ข่าว/ความเคลื่อนไหว
การพัฒนาฐานข้อมูลต้นทุนบริการของโรงพยาบาล และเครื่องมือในการวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยของแต่ละกิจกรรมบริการ สำหรับโรงพยาบาลทุกระดับในประเทศไทย ทำให้เห็นถึงภาระต้นทุนที่แท้จริงของโรงพยาบาลในการให้บริการ ซึ่งสามารถนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการปรับปรุงและพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรของโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงควรส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลต้นทุนบริการฯ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากลไกการจ่ายเงินสำหรับระบบบริการทางการแพทย์ต่างๆ และสามารถนำไปใช้ต่อรองหรือทบทวนต้นทุนกับกองทุนต่างๆ รวมทั้งทบทวนอัตราการจัดเก็บค่าบริการที่เหมาะสม ตลอดจนสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการบริหารการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อลดต้นทุนของโรงพยาบาล
นพ.ชัยโรจน์ ซึงสนธิพร ที่ปรึกษาสารสนเทศบริการสุขภาพ กล่าวว่า การให้บริการผู้ป่วยมักประกอบด้วยกิจกรรมการบริการที่มีความหลากหลาย ดังนั้นการวิเคราะห์ต้นทุนรายโรค เพื่อให้ได้ต้นทุนที่มีความแม่นยำและเชื่อถือได้ จึงควรต้องหาต้นทุนแต่ละกิจกรรมบริการ แล้วหลังจากนั้นจึงนำต้นทุนแต่ละกิจกรรมบริการที่ได้ไปหาต้นทุนผู้ป่วยแต่ละราย และเมื่อได้ต้นทุนผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว จะสามารถหาต้นทุนอื่นๆ ได้ เช่น ต้นทุนเฉลี่ย ต้นทุนรายกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups: DRGs) ต้นทุนรามกลุ่มผู้ป่วย ฯลฯ โดยนำข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยทั้งหมดไปวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม HSCE (Healthcare Service Cost Estimation Program) ซึ่งโรงพยาบาลมีหน้าที่เก็บข้อมูลที่จำเป็น แล้วโปรแกรมดังกล่าวจะทำการวิเคราะห์และคำนวณข้อมูล รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนผู้ป่วยใน ต้นทุนผู้ป่วยนอก ต้นทุนราย DRGs หรือแม้กระทั่งเปรียบเทียบต้นทุนและค่ารักษาในหมวดต่างๆ ซึ่งถ้าต้องการศึกษาเจาะลึกไปยังรายละเอียดต่างๆ สามารถดึงข้อมูลจากโปรแกรม เพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อได้ ทั้งนี้โรงพยาบาลสามารถนำโปรแกรมฯ ไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนโรงพยาบาลได้เอง และสามารถทำได้ต่อเนื่องทุกปี
รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวถึงการวิเคราะห์ต้นทุนในโรงพยาบาลกลุ่มเครือข่ายสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ว่า บริบทของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกับกระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมีพันธกิจหลักคือ จัดการเรียนการสอน รองลงมาคือ การบริการและการวิจัย ซึ่งในการศึกษาต้นทุนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ปี 2562 พบว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ มีต้นทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท มีรายรับ 4,700 ล้านบาท แต่ในปี 2563 มีต้นทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท รายรับ 4,600 ล้านบาท และเมื่อไปดูต้นทุนผู้ป่วยนอกต่อครั้ง ในปี 2562 มีจำนวน 2,200 ล้านบาท ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 2,700 ล้านบาท ในปี 2563 โดยเรื่องการวิเคราะห์ต้นทุน ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้องมีทีมรับผิดชอบชัดเจน และต้องมีระบบสารสนเทศที่ดีมาสนับสนุน ซึ่งจากการร่วมวิเคราะห์ต้นทุนฯ กับทีมวิจัย ทำให้เห็นข้อมูลต้นทุนที่สะท้อนการจ่ายเงินของกองทุนต่างๆ โดยสามารถนำไปพัฒนาให้มีความเหมาะสมมากขึ้น มีการทบทวนอัตราค่าบริการให้มีความเหมาะสมกับต้นทุน มีการทบทวนระบบการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนของโรงพยาบาล มีการพัฒนาระบบการคิดต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการพัฒนาการระบบสารสนเทศ มีการพัฒนาการกำหนดรหัสอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลไม่ให้ซ้ำซ้อน ซึ่งการพัฒนาเชิงระบบดังกล่าว ส่งผลต่อการให้บริการที่เป็นประโยชน์กับประชาชน
นพ.อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี กล่าวว่า สิ่งที่ได้ประโยชน์มากที่สุดในการเชื่อมข้อมูลวิเคราะห์ต้นทุนกับโปรแกรม HSCE คือ การได้ใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยไม่ต้องบันทึกข้อมูลซ้ำ ซึ่งการเชื่อมต่อกับโปรแกรม HSCE สิ่งสำคัญคือการกำหนดรหัส และการจับคู่ค่าใช้จ่ายกับหน่วยงาน ก่อนบันทึกข้อมูลในโปรแกรม พร้อมกับการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง ทั้งนี้หลังจากโรงพยาบาลสระบุรีได้ร่วมโครงการวิจัย ทำให้สามารถวิเคราะห์ต้นทุนรายกิจกรรมบริการ รายโรค รายบุคคล และราย DRGs ได้ รวมถึงสามาถสร้างความตระหนักเรื่องการวิเคราะห์ต้นทุนให้เกิดขึ้นในองค์กร
นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด กล่าวว่า โรงพยาบาลร้อยเอ็ดมีผู้ป่วยนอกประมาณ 7-8 แสนราย และผู้ป่วยในประมาณ 70,000 ราย ซึ่งโรงพยาบาลฯ ได้เข้าร่วมโครงการวิเคราะห์ต้นทุนรายโรคกับทีมวิจัย โดยพยายามควบคุมต้นทุนการบริการของโรงพยาบาล ให้ต่ำกว่าค่าบริการตามที่ระเบียบบังคับ ภายใต้การดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบกับข้อมูลโรงพยาบาลศูนย์อื่นๆ เช่น รายได้ค่าบริการ, สัดส่วนต้นทุน, ต้นทุนรายโรค รายกิจกรรม รายหน่วยงาน ฯลฯ ซึ่งข้อมูลที่สะท้อนออกมา สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขระเบียบการคิดค่ารักษาให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ตลอดจนทำให้เห็นว่า การเก็บข้อมูลที่ผ่านค่อนข้างมีความซ้ำซ้อน ดังนั้นจึงควรพัฒนาเครื่องมือสารสนเทศในการเก็บข้อมูล เพื่อลดความซ้ำซ้อน ตลอดจนควรมีการประมวลผลข้อมูลที่เข้าใจง่ายและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรของโรงพยาบาลในอนาคต
พญ.อัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน กล่าวว่า โรงพยาบาลน่านเป็นโรงพยาบาลนำร่องที่เข้าร่วมโครงการวิเคราะห์ต้นทุนรายโรค เมื่อปี 2561 โดยเน้นในส่วนของเทคนิคการจัดข้อมูลต้นทุนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งโรงพยาบาลฯ ได้มีการวางโครงสร้างระบบเพื่อการวางแผน วิเคราะห์ และตรวจสอบข้อมูล โดยกำหนดผู้รับผิดชอบเรื่อง Unit Cost ไว้อย่างชัดเจน และมีการกำหนดเป็นแผนงานประจำปี ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากโรงพยาบาลฯ มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถจัดเก็บข้อมูลการให้บริการเพื่อการวิเคราะห์ได้ทั้งหมด จึงทำให้โรงพยาบาลฯ สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาการบริหารจัดการด้านต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น เช่น สามารถลดอัตราการครองเตียงและความแออัดในโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องมีการนอนโรงพยาบาล ฯลฯ นอกจากนี้ควรมีโปรแกรมบันทึกข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์ต้นทุนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อความรวดเร็วในการนำต้นทุนมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูล
นพ.สุรสิทธิ์ จิตรพิทักษ์เลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ได้ร่วมโครงการวิเคราะห์ต้นทุนรายโรค โดยมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาลเพื่อการวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยของแต่ละกิจกรรมบริการ เช่น การสร้างแบบฟอร์มบันทึกข้อมูลการฝึกอบรมและค่าใช้จ่ายในการอบรม มีการพัฒนาโปรแกรม Over Time เพื่อบันทึกข้อมูลค่าล่วงเวลา ส่วนค่าวัสดุและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอื่นๆ กรณีค่าจ้างเหมาบริการในการทำ CT/MRI มีการผูกรายการค่ารักษาพยาบาลกับรายการตรวจ CT/MRI เพื่อลดข้อผิดพลาด กรณีลืมบันทึกข้อมูล มีการเพิ่มรายการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตามรายการที่โรงพยาบาลส่งตรวจภายนอก เพื่อนำมาตรวจสอบกับข้อมูลการเรียกเก็บเงินค่าจ้างตรวจ พัฒนาการบันทึกข้อมูลซ่อมแซมวัสดุ ครุภัณฑ์ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ดังกล่าว ส่งผลให้โรงพยาบาลมีฐานข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยของแต่ะกิจกรรมบริการได้สะดวกและเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการมากขึ้น นอกจากนี้การวิเคราะห์ต้นทุนยังช่วยเพิ่มรายได้ในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนต่างๆ อีกทั้งยังมีข้อมูลเปรียบเทียบเรื่องการจัดซื้อในโรงพยาบาลขนาดเดียวกัน และสามารถนำข้อมูลไปใช้วางแผนเพื่อเพิ่มรายได้ของโรงพยาบาลได้อีกด้วย
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้