ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุม “เปิดพื้นที่วิจัยระบบสุขภาพ สู่การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์” เพื่อชี้แจงกรอบงานวิจัยปีงบประมาณ 2567 ภายใต้ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งของสังคมในทุกมิติ โดยเน้นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติเรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมทั้งการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักวิจัย นักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจนผู้สนใจกว่า 300 คน เข้าร่วมฟังการประชุมและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งแบบ online และ onsite เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอัศวิน กรุงเทพฯ
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวในการบรรยายเรื่อง “เปิดพื้นที่วิจัยระบบสุขภาพ สู่การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์” ว่า แนวคิดส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือการพยายามผลักดันให้งบวิจัยของประเทศเป็นสัดส่วน 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) รวมทั้งมีการจัดระบบวิจัยในภาพรวมให้มีการวิจัยมุ่งเป้าเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ โดยแต่ละหน่วยงานมีการบริหารจัดการงานวิจัยไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน และทุกหน่วยงานที่บริหารจัดการทุนวิจัยของประเทศ ต้องขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายตามวัตถุประสงค์และเกิดผลสัมฤทธิ์ (Objective and Key Results: OKRs) ที่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้จริง นอกจากนี้กรอบการวิจัยในการสนับสนุนทุนวิจัยในแต่ละปี ต้องดูแนวโน้มที่เกิดขึ้นในสถานการณ์สังคมด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อาทิ โครงสร้างประชากร ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การขยายตัวของเมือง การกระจายอำนาจ ฯลฯ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข โดยยังคงอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดหลักของ six building blocks ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาระบบสุขภาพให้มีความยั่งยืน ดังนั้นนักวิจัยที่จะเสนองานวิจัยเข้ามารับทุน ต้องพัฒนาโจทย์วิจัยที่สามารถเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน และเป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมี OKRs เป็นเครื่องมือในการตั้งเป้าหมายของงานวิจัยและกำหนดสิ่งที่จะวัดผลให้สะท้อนเป้าหมายได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2567 นี้ สวรส. มีเป้าหมายในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการแข่งขันและพึ่งตนเอง โดยการสร้างความสามารถและยกระดับการให้บริการการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ เพื่อให้เกิดบริการการรักษาที่มีความแม่นยำสูง รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ โดยการพัฒนาระบบบริการเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ การพัฒนาระบบสุขภาพในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและภัยสุขภาพ และการพัฒนาความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งมีผลสัมฤทธิ์สำคัญที่จะส่งต่อให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงระบบในระหว่างปี 2566-2570 อาทิ มีการบูรณาการระบบสุขภาพระดับประเทศหรือพื้นที่ที่ทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่และโรค NCD เพิ่มขึ้นร้อยละ 80, มีข้อเสนอเชิงนโยบาย มาตรการ และการบริหารจัดการของระบบการเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศโดยการใช้การวิจัยและการประเมินผลเชิงพัฒนา ทั้งในระดับประเทศและพื้นที่ เพิ่มขึ้นจำนวนปีละ 1 ชุด, มีจำนวนเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 100 ชิ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่และโรค NCD รวมทั้งนำไปใช้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการได้มากยิ่งขึ้น ฯลฯ
สำหรับด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปลดล็อกความเป็นเจ้าของงานวิจัยและนวัตกรรม และทำให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางมากขึ้น ตลอดจนผู้ใช้ประโยชน์ก็สามารถเข้าถึงนวัตกรรมงานวิจัยได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง ทั้งการใช้ประโยชน์ในมิตินโยบาย มิติเศรษฐกิจ และมิติสังคม
นอกจากนี้ ผู้บริหารและผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ได้แก่ ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์, ทพ.จเร วิชาไทย, ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ, ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี และคุณบุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ได้ร่วมนำเสนอกรอบประเด็นวิจัย ภายใต้ 2 แผนงานคือ แผนงานด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยมีแผนงานวิจัยย่อยได้แก่ การสร้างความสามารถและยกระดับการให้บริการการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยกระดับการให้บริการจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ และสามารถให้บริการโดยโรงพยาบาลในประเทศได้อย่างแพร่หลาย และแผนงานยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพให้พร้อมรับมือกับโรคระบาดระดับชาติ โดยมีแผนงานวิจัยย่อยได้แก่ การพัฒนาระบบบริการ (งานวิจัยจัดการเชิงระบบเพื่อสนับสนุนการบริหารเวชภัณฑ์ของประเทศ, งานวิจัยเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์, งานวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์, งานวิจัยระบบข้อมูลสุขภาพ), การพัฒนาความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ (งานวิจัยประเมินความคุ้มค่าบริการสุขภาพเพื่อการกำหนดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, งานวิจัยเพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้แก่กลุ่มเปราะบาง, งานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการแบบเน้นคุณค่า, งานวิจัยพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน), การพัฒนาระบบสุขภาพในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและภัยสุขภาพ (งานวิจัยกำลังคนด้านสุขภาพ, งานวิจัยระบบบริการสุขภาพ, งานวิจัยระบบอภิบาลสุขภาพ) เพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศให้พร้อมรับมือกับโรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกแผนงานให้ความสำคัญกับการตั้งโจทย์วิจัยที่ตรงกับความต้องการ และสามารถแก้ปัญหาเชิงระบบได้อย่างชัดเจน โดยควรจัดทำข้อเสนองานวิจัยให้ชัดว่า งานวิจัยแก้ปัญหาอะไร ผลที่จะเกิดขึ้นคืออะไร และจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างไร พร้อมกับมีการศึกษาข้อมูลสถานการณ์จริงที่เกี่ยวข้อง และความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ควรเป็นการวิจัยที่มีกระบวนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เกี่ยวข้องหลากหลายสาขา เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์และสะท้อนปัญหาอย่างรอบด้าน รวมถึงควรมีการบริหารจัดการความเสี่ยงตลอดการดำเนินงานวิจัย
ทั้งนี้ สวรส.จะเปิดรับข้อเสนองานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-31 มี.ค. 2566 นี้ โดยสามารถดูรายละเอียดกรอบการวิจัยปีงบประมาณ 2567 ได้ทางเว็บไซต์ สวรส. www.hsri.or.th หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ โทร 0 2027 9701 ต่อ 9042, 9046, 9061
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้