เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 48/2565 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มี นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. นางสาวบุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้จัดการงานวิจัยและรักษาการหัวหน้าหน่วยงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย สวรส. ผู้แทนหน่วยงานเป็นผู้ชี้แจงในวาระจรเพื่อพิจารณาเรื่องที่ 6 “ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์” ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล
โดยสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 29 พฤศจิกายน 2565 วาระต่างประเทศ เรื่องที่ 29 รายงานว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
โดยร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ขอบเขตความร่วมมือ 1) พัฒนาบุคลากร ด้านการศึกษาและฝึกอบรม (joint degree programs, short courses, fellowship) 2) ความร่วมมือด้านการวิจัยในกลุ่มโรควินิจฉัยยาก มะเร็ง เภสัชพันธุศาสตร์ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคติดเชื้อ 3) การแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ด้านจีโนมิกส์ 4) สนับสนุนและส่งเสริมกลไกที่มีอยู่แล้วสำหรับรองรับฐานข้อมูลพันธุกรรมของประเทศ เพื่อการพัฒนาชุดข้อมูลจีโนมที่เข้าถึงร่วมกันได้สำหรับการสร้างแบบจำลองร่วมกัน
2. รูปแบบความร่วมมือ 1) การแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และเทคโนโลยี 2) การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนในการศึกษาดูงาน รวมถึงการเข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้นโดยประเทศคู่สัญญา 3) การอบรม สัมมนา workshop และ 4) การทำโครงการร่วมกัน (joint projects)
3. การบริหารความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับทิศ (A Joint Working Group on Genomics Cooperation) โดยมีประธานร่วมที่มาจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เพื่อทำหน้าที่กำกับติดตามเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
4. บันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้นับจากวันที่มีการลงนาม โดยความร่วมมือจะมีระยะเวลา 5 ปี และอาจขยายระยะเวลาต่อออกไปได้อีก 5 ปี เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะขอยุติความร่วมมือภายใน 3 เดือนก่อนวันที่บันทึกความเข้าใจฯ จะสิ้นสุด
..............................
ที่มา (วาระต่างประเทศ เรื่องที่ 29) : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/62130