4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

หายนะ "มหาอุทกภัย" ปี 54 จากบทเรียนราคาแพง สู่แผนรับมือในอนาคต

          นพ.สุรวิทย์  คนสมบูรณ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  สถานการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ทำให้ตระหนักได้ว่า อุทกภัยตลอดจนภัยธรรมชาติต่างๆ ไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ดังเช่นเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ที่พวกเราคนไทยจำได้ไม่มีวันลืม  และประจักษ์ชัดว่า หากไม่มีการเตรียมความพร้อม หรือขาดการทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมา ตลอดจนการค้นคว้าหาข้อมูลหรือการศึกษาวิจัยเพื่อรับมือกับสถานการณ์ครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้อีก เราอาจต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินซ้ำรอยเดิมหรือมากขึ้น รวมทั้งประเทศก็จะต้องเสียงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูเยียวยาหลังภัยพิบัติมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ไม่สามารถนำเงินไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่ สำหรับรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและมีนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อเตรียมรับมืออย่างเป็นระบบ ได้แก่ การป้องกันและลดผลกระทบ การเตรียมความพร้อม การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการจัดการหลังเกิดภัย โดยเรื่องการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในเหตุการณ์ภัยธรรมชาติต่างๆ จะมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ 

          ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับบทบาทและวิธีดำเนินงานให้เป็นเชิงรุกที่เข้าถึงประชาชนและเข้ากับสถานการณ์ปัญหามากขึ้น เช่น การจัดทีมดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน การเปิดช่องทางใหม่สายด่วนคลายเครียดช่วงน้ำท่วม 1667 การดูแลเรื่องน้ำท่วมขังกับปัญหายุงลาย ฯลฯ ตลอดจนการให้ความรู้ในเรื่องที่จำเป็น เช่น การป้องกันและปฐมพยาบาลจากไฟดูด  การปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากอาการบาดเจ็บต่างๆ  การเตรียมยาสามัญประจำบ้านให้พร้อมใช้  เป็นต้น  ซึ่งจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปีที่ผ่านมาทำให้หน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ ได้เรียนรู้บทเรียนจากการทำงานในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น  ส่งผลดีต่อการปรับแนวทางการทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีก หากต้องเผชิญภัยพิบัติในอนาคต

          นส.รัจนา  เนตรแสงทิพย์  รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ  เผยผลการสำรวจครัวเรือนที่ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วมว่า  ในช่วงเดือน ก.ค. - ธ.ค. 2554  ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมถึง 61 จังหวัด ในจำนวนนี้เป็นครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมถึง 3.9 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 19 ของครัวเรือนทั้งประเทศ) และมีสมาชิกในครัวเรือน 12.9 ล้านคน (ร้อยละ 19.6ของประชากรทั่วประเทศ) รวมถึงพบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมร้อยละ 51.1 ว่ายน้ำไม่เป็น และเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ว่ายน้ำได้น้อยมาก  ส่วนจำนวนผู้ที่ว่ายน้ำได้ มีเพียงร้อยละ 18.6 เท่านั้น นอกจากนี้ ในภาคแรงงาน ส่งผลให้มีการตกงานเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในทุกภาคลดลงจากในช่วงก่อนน้ำท่วมประมาณร้อยละ 10  ส่วนการเข้าถึงบริการสุขภาพพบว่า ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมมีสมาชิกได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากน้ำท่วมร้อยละ 8.1 ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตร้อยละ 0.3 มีสาเหตุมาจากไฟฟ้าดูด/ช๊อต เป็นต้น  ทั้งนี้เชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับการวางแผนรับมือและเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี

          ด้าน ศ.นพ.ไพบูลย์  สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ความเสียหายจากมหาอุทกภัย ปี 2554 ส่งผลให้แผ่นดินกว่า 36 ล้านไร่จมน้ำ  ครอบคลุมตั้งแต่เชียงใหม่จรดกรุงเทพฯ  สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน 12 ล้านคน อย่างน้อย 815 คนเสียชีวิต อย่างน้อย 5,388,204 คนกลายเป็นผู้อพยพ คนงานเกือบ 650,000 คนตกงานหรือได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจพินาศ 1.425 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 7 เท่าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2554 นอกจากนี้ สำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ได้จัดมหาอุทกภัยครั้งนี้เป็นความเสียหายขั้นหายนะ ขณะที่ธนาคารโลกจัดอันดับความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของโลก ถัดจากสึนามิในญี่ปุ่น แผ่นดินไหวในโกเบ และเฮอริเคนแคทรีน่า ดังนั้นระบบการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในเหตุการณ์มหาอุทกภัยจึงมีบทบาทสำคัญ และถูกคาดหวังให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำถึงแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพในช่วงน้ำท่วมว่า ประชาชนควรสำรวจตัวเองว่าตนเองมีความรู้เบื้องต้นด้านการดูแลสุขภาพยามที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน เช่น เรื่องการป้องกันและปฐมพยาบาลจากไฟช็อต  การช่วยเหลือตนเอง กรณีว่ายน้ำไม่เป็น  การเตรียมถุงยังชีพ  การเตรียมยาสามัญประจำบ้าน  อนามัยส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทั้งนี้กรมควบคุมโรคได้จัดทำ “คู่มือสำหรับป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม” ไว้เผยแพร่ให้กับประชาชนทั่วไป โดยสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th

          นพ.พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข  กล่าวว่า  ปัญหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 สร้างความเสียหายแก่ประเทศและประชาชนจำนวนมาก แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะได้พยายามอย่างเต็มที่ในการเยียวยาความเดือดร้อนดังกล่าว ดังนั้นหลายภาคส่วนจึงให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนเพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาสพัฒนา โดยเฉพาะหน่วยงานด้านสุขภาพ อาทิเช่น สำนักบริหารการสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฯลฯ ต่างได้ดำเนินการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการรับมือกับภัยพิบัติของหน่วยงานนั้นๆ ในโอกาสต่อไป ด้าน สวรส. ในฐานะองค์กรบริหารจัดการความรู้ในระบบสุขภาพจึงเห็นว่า บทเรียนที่หน่วยงานต่างๆ สรุปขึ้น เป็นข้อมูลและความรู้ที่มีคุณค่ายิ่ง แต่จะมีประโยชน์มากขึ้น หากได้บูรณาการความรู้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน เป็นความรู้เชิงระบบเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ ในอนาคต

          “สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 เรื่อง 1) ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้แสดงบทบาทเป็นเจ้าภาพหลักในรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพ และควรพัฒนาบทบาทดังกล่าวให้เข้มแข็งมากขึ้นโดยร่วมมือกับเจ้าภาพส่วนอื่น 2) ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมแผน ซ้อมแผน ทบทวนแผนเป็นระยะ 3) ควรพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์และสาธารณสุขยามภัยพิบัติ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน 4) ควรหาทำเลจัดตั้งศูนย์อพยพกรณีภัยพิบัติครอบคลุมทั่วประเทศ และเตรียมความพร้อมด้านอื่น อาทิ สวัสดิการต่อชีวิตและทรัพย์สิน สุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อม บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมนันทนาการ  5) ควรเสริมสร้างทักษะการเตรียมความพร้อมแก่ประชาชน อาทิ ความรู้ในการป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ความรู้ในการติดต่อขอความช่วยเหลือ และทักษะการเอาชีวิตรอด เช่น การว่ายน้ำ การปีนต้นไม้ เป็นต้น”  นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้