ข่าว/ความเคลื่อนไหว
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด พบว่า ‘ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย’ ได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย มีอัตราเติบโตมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ยังไม่มีการระบาด
สอดคล้องกับผลสำรวจจาก Euromonitor International 2021 ที่ช่วยฉายภาพให้ชัดเจนขึ้น โดยพบว่า มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร ในปี 2564 สูงถึง 45,646 ล้านบาท และคาดว่าหลังจากนี้จะเติบโตขึ้นอีก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ภายในปี 2569 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะโตถึง 5.95 หมื่นล้านบาท หรือเฉียดๆ 6 หมื่นล้านบาท1
แน่นอนว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ครอบคลุมรวมถึง “ยาจากสมุนไพร” (ยาตามองค์ความรู้ดั้งเดิม, ยาพัฒนาจากสมุนไพร) ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย ทั้งในเชิงการสร้างเศรษฐกิจ และการดูแลรักษาสุขภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมุนไพรเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ เป็นภูมิปัญญา เป็นฐานทุนเดิมที่เข้มแข็ง เมื่อได้รับการต่อยอด พัฒนา ยกระดับ ท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์ก็จะหมุนเวียนและกระจายไปตามภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศ ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูก ภาคธุรกิจผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม และย้อนกลับคืนมาสู่รัฐในรูปแบบภาษีด้วย
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกร ปี 2565 ระบุว่า ทุกวันนี้ตลาดยามีมูลค่าราว 2.3 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตราว 3-5% นั่นหมายความว่า หากประเทศไทยใช้ยาสมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาเคมีจากต่างประเทศสัก 10% ก็จะช่วยไม่ให้เงินต้องไหลออกไปนอกประเทศไม่ต่ำกว่า 1-2 หมื่นล้านบาท2
สำหรับการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาสมุนไพร แนวทางหนึ่งคือการผลักดันให้เกิดการจ่ายยาผ่านระบบหลักประกันสุขภาพ ได้แก่ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อันเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุด มีผู้ใช้สิทธิราว 48 ล้านคน จึงอาจพูดได้ว่า “ระบบบัตรทอง” ถือเป็นยุทธศาสตร์ในการผลักดันให้เกิดการใช้ยาสมุนไพร
ที่น่าสนใจก็คือ ในภาพกว้างของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้ง 3 ระบบ พบว่าสัดส่วนการใช้ยาจากบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร คิดเป็นเพียง 1% เมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบันในบัญชียาหลักแห่งชาติ
คำถามคือในขณะที่ตลาดและความนิยมของสมุนไพรมีมากขึ้น เหตุใดสัดส่วนการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพฯ จึงไม่โตตาม
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ที่ปรึกษาคณะกรรมการกำกับทิศแผนงานวิจัยพัฒนาระบบยา สวรส. เสนอว่า หาก สปสช. สามารถผลักดันให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรใน “โครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ รับยาฟรีที่ร้านยา” ซึ่งมีกว่า 500 แห่งทั่วประเทศได้ ก็จะเป็นการสนับสนุนการใช้สมุนไพรในระบบหลักประกันฯ ให้มากขึ้น โดยอาจจัดคู่มือการใช้ยาไว้ให้กับเภสัชกร เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการจ่ายยามากขึ้น รวมถึงยังส่งผลดีต่อการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิด้วย นอกจากนั้น ใน 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยาสมุนไพรในบัญชียาหลักฯ ซึ่งก็เป็นยาที่ร้านยาจำหน่ายอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ยังมียาที่ควรสนับสนุนให้จ่ายในโครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ ยาที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือยาอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของสารสกัดสมุนไพร
รศ.ดร.จิราพร ยืนยันว่า รายการยาที่บรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ-บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เป็นยาที่ผ่านการกลั่นกรองอย่างเข้มงวด โดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนปัจจุบัน และเภสัชกรรม ทำหน้าที่ประเมินอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้รายการยาที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ตลอดจนความปลอดภัย จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุป ทางคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักฯ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ต้องพิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป ประชาชนและบุคลากรสุขภาพจึงเชื่อมั่นและมั่นใจได้อย่างแน่นอน
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้