ข่าว/ความเคลื่อนไหว
แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เพื่อสร้างการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพ เท่าเทียม และครอบคลุม ถูกวางโจทย์เอาไว้ 5 ด้าน หรือที่เรียกว่า 5 Big Rock ที่ครอบคลุม ทั้งการป้องกัน การดูแล รักษา การสร้างเสริมสุขภาพ การคุ้มครอง
ขยายความ 5 Big Rock คือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขของประเทศ ประกอบด้วย 1) การปฏิรูปการจัดการภาวะฉุกเฉินจากโรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ 2) การปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อ 3) การปฏิรูประบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุด้านการบริบาล การรักษาพยาบาลที่บ้านหรือชุมชน 4) การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ และกองทุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อความเป็นเอกภาพและยั่งยืนด้านการเงินการคลัง และ 5) การปฏิรูประบบบริหารจัดการเขตสุขภาพแบบบูรณาการ เพื่อให้มีความคล่องตัวและร่วมรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานกับท้องถิ่น
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ให้ภาพการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขว่า สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศ ซึ่งปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จำนวนมาก การปฎิรูประบบสาธารณสุข จึงมีประเด็นการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ การป้องกันและดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต โดยมองไปที่ระบบสุขภาพปฐมภูมิ รวมไปถึงการสร้างกลไกต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาร่วมมือกัน เพื่อพลิกงานด้านสาธารณสุขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น อาจต้องปรับกฎหมายเพื่อเสริมนโยบายด้านสุขภาพ เช่น การนำมาตรการทางภาษีและการให้สิทธิประโยชน์ มาสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการภาคเอกชน หันมาให้ความสำคัญกับการจัดระบบบริการสุขภาพของตนเองมากขึ้น ทั้งเรื่องการคัดกรองผู้ป่วย การให้ความรู้ และการรักษาเบื้องต้น ส่วนระบบบริการสุขภาพต้องมีการเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุข และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพ ที่เน้นกลุ่มคนปกติ กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้ป่วย/กลุ่มเสี่ยง ซึ่งสุขภาพที่ดีควรเริ่มต้นจากตัวประชาชนเอง
สอดรับกับข้อมูลของ ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ที่ว่า จากการวิจัยพบว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เกิดในคนไทย มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่แข็งแรงให้กับประชาชน เช่น การสร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม และสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดีในสถานประกอบการให้มากขึ้น เพราะแต่ละองค์กรยังมีความตื่นตัวในเรื่องนี้น้อย ซึ่งการสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพขึ้นในองค์กร ไม่ใช่เรื่องของการสร้างโปรแกรม แต่ต้องเข้าไปส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้เห็นความสำคัญมากขึ้น โดยมีการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่า ช่องทางและโอกาสที่จะทำให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ อาจต้องมีทั้งเชิงกฎหมาย เช่น การแก้ไขกฎหมาย การปรับปรุงพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เชิงกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษี การลดค่าสมทบกองทุนประกันสังคม การสร้างแรงจูงใจที่ไม่ใช่เงิน การสื่อสาร การสร้างเครือข่ายทางสังคม เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน การกำหนดเป็นตัวชี้วัดในการประเมินคุณภาพ ISO ฯลฯ ทั้งนี้การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลความรู้จากงานวิจัย เพื่อให้เห็นสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริง และนำไปสู่โอกาสของการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพที่ดีขึ้นในอนาคต
ด้าน ดร.สิริอร สินธุ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 28 ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงศึกษา การศึกษานอกระบบ ฯลฯ ได้พยายามทำเรื่องผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (caregiver) โดยขยายจำนวนผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการปรับปรุงหลักสูตรให้นักศึกษาพยาบาลมีทักษะในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง แทนที่จะดึงพยาบาลจากหน้างานอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปด้านสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เนื่องจากหลักสูตรพยาบาลสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี รวมถึงควรให้ทุกภาคส่วนในสังคม มีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจัง โดยมีเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข พยาบาลและแพทย์ คอยให้การสนับสนุนตามหลักวิชาการ ตลอดจนการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพที่จำเป็นสำหรับการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ
นพ.ยงยุทธ พงษ์สุภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการปฏิรูป Big Rock ที่ 4 หรือการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ และกองทุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อความเป็นเอกภาพและยั่งยืนด้านการเงินการคลังว่า การปฏิรูปด้านนี้มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาระบบการเงินการคลังและการบริหารจัดการด้านบริการสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ซึ่งมี 3 กองทุนหลัก คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม โดยทั้ง 3 กองทุนนี้ จำเป็นต้องมีเอกภาพและมีการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกัน เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนสนับสนุนให้หลักประกันสุขภาพเป็นของคนไทยทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย
ดร.รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง รองผู้อำนวยการมูลนิธิวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า จากการจัดตั้งเขตสุขภาพ 13 เขต เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการดูแลรักษาและการเข้าถึงของประชาชน พบว่า ยังมีปัญหาอีกมาก ทั้งเรื่องการจัดสรรทรัพยากร การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและหน่วยงานอื่นๆ จึงได้มีการทดลองปฏิรูปการบริการสุขภาพ ใน 4 เขตสุขภาพนำร่อง ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1 (ภาคเหนือ) เขตสุขภาพที่ 4 (ภาคกลาง) เขตสุขภาพที่ 8 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และ เขตสุขภาพที่ 12 (ภาคใต้) และดำเนินการในลักษณะ sandbox โดยแต่ละเขตสุขภาพมีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และมีคณะกรรมการบริหารสุขภาพเป็นคณะทำงาน ซึ่งทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น และมีการเชื่อมโยงกับกลไกของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการทำงาน รวมทั้งการกำกับ ติดตาม และประเมินผล ตลอดจนการขยายผลในพื้นที่เขตสุขภาพอื่นๆ ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการยังมีปัญหาในเรื่องบุคลากรและกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทำงานแบบบูรณาการ อีกทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ตรงจุดนี้มองว่า ควรให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนมากขึ้นในอนาคต
ด้าน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า หัวใจของการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ต้องสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งในทศวรรษหน้าภาพใหญ่ของการปฏิรูประบบสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายให้ประชาชน ผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยงโรคต่างๆ ผู้สูงอายุได้รับการบริการที่ดี มีประสิทธิภาพและทันสมัย มีความรอบรู้เรื่องการป้องกันโรค และสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ โดยเน้นให้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชน ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องมีการทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม อาทิ ทำอย่างไรให้การควบคุมป้องกันโรคเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี การร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพควรเป็นอย่างไร การเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างคุ้มค่า ฯลฯ ภายใต้แนวคิดที่เน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การเปลี่ยนฐานการดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลไปที่บ้านและชุมชน โดยนำระบบ digital health care มาสนับสนุน การอภิบาลระบบโดยการกระจายอำนาจไปสู่เขตสุขภาพ เพื่อให้ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลเชิงวิจัยเพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะอันใกล้นี้
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้