ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

สวรส.ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการ ระดมนักวิชาการนานาชาติเสนอวิจัย-แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่การพัฒนางานด้านสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับ International Epidemiological Association (IEA) และ World Health Organization Regional Office for Southeast Asia (WHO-SEA) และภาคีเครือข่าย ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ “The 14th  SEA Regional Scientific Meeting of the International Epidemiological Association and International Conference on Public Health and Sustainable Development 2022” เพื่อเปิดเวทีร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวิชาการด้านการวิจัยระบบสุขภาพกับนักวิชาการนานาชาติ รวมทั้งร่วมสร้างเครือข่ายนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ นักระบาดวิทยา ฯลฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 400 คน จากนานาประเทศ และจากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 11 ประเทศ ระหว่างวันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น จ.เชียงราย

          ทั้งนี้ในเวทีการประชุมดังกล่าว นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. ได้ร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนในหัวข้อ National strategic for improvement healthcare delivery system in Thailand” ซึ่ง ผอ.สวรส. ได้ชี้ให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย ที่ขับเคลื่อนภายใต้การพัฒนางานวิจัย โดยมีกรอบแนวคิด six building blocks เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาระบบสุขภาพ ในเรื่องของการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม การให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัย การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ตลอดจนการสร้างความยั่งยืนในระบบสุขภาพ ซึ่ง สวรส. มีบทบาทในการสนับสนุนงานวิจัย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สามารถพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางปฏิบัติ หรือทางเลือกที่เหมาะสมต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายสุขภาพของประเทศ และสามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ได้จริงในระบบสุขภาพ  

          สำหรับการประชุมฯ ในปีนี้ นอกจากมีการนำเสนองานวิจัยและข้อมูลเพื่อการพัฒนางานด้านสาธารณสุข โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบ oral presentation ซึ่งงานวิจัยที่ได้นำเสนอในเวทีการประชุมฯ จะได้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Health Science and Alternative Medicine (JHSAM) ของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงต่อไป ทั้งนี้งานประชุมฯ ดังกล่าว จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีหน้า พ.ศ. 2566 จะเน้นไปในเรื่องของการวิจัยด้านสุขภาพของชนชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ยังมีโจทย์ท้าทายให้เร่งศึกษาวิจัยในอนาคต

          นอกจากนี้ สวรส. ยังได้ร่วมจัดการประชุมวิชาการห้องย่อย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประเมินศักยภาพชุมชนและระบบสุขภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมและจัดการการระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดเชียงราย โดยมี ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเปิดประเด็นโดยการนำเสนองานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจาก สวรส. 4 เรื่อง ได้แก่ 1) ผลกระทบและศักยภาพการปรับตัวผ่านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อป้องกันโควิด-19 ของกลุ่มชาวเขาที่อาศัยอยู่พื้นที่ชนบทชายแดน จ.เชียงราย  2) การพัฒนาต้นแบบชุมชนชาวเขาบริเวณตะเข็บชายแดนประเทศไทยและพม่า เพื่อเตรียมความพร้อมและการจัดการการระบาดของโรคโควิด-19  3) การประเมินศักยภาพของระบบสุขภาพในความพร้อมรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดน จ.เชียงราย  4) การประเมินประสิทธิผลมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา พื้นที่ชายแดน จ.เชียงราย  โดยมีสาระสำคัญจากผลการวิจัยในภาพรวมของทั้ง 4 โครงการ อาทิ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ของทุกกลุ่มประชากรในพื้นที่ อยู่ในระดับดี ส่วนในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่ต้องมีการเรียนการสอนด้วยระบบออนไลน์ ยังมีอุปสรรคในเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อการเข้าถึงการศึกษา ในกลุ่มประชาชนทั่วไปที่เป็นกลุ่มลูกจ้างแล้วถูกเลิกจ้าง ไม่ได้รับเงินชดเชยหลังถูกเลิกจ้าง หรือกรณียังทำงานอยู่ ก็ถูกลดเงินเดือน มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ไม่ได้รับการเยียวยาในการผ่อนชำระหนี้จากภาครัฐ เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้รับผลกระทบคือ ขายผลผลิตได้น้อยลง ไม่มีคนมาซื้อและไม่มีสถานที่ขายผลผลิต ด้านความรู้และทัศนคติในการป้องกันโรคโควิด-19 หลังจากได้รับการอบรมและมีการจัดทำสื่อให้ความรู้ต่างๆ ที่สื่อสารเป็นภาษาอาข่า ลีซู ลาหู่ ไทยใหญ่ ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านมีความรู้ และความตระหนักในการป้องกันโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้ชัดเจนจากการปฏิบัติตัวเรื่องการล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่างทางสังคม  ด้านศักยภาพของบุคลากรและระบบสุขภาพในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยในภาพรวม บุคลากรไม่เพียงพอและต้องทำงานมากขึ้น มีความยุ่งยากในการเบิกจ่ายงบประมาณ และไม่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษในการปฏิบัติหน้าที่  ด้านสถานศึกษาในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา มีการใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในระดับผ่านเกณฑ์และสามารถเปิดเรียนได้ แต่ต้องมีการปรับปรุงตามมาตรฐานที่กำหนด ส่วนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์และไม่สามาถเปิดเรียนได้ เนื่องจากเช่น ไม่สามารถจัดสถานที่และจัดการเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ตามมาตรฐาน, มีบุคลากรไม่เพียงพอที่จะสอนเด็กแยกเป็นกลุ่มๆ ไม่รวมเป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มเดียว เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งจากความคิดเห็นในเวทีคือเสียงสะท้อนของคนทำงานในพื้นที่ที่มีความเห็นว่า ข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และเป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารจัดการเพื่อการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี

          ทั้งนี้ ทพ.จเร ได้ทิ้งท้ายในการประชุมฯ ไว้ว่า หากต้องทำงานวิจัยหรือดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อย จำเป็นต้องมองให้เห็นถึงความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะประเด็นเปราะบางเชิงวัฒนธรรม และคำนึงถึงความแตกต่างของมนุษย์ทุกคน เพราะถ้าละเลยสิ่งเหล่านี้ ย่อมไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อการตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่แท้จริงได้อย่างแน่นอน

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้