4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

“วิจัยระบบสุขภาพ” ความท้าทายแห่งทศวรรษหน้า ต้องตอบโจทย์ทุกมิติ สุขภาพ-สังคม-เศรษฐกิจ

          ปัจจุบันสถานการณ์และบริบททั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เปลี่ยนแปลงไปมาก มีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งด้านโครงสร้างประชากร โรคระบาด โรคอุบัติใหม่ เทคโนโลยีการรักษาโรค แนวโน้มด้านสุขภาพของประชาชน สภาพแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งล้วนส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสภาวะสุขภาพของประชาชน ดังนั้นปัญหาสุขภาพ ความต้องการบริการสุขภาพ การจัดการ และการกำหนดนโยบายระบบสุขภาพที่เหมาะสมในอนาคต จึงควรถูกวางแผนและแก้ปัญหาด้วยความรู้จากงานวิจัยเป็นฐานสำคัญ ภายใต้การจัดการงานวิจัยระบบสุขภาพที่มีคุณภาพ ทั้งในเรื่องของการสนับสนุนทุนวิจัย การพัฒนาสถาบันและโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มจำนวนและพัฒนาศักยภาพนักวิจัย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการติดตามและประเมินผลการวิจัย นอกจากนี้การมองปัญหาเพื่อพัฒนางานวิจัยระบบสุขภาพ ควรมองให้กว้างและครอบคลุมถึงสุขภาวะของสังคม ควบคู่กับการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ตลอดจนการผสานฐานคิดทางวิชาการที่หลากหลายสาขา เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจกับปัญหาอย่างรอบด้าน รวมทั้งนำไปสู่การใช้ประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน  

          นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเด็นความท้าทายด้านสุขภาพของสังคมไทย อาทิ โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และปัญหามิติสุขภาพด้านต่างๆ ควรถูกตอบโจทย์ด้วยองค์ความรู้จากงานวิจัยและงานวิชาการ เช่น การสร้างองค์ความรู้เรื่องการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรค การรักษาโรคอุบัติใหม่ต่างๆ การพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาโรคโควิด-19 การเงินการคลังด้านสุขภาพเพื่อการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม งานวิจัยด้านยาและวัคซีน การจัดการความเสี่ยงในภาวะวิกฤต การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ การพัฒนากฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสาธารณสุขในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งการสร้างองค์ความรู้ดังกล่าว เป็นข้อมูลสำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนเชิงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข   

          ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า งานวิจัยไม่ใช่เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเท่านั้น แต่ต้องทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางด้วย เพราะมิติของสุขภาพยังเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ วช. กำลังสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) โดยนำงานวิจัยทั้งหมดของประเทศมารวมเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน โดยมีการเชื่อมโยง 3 ระบบ คือ ระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIS) ระบบข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (HiEd DB) และระบบข้อมูลสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NSTIS) เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าว สามารถนำไปพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ในปี 2566 จะมีการพัฒนา Mobile Application เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวก และนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

          รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ ร้อยละ 60 ของงบประมาณ โดยจัดสรรเป็นงบวิจัยเชิงกลยุทธ์ และ สกสว.มีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย9 หน่วยงาน ซึ่งในทศวรรษหน้างานวิจัยของประเทศ ต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดผลกระทบสูงต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ โดยรับผิดชอบโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นผู้นำและการบริการทางการแพทย์แม่นยำในอนาคต การขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ฯลฯ ทั้งนี้การวิจัยระบบสุขภาพ มิติการขับเคลื่อนที่สำคัญคือ มิติเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และมิติสังคม ชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

          นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งท้าทายงานวิจัยในทศวรรษหน้า หลายคนพูดถึงโลกดิจิทัล และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มาเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฏิบัติหลายเรื่องในระบบสุขภาพ ทำให้ระบบสุขภาพเปลี่ยนไป เช่น มีการรักษาแบบ home isolation โดยมีเทคโนโลยีมาสนับสนุน การกระจายระบบบริการสุขภาพ โดยให้ภาคประชาชนสามารถจัดบริการเองได้ การทำธุรกิจเพื่อสังคม ฯลฯ งานวิจัยในอนาคตจึงควรคิดนอกกรอบและพัฒนาในประเด็นใหม่ๆ เช่น การทำเรื่อง people journey ที่สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ฯลฯ ซึ่งความรู้ ข้อมูลเชิงประจักษ์ และความร่วมมือจากทุกฝ่าย จะนำไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ให้กับประชาชน ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการ

          นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากความซับซ้อนของระบบต่างๆ เกิดคำถามว่า หลังวิกฤตโควิด-19 ระบบบริการสุขภาพทั้งในเขตเมืองและชนบท จะเดินหน้าอย่างไร รวมทั้งการดูแลกลุ่มเปราะบาง และการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมจะก้าวไปในทิศทางไหน ในขณะที่โครงสร้างของประชากรและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไป ทำอย่างไรที่จะนำองค์ความรู้มาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และพัฒนาระบบสุขภาพไทยให้มีความเข้มแข็ง ด้วยเหตุนี้ ความท้าทายของการวิจัยระบบสุขภาพในทศวรรษหน้า จึงคือการสร้างองค์ความรู้ในมิติด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม เพื่อรองรับปัญหาในอนาคต ทั้งในเรื่องประชากร สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ Digital Health Policy การคุ้มครองผู้ประกอบการและผู้บริโภค ฯลฯ ซึ่งการพัฒนาประเทศและการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ต้องการองค์ความรู้ และองค์ความรู้ต้องได้มาจากความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานผู้ผลิตความรู้ หน่วยงานที่นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ และที่สำคัญต้องฟังเสียงประชาชนเป็นสำคัญ

          ผศ.ดร.ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า โจทย์ใหม่ของเรื่องสุขภาพเปลี่ยนไป ปัจจุบันโรคไร้เชื้อมีมากขึ้น ดังนั้นเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพอาจไม่ได้อยู่แค่เพียงระบบบริการสุขภาพ แต่ต้องข้ามไปทำงานกันตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อการป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ หรืออีกนัยคือ ถ้าอยากให้คนสุขภาพดี ต้องไปจัดการตั้งแต่ต้นเหตุ โดยปัจจัยที่ทำให้สุขภาพของแต่ละคนดีหรือแย่ มักต้องดูกันที่เรื่องของพฤติกรรม วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้งานวิจัยด้านการสร้างเสริมสุขภาพไม่ควรดูแค่สถานการณ์ว่าดีขึ้นโดยดูเพียงค่าเฉลี่ยประชากร แต่ควรรวมถึงความเหลื่อมล้ำที่ไม่ควรเพิ่มขึ้นด้วย ภายใต้การมีสุขภาพที่ดี 4 มิติ กาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ดังนั้นการไปให้ถึงปลายทาง จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้จำนวนมาก รวมทั้งองค์ความรู้จากงานวิจัยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนระบบสุขภาพ

          ดร.ณญาดา เผือกขำ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาวิชาการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.)กล่าวว่า การวิจัยนับเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น การวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อเทียบเคียงกับระบบสากล การพัฒนาระบบบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉินของผู้ปฏิบัติการ การพัฒนากลไกการอภิบาลระบบ ทั้งในเรื่องการเงิน การนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนระบบการให้บริการ การพัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ การสื่อสารสาธารณะ ความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันแผนหลักของการแพทย์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 4 เน้นการยกระดับระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีมาตรฐานสู่ระดับสากล รวมถึงการปลูกฝังและสร้างค่านิยมแก่ภาคประชาสังคมเพื่อสร้างวัฒนธรรมการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเหมาะสม มีความปลอดภัยต่อภาวะฉุกเฉินทั้งปวง และประชาชนสามารถป้องกันภาวะฉุกเฉินได้ ซึ่งโจทย์วิจัยในอนาคต ควรหาคำตอบ เพื่อให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีมาตรฐาน ตลอดจนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม  

          พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) มองในมุมการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลว่า โจทย์วิจัยที่สำคัญอันดับแรกคือ การหาคำตอบว่า การทำ Hospital Accreditation (HA) แล้วได้อะไร และการรับรองคุณภาพทำให้โรงพยาบาลมีคุณภาพจริงหรือไม่ ทำให้ระบบบริการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ รวมถึงการวิจัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ (Implementation Research) นอกจากนี้งานวิจัยประเด็นคุณภาพบริการหรือสถานพยาบาล ควรให้ความสำคัญกับประชาชน ผู้ที่รับคุณค่าของการพัฒนาคุณภาพและการบริการสุขภาพโดยตรง ซึ่งประชาชนอาจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องมือประเมินความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อระบบบริการ เพราะประสบการณ์ของผู้รับบริการคือคำตอบของระบบบริการสุขภาพ

          รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ผู้แทน UHOSNET กล่าวว่า งานวิจัยควรตอบสนองความต้องการของประเทศและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะโลกและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้โจทย์ของงานบริการด้านสุขภาพเปลี่ยนไปมาก งานวิจัยระบบสุขภาพจึงควรดูที่ปัญหาแท้จริง และวิเคราะห์ให้ได้ว่า อะไรที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหานั้นๆ และนำไปสู่ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ ซึ่งสุดท้ายแล้ว งานวิจัยควรทำให้เกิดระบบสุขภาพที่ดี ภายใต้กระบวนการจัดการที่ดี และมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีคุณภาพ

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้