ข่าว/ความเคลื่อนไหว
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ระบบบริการสุขภาพปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น ประชาชนต้องการบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น อันเป็นผลเนื่องมาจากนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ยาและเทคโนโลยีใหม่ๆ มีราคาแพง ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นจนภาครัฐต้องเริ่มควบคุมค่าใช้จ่าย ขณะที่ผู้ให้บริการเกรงว่าจะทำให้กระทบกับคุณภาพบริการและความปลอดภัยของผู้ป่วย การแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนเช่นนี้ทำให้ต้องการ “ความรู้เชิงระบบ” ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อเสนอสำหรับการแก้ไขปัญหาที่จะไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา และระบบมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน นับเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่หน่วยงานสำคัญระดับประเทศ 3 หน่วยงาน ได้เห็นความสำคัญของประเด็นนี้ และร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ขึ้น เพื่อเป็นกลไกสร้างความรู้ พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย และพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นต่อไป
“งานวิจัยและพัฒนาระบบบริการสุขภาพ นับเป็นงานที่มีความท้าทาย ต้องการหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อให้ได้ความรู้และข้อเสนอต่างๆ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่ประเด็นด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สาธารณสุข ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน นอกจากนี้เรายังต้องเผชิญกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนมีข้อจำกัดลดลง มีการเคลื่อนย้ายของบุคลากร ผู้ป่วย โรคระบาดสามารถแพร่ได้อย่างรวดเร็ว ฯลฯ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และต้องหาทางรับมืออย่างรวดเร็ว” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
รศ.นพ.โศภณ นภาธร คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (Thailand Research Center for Health Services System : TRCHS) ในครั้งนี้เป็นการร่วมลงทุนของ 3 หน่วยงาน เพื่อตั้งหน่วยงานวิจัยหรือศูนย์วิจัยระดับประเทศ ที่มีภารกิจหลัก คือ ทำวิจัย สร้างเครือข่ายเพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริงเพื่อพัฒนานโยบายของประเทศ เสนอรูปแบบการจัดระบบหรือนำเสนอต้นแบบการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแก่หน่วยบริการต่างๆ และที่สำคัญ คือ ความเป็นกลางทางวิชาการ โดยจะมีความเชื่อมโยงกับนักวิชาการด้านระบบบริการสุขภาพในสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน โดยมุ่งวิจัยระบบบริการสุขภาพที่มีนัยในวงกว้างและผลกระทบสูง เน้นความต้องการของระบบและหน่วยงานผู้ใช้องค์ความรู้ โดยสร้างกลไกการจัดการอย่างเป็นระบบที่สามารถดึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยมาใช้ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านระบบบริการสุขภาพ
“สำหรับภารกิจและเป้าประสงค์ของศูนย์วิจัยฯ ที่สำคัญประกอบด้วย การจัดลำดับความสำคัญและกำหนดกลุ่มเรื่องและหัวข้อวิจัยที่มีความจำเป็นและลำดับความสำคัญสูงสำหรับพัฒนานโยบายเพื่อการจัดระบบบริการสุขภาพของประเทศ พร้อมจัดให้มีการทบทวนประเด็นดังกล่าวเป็นระยะ การบริหารจัดการแผนวิจัยบริการสุขภาพ ผ่านการสร้างความร่วมมือและระดมทรัพยากรให้เกิดการวิจัยในกลุ่มเรื่องและหัวข้อสำคัญที่กำหนด โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ในส่วนงานวิชาการและหน่วยงานอื่น ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย การพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่สนใจทำวิจัยเกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพ การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อพัฒนาเครือข่ายวิจัยระบบบริการสุขภาพระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน ฯลฯ”
รศ.นพ.โศภณ กล่าวด้วยว่า ผลที่คาดหวังจากการจัดตั้งศูนย์ฯ ในช่วง 3 ปีนี้ จะสามารถนำเสนอรายงานวิจัยที่ควรสนับสนุนให้เกิดในช่วงปี 2555 – 2558 ส่วนในแผนการจัดการงานวิจัยระบบบริการสุขภาพ คาดว่าจะมีคณะทำงานวิจัยไม่น้อยกว่า 4 คณะในปีแรก ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 10 ประเด็นใน 3 ปี นอกจากนี้ในแผนการสร้างศักยภาพด้านงานวิจัยระบบบริการสุขภาพ จะต้องมีนักวิจัยรุ่นใหม่ ไม่น้อยกว่า 10 คนตลอดจนการสร้างเครือข่ายนักวิจัย การจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้ สู่นักวิจัย นักวิชาการ รวมถึงผู้กำหนดนโยบายต่อไป
ทางด้าน นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) กล่าวว่า “สรพ. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพของระบบบริการสุขภาพ โดยใช้การประเมินตนเอง การเยี่ยมสำรวจจากภายนอกและการรับรองกระบวนการคุณภาพ เป็นกลไกกระตุ้น โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน และเป็นที่ไว้วางใจของสังคม สรพ.จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัย โดยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้ที่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ และตรงกับสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงของระบบบริการสุขภาพ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนี้เรามีแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยให้เกิดความปลอดภัยมากมาย แต่ในความเป็นจริงกลับมีข้อจำกัดของการปฏิบัติ ทั้งทางด้านทรัพยากร และวิธีการ ดังนั้นสรพ.จึงส่งเสริมให้มีการศึกษาข้อมูลสถานการณ์เกี่ยวกับการจัดการด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยเพื่อใช้ในการพัฒนาและกำหนดข้อเสนอเชิงนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยในอนาคต ซึ่งสรพ.มีความพร้อมด้านทรัพยากรและช่องทางของการเรียนรู้ค้นหาและแลกเปลี่ยนจากกระบวนการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการทำวิจัยบริการสุขภาพให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่สำคัญ และข้อเสนอแนะเชิงโยบายกับภาคส่วนต่างๆเพื่อให้เกิดระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับประชาชน”
อนึ่ง การลงนามร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 ถึง 31 กรกฎาคม 2558 มีการจัดระบบการทำงานงานวิจัยระบบบริการสุขภาพ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ 1.การวิจัยเพื่อประเมินสถานการณ์ เพื่อศึกษาเชิงระบาดวิทยา เชิงเศรษฐศาสตร์ หรือเชิงสังคมวิทยา 2.การวิจัยประเมินผล เน้นประเมินผลบริการสุขภาพ เพื่อทบทวนหรือพัฒนาบริการต่อเนื่อง 3.การวิจัยเพื่อเทียบเคียง เน้นค้นหาวิธีปฏิบัติที่ดีที่มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน เพื่อเป็นตัวอย่างแก่หน่วยบริการอื่นๆ 4.การวิจัยเพื่อการพัฒนา เพื่อสร้างหรือพัฒนาต้นแบบ และ 5.การวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ เน้นวิจัยเพื่อวางแผนการผลิต และการจัดการเชิงระบบเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จำเป็นต่อการดำเนินการในระบบบริการสุขภาพ
ทั้งนี้ การดำเนินการวิจัยโดยศูนย์วิจัยฯ นี้ไม่รวมงานวิจัยทางคลินิก ที่ไม่มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการจัดรูปแบบบริการ รวมถึงการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางคลินิกหรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ งานวิจัยด้านระบาดวิทยาของโรคหรือปัญหาสุขภาพที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพโดยตรง และ Health technology assessment ของยาหรือเทคโนโลยีสุขภาพชนิดใดชนิดหนึ่ง
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้