต้องถ่ายโอนไปยังท้องถิ่น และหนึ่งในนั้นคือสถานีอนามัยหรือ รพ.สต. ได้มีการระบุเอาไว้ชัดเจนว่า หน่วยงานเจ้าของภารกิจเดิม ยังต้องมีหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้ความช่วยเหลือและกำกับดูแลร่วมกันกับ อปท. ดังนั้นเมื่อถ่ายโอนภารกิจไปแล้ว ไม่ได้ตัดขาดจากกัน และต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านสุขภาพที่ไม่ต่างจากเดิม หรือดีกว่าเดิม 

          ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสุขภาพ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบบริการ กำลังคน ระบบข้อมูล ระบบยา ระบบการเงินการคลัง การกำหนดนโยบาย รวมถึงมิติด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นหนึ่งงานวิจัยที่มีการศึกษาในบริบทกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่ง สวรส. ยังมีงานวิจัยอีกหลายมิติในอีกหลายจังหวัดที่พยายามหาคำตอบเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ เช่น ด้านกำลังคน หลังการถ่ายโอนกำลังคนเพียงพอหรือไม่ สมเหตุผลหรือไม่ ช่องว่างระหว่างความจำเป็นด้านสุขภาพและบริการสุขภาพเป็นอย่างไร โดยให้ความสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิมีความสัมพันธ์กับกำลังคน ถ้าจำนวนผู้ให้บริการมีไม่เพียงพอก็จะส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการ นอกจากนั้นยังมีประเด็นพื้นที่ที่มี รพ.สต.ที่ไม่ถ่ายโอนและถ่ายโอนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน บางพื้นที่เริ่มเกิดทัศนคติไปในทิศทางที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีผลต่อการปฏิบัติงานร่วมกัน หลังจากนี้ สวรส.จะทยอยนำเสนอผลงานวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบายแต่ละเรื่องต่อผู้กำหนดนโยบายเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

          ทั้งนี้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากงานวิจัยเรื่องการศึกษาหน้าที่และอำนาจขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกในเรื่องการรับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกฯ ดังกล่าว ได้นำไปเสนอต่อนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในการพิจารณาปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
................................
 
ข้อมูลจาก
- โครงการวิจัย การศึกษาหน้าที่และอำนาจขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกในเรื่องการรับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก กรณีศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะด้านการปฏิรูปกฎหมายและแก้ไขอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
- เวทีเสวนาหัวข้อ “ทิศทางและก้าวย่างสู่สุขภาวะที่ดียิ่งขึ้น: การคืนข้อมูลจากการศึกษาหน้าที่และอำนาจขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เรื่องการรับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก”
1ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17233627.pdf    
รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้