4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ผลวิจัยพบ ประชากรข้ามชาติใน กทม.เกือบ 5 แสน นักวิจัยชี้ เร่งสร้างระบบบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุม

เด็กต่างด้าวแรกเกิด - 1 ปี รับวัคซีนน้อยกว่าเด็กไทยถึง 1 ใน 3 และน้อยกว่า 40-50 % ในช่วงอายุ 1 - 4 ปี ส่งผลไทยเสี่ยงเกิดโรคติดต่อที่ป้องกันได้ หากไม่มีมาตรการรองรับ ย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้

นพ.พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส. “ที่ผ่านมายังไม่พบฐานข้อมูลจากแหล่งใดที่สามารถตอบคำถามเรื่องจำนวนประชากรข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง  ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่แตกต่างกันตามวิธีการสำรวจหรือการคาดประมาณของแต่ละหน่วยงาน  โดยที่ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์จากการสำรวจภาคสนาม  ตลอดจนมีข้อมูลเพียงบางส่วนเท่านั้น  เช่น ข้อมูลผู้จดทะเบียนแรงงาน  ข้อมูลผู้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ฯลฯ ข้อเท็จจริงคือยังมีกลุ่มที่อยู่นอกฐานจำนวนมากที่ไม่ทราบว่ามีอยู่เท่าไร  ขณะที่ข้อมูลจำนวนประชากรข้ามชาติมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนการพัฒนาประเทศทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง  รวมทั้งการควบคุมป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคติดต่อ โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ฯลฯ ที่เชื่อมโยงและส่งผลกับคนไทยโดยตรง  ดังนั้น สวรส. จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับ Health Counterparts Consulting ซึ่งทำงานร่วมกับองค์การแพธ  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำวิจัย “การคาดประมาณประชากรและการประเมินอนามัยแม่และเด็กของประชากรข้ามชาติในกทม.” ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการคาดประมาณจำนวนประชากรข้ามชาติอย่างเป็นระบบด้วยวิธีการศึกษา กระบวนการเก็บข้อมูล  ตลอดจนความน่าสนใจของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการวิจัยถึงวิถีชีวิตของประชากรข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย”

รศ.ดร.กฤตยา  อาชวนิจกุล  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า “โจทย์สำคัญของงานวิจัยนี้คือ  จำนวนประชากรข้ามชาติในกทม.มีอยู่เท่าไร และมีวิธีใดที่จะพบจำนวนประชากรใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด  และการทำความเข้าใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอนามัยแม่และเด็กเพื่อนำผลไปพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับประชากรกลุ่มนี้  โดยการศึกษาจากข้อมูลหลายแหล่ง (Method/Data Source Triangulation) ได้แก่ 1.ฐานข้อมูลสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน  2.ฐานทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย  3.ฐานข้อมูลการสำมะโนประชากรและเคหะ สำนักงานสถิติแห่งชาติ  กับการเก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่ นำมาประกอบการวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการสนทนากลุ่มย่อย โดยสุ่มเลือกพื้นที่ใน 17 เขตปกครองของกทม. ที่ใช้แบบสอบถาม 2 ภาษาและทีมสำรวจชาวไทย พม่า และกัมพูชา ที่ผ่านการอบรมเสมือนการสัมภาษณ์จริงและการเก็บข้อมูลตามแนวทางมานุษยวิทยา   โดยก่อนการสำรวจจริงมีการตรวจสอบความถูกต้องของแผนที่ การสังเกตความเคลื่อนไหวในพื้นที่เพื่อกำหนดเวลาเก็บข้อมูลและการเลือกสัญชาติอาสาสมัครลงเก็บข้อมูลได้เหมาะสม  ตลอดจนการนัดหมายและแจกใบปลิวประชาสัมพันธ์การเก็บข้อมูลล่วงหน้า  โดยการลงเก็บข้อมูลมีทีมตรวจสอบและช่วยแก้ปัญหาในระหว่างกระบวนการเก็บข้อมูล  ทั้งนี้พบค่าประมาณจำนวนประชากรข้ามชาติในกทม. มีจำนวนมากที่สุด 684,485 คน ปานกลาง 497,407 คน และน้อยที่สุด 414,797 คน  โดยในจำนวนมากที่สุดมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ราว 40,000 คน  โดยค่าประมาณการนี้มีมากกว่าจำนวนประชากรที่จดทะเบียนแรงงาน”
นางทัศนัย  ขันตยาภรณ์  Health Counterparts Consulting (HCC)  กล่าวว่า  งานวิจัยนี้ยังเน้นการศึกษาทำความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอนามัยแม่และเด็กของประชากรกลุ่มนี้ด้วย  โดยพบว่า เป้าหมายการอพยพของประชากรกลุ่มนี้เพื่อทำงานหาเงิน   พบมีการคุมกำเนิดผิดพลาดสูง  โดยเด็กที่เกิดมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่ามาตรฐานมาก เนื่องจากแม่ต้องทำงานหนักตลอดการตั้งครรภ์ ประกอบกับการลาคลอดไม่ได้แม้ว่าจะมีการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เด็กไม่ได้รับนมแม่และไม่ได้รับการดูแลเรื่องวัคซีน โดยความครอบคลุมของวัคซีนในเด็กต่างด้าวแรกเกิด-1 ปี น้อยกว่าภาพรวมของเด็กไทยถึง 1 ใน 3 และน้อยกว่าถึง 40-50% ในช่วงอายุ 1-4 ปี  ส่งผลต่อการควบคุมโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในประเทศไทยหากไม่มีมาตรการรองรับ เพราะมากกว่าร้อยละ 90 ของเด็กต่างด้าวอายุ 0-2 ปีที่เกิดที่นี่ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศไทย และแม้ว่าจะมีการอพยพเด็กเล็กไปมา แต่การเคลื่อนย้ายจากประเทศต้นทางมาประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า ส่วนการฝากท้อง การคลอด การให้นมบุตร การรับวัคซีนพื้นฐานและการดูแลเมื่อลูกเจ็บป่วย พบว่าส่วนใหญ่ไปฝากท้องและคลอดที่โรงพยาบาล และตระหนักว่าควรพาลูกไปรับวัคซีนตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่ยังขาดความเข้าใจเรื่องการรับวัคซีนตามกำหนด ด้วยข้อจำกัดด้านภาษาในเอกสารต่างๆ  โดยในพื้นที่ที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนลงไปทำงานจะมีการรับรู้เรื่องดังกล่าวดีกว่า”

ด้าน นพ.พงษ์พิสทธิ์  จงอุดมสุข  กล่าวเพิ่มเติมว่า สวรส.  เล็งเห็นถึงปัญหานี้ที่ไม่ควรถูกละเลย  โดยหวังใช้ข้อมูลนี้จุดประเด็นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพื่อการแก้ปัญหา  จึงจัดให้มีเวทีนำเสนอผลการวิจัยตลอดจนข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ  ขึ้นในวันวันที่ 26 กันยายน นี้ ที่โรงแรมเดอะสุโกศล เพื่อร่วมระดมสมองหาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนต่อไป  โดย สวรส. ต้องการเห็นการประยุกต์ Model การวิจัยนี้ไปใช้ใน 10 จังหวัดแรกที่มีประชากรข้ามชาติอาศัยอยู่หนาแน่น  การพัฒนาระบบดูแลอนามัยแม่และเด็กที่เข้าถึงและเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการควบคุมป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลเชื่อมโยงกับสังคมไทยได้ในอนาคต” 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้