ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

“รับยาที่ร้านยา” การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบสุขภาพ : สิ่งดีๆ ที่ต้องการการเริ่มต้น ที่ยังคงต้องพัฒนาด้วยงานวิจัย บนเป้าหมายเพื่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการปฐมภูมิ

          จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบสุขภาพ ที่นับเป็นทางเลือกใหม่ของการดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองกับ “บริการเภสัชกรรมปฐมภูมิ” ที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายตัวและพัฒนามาตรฐานการดูแลสุขภาพและการให้บริการประชาชนอย่างเข้มข้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งร้านยาชุมชนอบอุ่นที่ร่วมให้บริการ ถูกระบุให้ต้องผ่านการอบรมและควบคุมโดยสภาเภสัชกรรม ซึ่งขณะนี้มีจำนวนกว่า 500 แห่งในประเทศไทย   

          ทั้งนี้ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่ร่วมเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรมในระบบบัตรทอง 30 บาท ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ตามที่บอร์ดของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562  โดยในปีงบประมาณ 2566 สปสช.ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรมขยายการให้บริการบัตรทอง 30 บาท ที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นเพิ่มเติม โดยเพิ่มบริการเภสัชกรรมปฐมภูมิเพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ในกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย

          ในขณะที่ในต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขและ NHS สหราชอณาจักร เตรียมออกประกาศให้เภสัชกรร้านยา สามารถจ่ายยารวมถึงยาต้านจุลชีพสำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย โดยนับเป็นครั้งแรกที่ สหราชอณาจักร จะอนุญาตให้เภสัชกรสามารถจ่ายยาโดยที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดแรงกดดันจากการที่ประชาชนต้องรอคิวพบแพทย์เป็นเวลานาน รวมทั้งการเดินขบวนของแพทย์และพยาบาลเพื่อเรียกร้องให้มีการลดความคับคั่งในการรับบริการโดยจำกัดปริมาณผู้ป่วยต่อวัน2

          ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน 3 มิติ โดยมิติแรกซึ่งน่าจะมีความสำคัญที่สุด คือมิติในด้านของประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจะสามารถเข้าถึงบริการและการรับยาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและลดการเดินทาง โดยการมารับยาที่ร้านยา รวมทั้งลดการรอคิวนานจากการรับบริการในสถานพยาบาล ด้านที่สองนับเป็นการยกระดับบทบาทของเภสัชกรในร้านยา ผู้ที่ถูกจัดให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งครอบคลุมถึง 16 กลุ่มอาการ โดยขอบข่ายการดูแลของเภสัชกรในร้านยา จะพัฒนาไปจากเดิม จากการเป็นเพียงผู้จำหน่ายจ่ายยา ให้พลิกศักยภาพแสดงบทบาทของวิชาชีพเภสัชกรที่ต้องทำหน้าที่ซักประวัติ/อาการ ให้คำแนะนำและให้ยารักษาตามอาการ รวมทั้งการติดตามและแนะนำให้พบแพทย์ในกรณีที่มีอาการซึ่งต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยตรง ทั้งนี้บนเจตนารมณ์ให้เกิดการใช้ยาสมเหตุผล เกิดประสิทธิภาพ และความปลอดภัย และในมุมสุดท้ายในด้านของสถานพยาบาล ที่จะสามารถลดความแออัด แบ่งเบาภาระงานของบุคลากรการแพทย์ในโรงพยาบาล หรือลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อโรคติดต่อที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันหรือในอนาคตก็ตาม

          ทั้งนี้ จากข้อมูลของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ พบว่า ในปี พ.ศ. 2560 มีจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ อยู่ที่กว่า 200 ล้านครั้ง/ปี ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และพบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้นมีเพียง 2 ใน 5 เท่านั้นที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ที่เหลือเป็นอาการที่สามารถรับบริการในศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิในชุมชนได้3

          ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าวงานวิจัย “ประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ระยะที่ 2” ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยใช้เวลาสำหรับการรอรับยาลดลงจากการรับยาที่ร้านยา รวมทั้งการรับยาที่ร้านยายังช่วยในเรื่องความสะดวกของการเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่าย นัดหมายเวลาไปรับยาได้ และเภสัชกรมีเวลาในการอธิบายการใช้ยา รวมถึงให้คำปรึกษาด้านสุขภาพกับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 

          นอกจากนั้น “แนวทางและความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนบริการด้านยาจากโรงพยาบาลสู่ร้านยาในชุมชน” อีกหนึ่งงานวิจัยของ สวรส. พบว่า ปัจจุบันร้านยาในชุมชนมีบทบาทการให้บริการมากกว่าการจำหน่ายยา เช่น บทบาทในการคัดกรองโรคเบื้องต้น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เครียดและซึมเศร้า บริการส่งเสริมป้องกันโรค อาทิ บริการจ่ายยาคุมกำเนิดหรือถุงยางอนามัย และจ่ายชุดทดสอบการตั้งครรภ์ หรือจ่ายยาแทนโรงพยาบาลเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล  ซึ่งเป็นบริการที่ประชาชนสามารถรับบริการได้ฟรี ซึ่งในด้านความต้องการรับบริการของประชาชน จากการสำรวจผู้ใช้บริการจำนวน 255 ราย ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พบว่า ผู้ใช้บริการกว่า 80% มีความต้องการไปรับยาที่ร้านยา  ส่วนปัจจัยที่ทำให้ประชาชนมีแนวโน้มมารับยาที่ร้านยาคือ  ปัญหาความแออัด และปัญหารอรับยานานที่โรงพยาบาลถึง 74.10%  โดยพบว่ามีการไปร้านยา 2-3 เดือนต่อครั้ง และมักไปร้านยาใกล้บ้าน/ที่ทำงาน ซึ่งมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก , สะดวก , ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ มีความต้องการสูงสุดในด้านบริการเพิ่มเติมจากร้านยา คือ การตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น รองลงมาคือ การดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการดูแลฉุกเฉินด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับยา รวมไปถึงการฉีดวัคซีน   

          ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า งานวิจัยของ สวรส. เป็นงานวิจัยเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะต่อผู้กำหนดนโยบายเพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาการออกแบบระบบบริการด้านยา ซึ่งในกรณีการรับยาที่ร้านยา งานวิจัยสะท้อนให้เห็นในแง่มุมของความต้องการของประชาชน รวมทั้งในด้านสถานพยาบาลสามารถลดความแออัด และเกิดระบบจัดการการพัฒนาศักยภาพของเภสัชกร ซึ่งเป็นบุคลากรในระบบสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากการเพิ่มบทบาทสำคัญให้กับเภสัชกรกรณีรับยาที่ร้านยา

          นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. ให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันนี้ว่า “การรับยาที่ร้านยา นับเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพที่สำคัญ ทั้งในมิติด้านยา ระบบบริการ บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนมิติด้านสิทธิประโยชน์ของประชาชน  ซึ่งเป็นการเริ่มต้นสิ่งที่ดีและมีความสำคัญ โดยยังคงต้องมีการพัฒนาจุดคานงัดต่างๆ ไปพร้อมกัน ทั้งด้านการรับรองคุณภาพร้านยาให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ  มาตรฐานแนวทางการรักษา/การให้บริการโดยเฉพาะในกรณีโรคสำคัญๆ  การเสริมศักยภาพเภสัชกรเพื่อทำบทบาทได้อย่างเต็มที่  ระบบการเบิกจ่ายที่มีประสิทธิภาพ  ตลอดไปจนถึงการเข้าถึงของประชาชนอย่างทั่วถึง  ซึ่งในบางประเด็นมีองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง  แต่การพัฒนายังคงไม่สิ้นสุด ยังคงต้องการข้อมูลเชิงประจักษ์จากการวิจัยซึ่งจะช่วยตอบคำถามประเด็นต่างๆ พร้อมกับการพัฒนาระบบสุขภาพได้อย่างมีทิศทาง รวมทั้งทำให้เกิดระบบปฐมภูมิที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”

          ทั้งนี้ 16 กลุ่มอาการที่นับเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อยซึ่งสามารถรับยาที่ร้านยา โดยผู้ใช้บริการสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถรับบริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเป็นไปตามแนวทางและมาตรฐานการให้บริการเภสัชกรรมปฐมภูมิโดยสภาเภสัชกรรม ได้แก่ ปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ ตกขาวผิดปกติ อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน บาดแผล ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู  

.................................

ข้อมูลจาก
1https://www.nhso.go.th/news/3805
2The Sunday Telegraph, Sunday 4 December 2022, No 3,207
3แนวทางและความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนบริการด้านยาจากโรงพยาบาลสู่ร้านยาในชุมชน, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุ

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้