4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

“ภาวะสมองเสื่อม” เสี่ยงเกิดในหลายกลุ่มวัย รู้ก่อน-รักษาก่อน ชะลอการเกิดโรค ลดค่าใช้จ่ายการรักษา เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและครอบครัว

          ภาวะสมองเสื่อม ภัยเงียบหนึ่งที่มาพร้อมกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลในปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี อยู่ร้อยละ 14 เท่ากับประมาณ 10 ล้านคน และข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ความชุกของภาวะสมองเสื่อมในคนอายุมากกว่า 65 ปี ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ร้อยละ 4.0 จึงคาดการณ์ได้ว่า ประเทศไทยมีผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมอยู่กว่า 400,000 คน ซึ่งในตัวเลขนี้ ยังไม่ได้นับคนที่อายุน้อยกว่า 65 ปี และผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมแฝงอยู่แต่ยังไม่แสดงอาการ  นอกจากนี้ ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม 400,000 คนในประเทศไทย มักเป็นโรคอัลไซเมอร์ และมาพบแพทย์เพื่อรักษาเมื่อมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นแล้ว   

          สัญญาณของภาวะสมองเสื่อมที่อาจสังเกตได้ เมื่อการทำงานของสมองเริ่มถดถอยด้านใดด้านหนึ่งลงไป เช่น ด้านความจํา ด้านภาษา ด้านการประมวลผล ด้านสมาธิ ฯลฯ โดยจะเริ่มสูญเสียเซลล์สมองจากส่วนหนึ่งแล้วค่อยลุกลามไปยังสมองอีกส่วนหนึ่งอย่างช้าๆ และเมื่อเวลาผ่านไป ความผิดปกติเหล่านี้จะปรากฏชัดเจนขึ้นจนคนรอบข้างเริ่มสังเกตเห็นอาการต่างๆ เช่น ทํากิจวัตรประจําวันที่คุ้นเคยไม่ได้เหมือนเดิม ลืมคำศัพท์ง่ายๆ ใช้คำศัพท์ผิดความหมาย หลงวันเวลา บอกที่อยู่บ้านตนเองไม่ได้ มีการตัดสินใจไม่เหมาะสม เช่น เปิดพัดลมแรง ทั้งที่อากาศเย็น บวกลบคูณหารตัวเลขไม่ได้เหมือนก่อน อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ฯลฯ  และแม้ว่าความสูงวัยหรืออายุที่มากขึ้นจะเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับต้นๆ ของการเกิดภาวะดังกล่าว แต่จริงๆ แล้วมีสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมนี้ เช่น โรคความเสื่อมของระบบประสาท ที่เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง ทำให้สมองค่อย ๆ สลายไป การมีโรคของหลอดเลือดทำให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนทําให้การทํางานของสมองโดยรวมเสื่อมลง การมีภาวะเลือดคั่งหรือมีเนื้องอกในสมองหรือการเกิดอุบัติเหตุอื่นๆ การเกิดภาวะที่ทําให้สมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทําให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ทั้งสิ้น ดังนั้นภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดขึ้นได้ในกลุ่มวัยอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่กลุ่มวัยสูงอายุเท่านั้น  รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น การศึกษาต่ำ ทำให้ขาดโอกาสในการบริหารสมอง หูหนวก อุบัติเหตุศีรษะกระแทก ความดันโลหิตสูง การบริโภคแอลกอฮอล์ที่มากเกิน โรคอ้วน บุหรี่ โรคซึมเศร้า การถูกสังคมทอดทิ้ง การไม่ออกกำลังกาย มลพิษทางอากาศ และเบาหวาน

          การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูงในระยะยาว รวมถึงส่งผลต่อภาระด้านการเงินการคลังในระบบสุขภาพ  และแม้ภาวะสมองเสื่อมจะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่การป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือชะลอการเกิดโรคให้ช้าที่สุดก็เป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการดูแลที่เหมาะสมและมีคุณภาพ  นพ.ภูษณุ ธนาพรสังสุทธิ์ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิจัยเครือข่าย สวรส. ให้ข้อมูลว่า โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทชนิดหนึ่ง และเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของภาวะสมองเสื่อม มีระยะฟักตัว 10-15 ปี ก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการ อาจเรียกได้ว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์แฝง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ สามารถทำงานได้ตามปกติ จนเมื่อการดำเนินของโรคไปถึงจุดที่อาการเริ่มปรากฎ ผู้ป่วยก็สูญเสียเนื้อสมองไปมากแล้ว และส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมที่ฟื้นฟูหรือกู้สุขภาวะของสมองได้ยาก  โดยทั่วไปการตรวจโรคอัลไซเมอร์ก่อนแสดงอาการมี 2 วิธี ได้แก่ 1.การทำ PET Scan (Positron Emission Tomography) เป็นการใช้ภาพวินิจฉัยการทำงานของอวัยวะและเนื้อเยื่อภายในร่างกาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการตรวจค่อนข้างแพง  2.การเจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อนำน้ำไขสันหลังมาตรวจวัดระดับโปรตีนที่ก่อโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งวิธีการนี้มีผู้เข้าถึงและเข้ารับการตรวจน้อย เนื่องจากกลัวการเจ็บตัวจากกระบวนการเจาะน้ำไขสันหลังที่อาจเกิดขึ้นได้  

          ปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนางานวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การรองรับโรคความเสื่อมของระบบประสาท โดยการพัฒนาตัวชี้วัดระดับโมเลกุล ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พัฒนาวิธีการตรวจโรคความเสื่อมของระบบประสาทชนิดต่างๆ ในเลือดที่รวดเร็วและแม่นยำ ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ เพื่อนำไปสู่ระบบการวินิจฉัยและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นข้อมูลในการคาดคะเนภาระทางเศรฐกิจและสังคมของประเทศอันเนื่องมาจากโรคความเสื่อมของระบบประสาท รวมถึงหาวิธีการสังเคราะห์โปรตีนสารตั้งต้นและสารเทียบคุณภาพสำหรับการตรวจหาการม้วนพับของโปรตีนในโรคความเสื่อมของระบบประสาท เพื่อลดการนำเข้าสารดังกล่าว เนื่องจากมีราคาแพง ตลอดจนการสร้างฐานข้อมูลต่างๆ ที่สัมพันธ์กับอาการในกลุ่มโรคความเสื่อมของระบบประสาท และนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมที่เหมาะสมกับบริบทของคนไทย รวมทั้งส่งต่อความรู้เพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมต่อไป 

          นพ.ภูษณุ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการสนับสนุนทุนวิจัยของ สวรส. ทีมวิจัยได้มีการพัฒนาแนวทางปฏิบัติทางคลินิก และทดสอบความแม่นยำของการตรวจเลือดโดยใช้เทคนิคทางอิมมูนวิทยาหรือวิทยาภูมิคุ้มกันในการตรวจเลือดแทนการเจาะน้ำไขสันหลัง โดยใช้เครื่องตรวจที่มีชื่อว่า Simoa (Single molecule array) และเครื่อง LC-MS (Mass spectrometer) เพื่อตรวจสาร Phosphorylated Tau ในเลือด ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัลไซเมอร์แฝง และสาร Neurofilament light chain ซึ่งเป็นการตรวจการสูญเสียของเนื้อสมอง ซึ่งวิธีนี้ช่วยตอบโจทย์ทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับวิธีการตรวจแบบเดิมที่ใช้อยู่ ลดความซับซ้อนและความเจ็บตัวในการตรวจหาภาวะสมองเสื่อมแฝง และยังได้ผลการตรวจที่แม่นยำถึง 88% ใกล้เคียงกับผลการตรวจในต่างประเทศ  และที่สำคัญวิธีเจาะเลือดตรวจสารโปรตีนที่ก่อโรคอัลไซเมอร์ดังกล่าว ยังเป็นการเพิ่มอัตราการเข้าถึงการบริการที่ง่ายกว่าวิธีเดิม  นอกจากนี้การตรวจก็ง่าย สะดวก และปลอดภัย ผู้รับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนเข้ารับการเจาะเลือด โดยเจาะเลือดครั้งเดียว เพียง 10 ซีซี แล้วนำผลจากการเจาะเลือดไปประมวลกับผลการทำแบบทดสอบความสามารถของสมอง และแปรผลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

          อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยเสี่ยงทางด้านร่างกายและสมองแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางสังคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มลภาวะทางอากาศ โรคซึมเศร้า รวมถึงการถูกครอบครัวหรือสังคมทอดทิ้งให้ผู้สูงอายุต้องใช้ชีวิตเพียงลำพัง เหล่านี้ก็ส่งผลต่อโอกาสของการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน  ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ต้องการความร่วมมือร่วมใจของคนในสังคมที่จะช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์ เพื่อให้เราทุกคนห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ไปด้วยกัน

          ภาวะสมองเสื่อม เป็นภาวะหนึ่งของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ที่จำเป็นต้องพัฒนางานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ย้ำความสำคัญว่า ปัจจุบันภาวะสมองเสื่อมถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนหลายกลุ่มวัยมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้สูงอายุเท่านั้น และภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพระยะยาวของประเทศในการรักษาโรคดังกล่าวมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและครอบครัวที่ต้องดูแล ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาความรู้จากงานวิจัยคือ การคัดกรองโรคให้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และการวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำตั้งแต่ยังไม่มีอาการ รวมถึงพัฒนาความสามารถในการพยากรณ์ความรุนแรงในแต่ละคนด้วยวิธีที่ง่ายและราคาถูก เพื่อทำให้สามารถคาดคะเนอุบัติการณ์ของภาวะสมองเสื่อมได้ในอนาคต  ตลอดจนสามารถนำไปจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ทั้งด้านการป้องกัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การสร้างแนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วย นอกจากนั้นยังคาดหวังที่จะขยายศักยภาพในการตรวจตัวชี้วัดระดับโมเลกุลดังกล่าว ให้สามารถตรวจได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น และผลักดันเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคต

          ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถรับบริการตรวจเลือดหาสารโปรตีนที่ก่อโรคอัลไซเมอร์แฝง และสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โทร.0-2256-4000 ต่อ 3562

..................................
ข้อมูลจาก
- วิจัยยุทธศาสตร์เพื่อการรองรับโรคความเสื่อมของระบบประสาท: การพัฒนาตัวชี้วัดระดับโมเลกุล, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
- ยากันลืม: คู่มือป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ, โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)

 

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้