4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

3 ภาคี : สวรส.-ม.บูรพา-ป.ป.ส. จับมือพัฒนา 3 รูปแบบ ป้องกัน-แก้ไข-ฟื้นฟูปัญหายาเสพติด บนฐานงานวิจัยนวัตกรรม ยกระดับการพัฒนา สู่นโยบายแก้ปัญหายาเสพติดประเทศ

          จากข้อมูลของผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พบว่า ส่วนใหญ่ของผู้บำบัดยาเสพติด อยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี รองลงมาเป็นช่วง 25-29 ปี และ 30-34 ปี ตามลำดับ โดยยาบ้าและสารเสพติดกลุ่มแอมเฟตามีนยังคงเป็นยาเสพติดที่กลุ่มวัยรุ่นนิยมใช้ ด้วยเพราะราคาที่ไม่แพง ตามมาด้วยยาไอซ์ ที่ได้รับความนิยมไม่ต่างกัน ด้วยเพราะมีความบริสุทธิ์สูงราว 95% ทำให้ออกฤทธิ์เร็วและรุนแรงกว่า สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันวิจัยสังคมและวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2562 จากการสำรวจพื้นที่ภาคกลาง ครอบคลุมถึงภาคตะวันออกพบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดรายใหม่ ตั้งแต่ปี 2559-2562 คือ 9,905 ราย, 12,153 ราย, 14,879 ราย, และ 8,755 ราย ตามลำดับ และผู้เข้ารับการบำบัดส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.6 เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 18-24 ปี โดยเป็นการบำบัดรักษาจากการใช้ยาบ้ามากที่สุด ถึงร้อยละ 67.9 นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่ภาคตะวันออก มีการนำเข้ายาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการขายและแพร่ระบาดในพื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงในพื้นที่มีคนอพยพโยกย้ายจากต่างถิ่นมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและมีความสลับซับซ้อนทางสังคม ทำให้ปัญหายาเสพติดกลายเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ 

          ดังนั้นภาคตะวันออกหรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญในการพัฒนางานวิจัยและการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มหาวิทยาลัยบูรพา และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือในบันทึกความเข้าใจเพื่อดำเนินงานร่วมกัน โดยมี นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. ร่วมลงนามความร่วมมือฯ กับ รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา และคุณมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ส. เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี

          ทั้งนี้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดในภาคตะวันออก ที่ทั้งสามหน่วยงานจะขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน จะมีศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคตะวันออก ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยบูรพา ทำหน้าที่ด้านการวิจัยและวิชาการ ตลอดจนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาคประชาคม/ภาคีเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ด้าน สวรส. ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานวิจัย และการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเชิงระบบ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของภาคตะวันออก รวมทั้งการสนับสนุนของ ป.ป.ส. ที่จะนำข้อมูลองค์ความรู้จากงานวิจัยและงานวิชาการไปเผยแพร่ให้กับประชาชน ตลอดจนนำไปเป็นต้นแบบหรือข้อมูลสำคัญในการพัฒนานโยบายและแผนการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับประเทศต่อไป  

          ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวช่วงหนึ่งในพิธีลงนามความร่วมฯ ว่า ด้วยพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษ และมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งอาจเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ หรือเป็นต้นแบบของเมืองอุตสาหกรรมในอนาคต ดังนั้นพื้นที่ภาคตะวันออกจึงเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยควรมีการตั้งต้นด้วยการสร้างความรู้ จากการค้นหาปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ ภายใต้คำถามวิจัยที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอะไร และจะส่งผลลัพธ์อะไร เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และการแก้ปัญหายาเสพติด นอกจากนี้อาจต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน ควบคู่กับการทำงานร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการโดยเข้าใจบริบทของผู้ใช้สารเสพติดและพื้นที่เป็นสำคัญ ดังนั้นการลงนามความร่วมมือฯ ในวันนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งผลให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ภาคตะวันออกและประเทศโดยตรง

          การลงนามความร่วมมือในบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป ซึ่งภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว คาดหวังให้เกิดการสร้างความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือสนับสนุนการแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาคตะวันออกได้จริง รวมถึงสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและแลกเปลี่ยนความรู้กับศูนย์ยาเสพติดแต่ละภาค พร้อมทั้งพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การจัดทำแผนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของประเทศต่อไป 

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้