4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

“วิเคราะห์ต้นทุนบริการสุขภาพ” ฐานความรู้สู่การพัฒนาระบบบริการและการคลังสุขภาพที่ยั่งยืน

          สุขภาพของประชาชนเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายโดยรวมด้านสุขภาพของประเทศ และการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ อาจส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งสถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการให้บริการด้านสุขภาพในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของบริบทด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว เช่น โครงสร้างประชากร เทคโนโลยีในการรักษาโรค ภาวะสุขภาพของประชาชน ฯลฯ และการวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนการให้บริการของโรงพยาบาล สำหรับโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อนำข้อมูลภาระต้นทุนที่แท้จริงของโรงพยาบาลมาพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบบริการ และวางแผนด้านการเงินการคลังสุขภาพอย่างเหมาะสมและยั่งยืน จึงเป็นการสร้างความรู้จากงานวิจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลต้นทุนผู้ป่วยรายบุคคล ซึ่งสามารถนำมาคำนวณต้นทุนเฉลี่ยในการให้บริการผู้ป่วย และนำไปสู่การพัฒนาการเบิกจ่ายเงินจากกองทุนต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนยังสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ในการบริหารต้นทุน และการบริหารด้านการเงินการคลังของแต่ละโรงพยาบาลให้มีความยั่งยืนได้อีกด้วย

          ดร.อรทัย เขียวเจริญ ผู้จัดการสำนักพัฒนากลุ่มโรคร่วมไทย (สรท.) ส่วนงานมาตรฐานและการบริการสารสนเทศระบบบริการสาธารณสุข (สมสส.) กล่าวว่า ทีมนักวิจัยไทยมีศักยภาพมากพอในการจัดทำข้อมูลต้นทุนรายบุคคลของประเทศ ดังนั้น สรท.จึงเป็นแกนหลักสำคัญในการระดมความร่วมมือในการจัดทำข้อมูลต้นทุนฯ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลของโรงพยาบาล 6 แห่ง จนได้ชุดข้อมูลมาตรฐานและวิธีที่เป็นมาตรฐาน โดยต่อมามีโรงพยาบาลเข้าร่วมเพิ่มขึ้น จนขยายไปถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่และโรงเรียนแพทย์ ทั้งนี้ทีมวิจัยได้มีการคำนวณต้นทุนรายบุคคล เป็นรายกิจกรรม ซึ่งเมื่อมีโรงพยาบาลเข้าร่วมมากขึ้น ทำให้มีข้อมูลการบริการที่แตกต่างและซับซ้อนมากขึ้น จาก 14 หมวดค่ารักษา ขยายเป็น 400 หมวด รวมถึงสามารถคำนวณและวิเคราะห์ต้นทุนรายกิจกรรมได้แม่นยำมากขึ้น ทำให้ได้ชุดข้อมูลต้นทุนผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ที่เป็นมาตรฐานในรูปแบบและวิธีการเดียวกัน ซึ่งอนาคตหวังว่าแต่ละโรงพยาบาลจะสามารถจัดทำข้อมูลต้นทุนฯ ได้เอง และสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพของการบริการและการบริหารจัดการต้นทุนรายรับของโรงพยาบาล ตลอดจนนำไปสู่การมีศูนย์ข้อมูลต้นทุนฯ ของประเทศ เพื่อให้นักวิจัยและกองทุนต่างๆ สามารถนำข้อมูลไปพัฒนาวิธีการเบิกจ่ายและกำหนดอัตราค่าบริการให้เหมาะสมต่อไป

          ภญ.ฐิติมา พยัฆศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านสนับสนุนบริการ หัวหน้ากลุ่มงานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลสมุทรสาคร ให้ข้อมูลว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ตลาดกลางกุ้ง ซึ่งเป็นชุมชนในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลสมุทรสาคร โดยข้อมูลปี 2563 และ 2564 พบว่า ต้นทุนค่าบริการ ในปี 2564 สูงกว่าปี 2563 ซึ่งต้นทุนเพิ่มมากขึ้นทั้งในส่วนของต้นทุนค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าลงทุน ส่วนค่าบริการพบว่า ส่วนใหญ่เป็นค่าบริการผู้ป่วยในที่เพิ่มมากขึ้น โดยมากขึ้นถึงร้อยละ 60 ส่วนค่าเฉลี่ยต้นทุนผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 657 บาทต่อราย และค่าเฉลี่ยต้นทุนผู้ป่วยในอยู่ที่ 19,825 บาทต่อราย โดยในช่วงแรกที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 - ม.ค. 2564 โรงพยาบาลฯ มีการจัดเตียงให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 โดยได้ปิดเตียงในการดูแลผู้ป่วยโรคอื่นไปค่อนข้างเยอะ และเปิดเป็นเตียงรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 2-3 เท่าของเตียงผู้ป่วยโรคอื่น ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนของโรงพยาบาลฯ ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 คือ ความรุนแรงของโรค การมีโรคร่วม มีการใช้เครื่องช่วยหายใจ และ High Oxygen Flow และจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า 1) ข้อมูลของผู้ป่วยนอกมีความกระจัดกระจายค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นข้อมูลรวมทั้งผู้ป่วยที่รับการรักษาและผู้ป่วยที่มารับบริการส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันมาก 2) ต้นทุนการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่ม Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) มีข้อมูลต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะค่าบริการบางส่วนไม่ได้บันทึกเข้าระบบของโรงพยาบาลฯ 3) ข้อมูลการฉีดวัคซีนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนการรักษา ซึ่งควรนำข้อมูลไปศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

          นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก กล่าวว่า ด้วยสภาพภูมิประเทศของอำเภอท่าสองยาง มีพรมแดนติดกับประเทศพม่า จึงทำให้ผู้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลท่าสองยาง มีทั้งคนไทยและคนต่างด้าว และเนื่องจากโรงพยาบาลฯ ไม่มีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขา จึงมีสัดส่วนต้นทุนบริการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยต้นทุนค่าแรงอยู่ที่ประมาณ 56% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลใหญ่ นอกจากนี้ค่าบริการมีแนวโน้มไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนกับค่าบริการแล้ว ต้นทุนมีสัดส่วนสูงกว่าค่าบริการค่อนข้างมาก โดยค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกอยู่ที่ประมาณ 40% ต้นทุนผู้ป่วยนอกอยู่ที่ประมาณ 60% ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยผู้ป่วยนอกอยู่ที่ประมาณ 700 บาท/ครั้ง ค่าบริการอยู่ที่ 500 บาท/ครั้ง ต้นทุนค่าบริการของคนไทย 8,000 กว่าบาท/ครั้ง คนต่างด้าว 10,000 กว่าบาท/ครั้ง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของคนต่างด้าวสูงกว่าคนไทย เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิในการทำฟัน ฉีดวัคซีน แต่โรงพยาบาลก็ต้องให้การรักษา แม้บางครั้งไม่สามารถเก็บค่ารักษาได้ก็ตาม

          ภก.ชมพู ศรีประทักษ์ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลชุมแสง จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมแสงนอกจากรักษาผู้ป่วยทั่วไปแล้ว ยังมีระบบบริการคลอด ที่เรียกว่า Twin Buddy โดยเป็น Node ในการรับส่งต่อเรื่องการคลอดให้กับโรงพยาบาลหนองบัว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดการใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลหนองบัว เนื่องจากโรงพยาบาลชุมแสงและโรงพยาบาลหนองบัว ตั้งอยู่ในเส้นทางเดียวกัน และเป็นการพัฒนาให้โรงพยาบาลชุมแสงมีความเชี่ยวชาญเรื่องระบบบริการคลอดมากขึ้น จากระบบบริการคลอดดังกล่าวส่งผลให้ต้นทุนการคลอดมีแนวโน้มลดลง ถ้ามีการส่งต่อมายัง Node ส่วนผู้คลอดบุตรที่โรงพยาบาลชุมแสงชุมแสง มีต้นทุนบริการคลอดต่อหน่วย เฉลี่ย 13,000 บาท ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสารสนเทศที่ทำให้เห็นว่านโยบายการคลอดเป็นอย่างไร และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการวางแผนเชิงนโยบายให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับประชาชนผู้รับบริการได้มากยิ่งขึ้น

          ด้าน พญ.กฤติกา โคตรทอง นักวิจัยกลุ่มโรคร่วมการดูแลระยะกลางระยะยาว กล่าวว่า การออกแบบระบบการเบิกจ่ายให้ตอบสนองกับการบริการของผู้ป่วยที่ต้องมีการดูแลระยะกลางและระยะยาว จำเป็นต้องมีข้อมูลต้นทุนของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มนี้ก่อนถึงจะสามารถออกแบบระบบการเบิกจ่ายได้ ซึ่งงานวิจัยพบว่า การเบิกจ่ายในปัจจุบันยังไม่เหมาะสม เนื่องจากต้นทุนสูงกว่าการเบิกจ่าย โดยปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนการรักษาของผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว คือ การวินิจฉัยโรค อายุ การรักษา ประเภทการใช้บริการ สมรรถภาพของผู้ป่วย ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ไม่ได้เป็นปัจจัยในการคำนวณกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups: DRGs) ในปัจจุบัน ทั้งนี้มีการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี ตั้งแต่ ปี 2561-2562 โดยใช้ข้อมูลจาก 8 โรงพยาบาลใน 4 จังหวัด คือ น่าน ร้อยเอ็ด ตรัง สระบุรี รวมถึงโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว โรงพยาบาลพนมไพร โรงพยาบาลห้วยยอด และโรงพยาบาลเสาไห้ และจากการติดตามผู้ป่วยระยะกลาง พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรก มีต้นทุนต่อรายอยู่ที่ 44,599 บาท และโรคที่มีต้นทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ยคือโรคหัวใจ โรคข้ออักเสบ และกลุ่มที่เปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพก ส่วนผู้ป่วยระยะยาว ช่วง 6 เดือนต่อมา มีต้นทุนต่อรายอยู่ที่ 36,121 บาท ต้นทุนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 9,740 บาท และโรคที่สำคัญคือโรคทางระบบประสาท โรคอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อม ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้ มีข้อเสนอว่า วิธีการเบิกจ่ายสำหรับผู้ป่วยระยะยาว ควรให้เบิกจ่ายเป็นราย 6 เดือน โดยแยกเบิกเป็นสองกลุ่มคือ ผู้ป่วยระยะยาวตั้งแต่แรก และผู้ป่วยระยะยาวที่มาจากระยะกลาง เนื่องจากต้นทุนต่างกันมาก

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้