ข่าว/ความเคลื่อนไหว
“เด็กพิเศษ” หนึ่งในกลุ่มเปราะบางของสังคม ที่มีความต้องการพิเศษ จากสภาพความพิการ บกพร่อง หรือความแตกต่างทางร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ ที่จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยดีกับกลุ่มของ “เด็กออทิสติก” (Autism) ที่มีความผิดปกติของโครงสร้างหรือสารเคมีบางอย่างในสมอง ทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษาและสังคม กับอีกกลุ่มคือ “เด็กดาวน์ซินโดรม” (Down syndrome) ที่มีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ส่งผลให้มีใบหน้าเป็นลักษณะเฉพาะ และมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กปกติ
แน่นอนว่าเรื่องของการดูแลและให้การศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้ จำเป็นจะต้องอาศัยความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญของตัวครู อาจารย์ หรือผู้ดูแล ที่จะต้องมีความเข้าใจและสามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทย ได้มีการจัดระบบการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการเรียนการสอนที่เฉพาะเจาะจง เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษ โรงเรียนเด็กพิเศษ ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ภาคเอกชน โรงพยาบาลหรือมูลนิธิต่างๆ รวมไปถึงในลักษณะที่เรียนรวมกันกับเด็กปกติ หากแต่องค์ประกอบนี้ อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กพิเศษ เพราะยังมีส่วนที่เป็น “สภาพแวดล้อม” ซึ่งจะเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของการช่วยทำหน้าที่นี้
ทีมวิจัยของ รศ.ดร.นวลวรรณ ทวยเจริญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยเครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงเดินหน้าทำการศึกษาและทบทวนวรรณกรรมในเบื้องต้น ภายใต้โครงการวิจัย การพัฒนาสภาพแวดล้อมศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษและโรงเรียนเด็กพิเศษที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาการ: เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และเด็กออทิสติก เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และโควิด-19 ซึ่งพบว่ารูปแบบ “สถาปัตยกรรม” มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและออทิสติกได้จริง
ตัวอย่างกรณีศึกษาการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กออทิสติก ของวิทยาลัยสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้สร้างประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสสำหรับเด็กออทิสติกสเปกตรัม (ASD) โดยสร้างโครงสร้างพื้นผิวที่นุ่มและยืดหยุ่นสำหรับการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก หรือกรณีของสถาปนิกชาวออสเตรเลีย ได้ออกแบบโรงเรียนให้มีพื้นที่การเรียนรู้กลางแจ้งรอบๆ ลานสนาม ที่เชื่อมต่อกัน รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่รับแสงแดดได้โดยตรง
ขณะที่การศึกษาการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กดาวน์ซินโดรม ซึ่งการออกแบบโดยใช้โทนสีต่างๆ มีผลต่อการกระตุ้นพัฒนาการและการเรียนรู้ เช่น โครงการ “DOWN SYNDROME OF LOUISVILLE” ที่รัฐเครตักกกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการเลือกใช้บานเกล็ดภายในและพื้นที่สีเขียวทั้งหมด นอกจากนี้มีการเลือกการใช้สีโทนสดใสภายในอาคารเพื่อช่วยสร้างความสนุกสนานและประสบการณ์การเรียนรู้
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของงานศึกษาวิจัยต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ และพบว่าในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาประเด็นนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ทางเครือข่ายนักวิจัย สวรส.
จึงเดินหน้าพิสูจน์โดยการทดสอบในสถานที่จริง ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่รับผิดชอบในการดูแลเด็กพิเศษกว่า 500 คน ใน 16 อำเภอของจังหวัดอยุธยา
ตัวอย่างแนวทางการออกแบบสภาพแวดล้อม
รศ.ดร.นวลวรรณ เล่าว่า ภายหลังการศึกษาและปรับปรุงห้องเรียนต้นแบบ พร้อมวัดผลก่อน-หลัง พบว่าพัฒนาการของเด็กทั้ง 2 กลุ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และสภาพแวดล้อมที่ออกแบบใหม่นี้ยังมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ได้อีกด้วย
“หลักๆ เราใช้วิธีกระตุ้นเด็กด้วยสีสันต่างๆ ที่ใช้ภายในห้อง การจัดวางโต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการใช้แสงสว่าง อย่างเช่น เด็กออทิสติกที่มักจะวอกแวก อยู่ไม่นิ่ง หรืออารมณ์รุนแรง ห้องที่เป็นลักษณะโทนเย็น ก็จะช่วยให้เกิดความสงบมากขึ้น ขณะที่เด็กดาวน์ซินโดรมที่มักอยู่นิ่ง ห้องในลักษณะโทนร้อน ก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ มีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น” นักวิจัยอธิบาย
สำหรับผลการศึกษาที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการวิจัยฯ รศ.ดร.นวลวรรณ หวังว่าจะเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษ และโรงเรียนเด็กพิเศษแห่งอื่นๆ ที่เหมาะสมต่อไป
นางอำไพพิศ บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการดูแลเด็กพิเศษอาจมุ่งเน้นไปในส่วนของการศึกษา การพัฒนาบุคลากร และอาจลืมมองไปถึงรายละเอียดบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสี รูปทรง หรือการใช้แสงสว่าง จนเมื่อมีโครงการวิจัยฯ เข้ามา จึงทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกับพัฒนาการของเด็ก
“พอเราเห็นความเปลี่ยนแปลงของห้องเรียนก็ตื่นเต้นแทนเด็ก ด้วยสีสันที่เห็นได้ว่าช่วยจูงใจให้เด็กอยากเข้าห้องเรียน อย่างเด็กดาวน์ซินโดรมจะแสดงออกมาชัดเจนว่าตื่นเต้นกับห้องเรียนใหม่ เข้ามาลูบสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ขณะเดียวกันเราก็ได้ห้องเรียนที่เป็นระเบียบ โปร่งสบาย เหมาะกับการเรียนมากขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น หรือในส่วนของสวน จากเดิมที่เป็นเพียงสนามเด็กเล่น พอมีเรื่องของสี มีความแตกต่างของผิวสัมผัสเข้ามา ก็ช่วยให้เด็กเล่นแบบมีเป้าหมาย ได้ประโยชน์จากการเล่นมากขึ้น” นางอำไพพิศ ระบุ
ผอ.ศูนย์ศึกษาพิเศษฯ ระบุด้วยว่า หลังจากเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ทางศูนย์ฯ จึงมีความตั้งใจที่จะนำไปพัฒนาห้องเรียนอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กแต่ละกลุ่มต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ในส่วนของผู้ปกครองบางรายเอง ก็พบว่ามีความตั้งใจที่จะกลับไปปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในบ้านด้วยเช่นเดียวกัน หลังเห็นว่าลูกของตนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ขณะที่ ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กพิเศษหรือคนทั่วไป เป็นที่ทราบกันดีว่า สี นั้นมีผลต่อสภาพจิตใจของเราพอสมควร และงานวิจัยชิ้นนี้ก็ทำให้เราตระหนักได้ว่าสภาพแวดล้อมช่วยส่งผลต่อการเรียนรู้ และความปลอดภัยของเด็กพิเศษได้อย่างมาก อย่างไรก็ตามทาง สวรส. ยังอยากให้เกิดการช่วยกันคิดต่อ และมองอย่างเป็นเชิงระบบ ว่าเราจะขยายห้องเรียนเหล่านี้ไปสู่ที่อื่นๆ มากขึ้นได้อย่างไร
“อย่างที่นี่เป็นศูนย์ฯ หลักประจำจังหวัด และยังมีศูนย์ย่อยอยู่ในทุกอำเภอ จะมีการปรับแนวคิดเหล่านี้ไปสู่แห่งอื่นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน หรือในแง่ของการดูแลคนพิการด้านอื่นๆ จะสามารถปรับสภาพแวดล้อมการดูแลได้ด้วยหรือไม่อย่างไร ดังนั้นเราคงไม่หยุดแค่นี้ แต่ยังมีโจทย์ที่จะขยายผลต่อไปได้อีกมาก” ทพ.จเร กล่าว
ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของ สวรส. คือการให้ทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยในเชิงการแพทย์และสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น ความพยายามหาคำตอบว่าช่องว่างอยู่จุดใด จำเป็นต้องไปปรับแก้นโยบายหรือกฎหมายอะไรบ้าง และอีกส่วนสำคัญคือการดำเนินการนำร่องเพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง ที่จะสามารถนำไปสู่การขยายผลต่อไปได้มากขึ้น
“เมื่อมีการขยายผลมากขึ้น เราก็สามารถเรียนรู้ผ่านงานวิจัยได้มากขึ้น เช่นการเปรียบเทียบห้องเรียนที่ปรับกับที่ไม่ได้ปรับ หรือดูว่าผ่านไปในแต่ละปี พัฒนาการเด็กเป็นอย่างไร ดังนั้นระยะยาวจึงอาจเป็นในแง่ของการติดตาม และการถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัยต่างๆ ไปสู่ที่อื่นๆ เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ต่อไป โดยงานวิจัยรวมทั้งความรู้ใหม่ๆ
จะช่วยกระตุ้นให้สังคมรับรู้และเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาการของเด็กพิเศษ และป้องกันโควิด-19 อย่างเป็นระบบและมีหลักวิชาการรองรับไปพร้อมกัน” นพ.นพพร ทิ้งท้าย
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้