4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

10 ปี แห่งการพัฒนามาตรฐานข้อมูลสุขภาพ ฐานรากระบบสุขภาพดิจิทัลไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

          ปัจจุบันระบบข้อมูลข่าวสารและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามามีส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนหลากหลายด้าน และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ข้อมูลต่างๆ มีความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ซึ่งในระบบสุขภาพก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่มีการจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพ ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลต่างๆ ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบข้อมูลภายในเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น อย่างเช่นเวชระเบียน ซึ่งเป็นเอกสารทางการแพทย์ที่ใช้บันทึกและรวบรวมประวัติของผู้ป่วย ทั้งประวัติส่วนตัว การรักษา การแพ้ยา ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้มีความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ ตลอดจนเพื่อการใช้ประโยชน์ในการเชื่อมต่อข้อมูลด้วยระบบออนไลน์ระหว่างโรงพยาบาล แต่เนื่องจากระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพของประเทศไทย มีหลากหลายระบบและขาดการบูรณาการ จึงทำให้มีข้อจำกัดในการนำมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งไม่สามารถแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
          ระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพ จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของระบบสุขภาพ และการพัฒนามาตรฐานข้อมูลสุขภาพ ถือเป็นรากฐานของการบูรณาการและการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศประเภทต่างๆ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพที่ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการวิจัยพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพของประเทศ และพัฒนาแนวปฏิบัติด้านมาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้ประเทศไทยมีมาตรฐานข้อมูลสุขภาพที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้แบบไร้รอยต่อและเป็นมาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
 
          ดร.นพ.บุญชัย กิจสนาโยธิน ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สมสท. กล่าวว่า ระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพของประเทศไทย ก่อนหน้านี้มีข้อจำกัดในการนำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากแหล่งข้อมูลแต่ละแหล่งมีมาตรฐานการบันทึกข้อมูลที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ และนำมาวิเคราะห์ต่อยอดได้ อย่างเช่นข้อมูลด้านยา การตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ดังนั้น นพ.บุญชัย กิจสนาโยธิน นพ.ดาวฤกษ์ สินธุวณิชย์ นพ.เทียม อังสาชน รวมถึงหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนามาตรฐานข้อมูลสุขภาพ จึงนำมาสู่การจัดตั้ง สำนักงานพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) เมื่อปี 2555 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สมสท. ได้ศึกษาและพัฒนามาตรฐานข้อมูลการตรวจในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Thai Medical Laboratory Terminology - TMLT) ซึ่งอ้างอิงจากมาตรฐานคำศัพท์ทางการแพทย์สากล LOINC รวมทั้งพัฒนาบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย (Thai Medicines Terminology – TMT) โดยอ้างอิงจากรหัสมาตรฐานคำศัพท์ทางการแพทย์ SNOMED CT ซึ่งในปัจจุบัน กองทุนสุขภาพต่างๆ กรมบัญชีกลาง รวมถึงสถานพยาบาล ได้นำมาตรฐานข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในหลากหลายด้าน เช่น บันทึกข้อมูลสำหรับการเบิกจ่าย หรือการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
 
          ในปี 2565 ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก SNOMED International ทำให้ผู้ใช้งานทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย สามารถใช้มาตรฐานคำศัพท์ทางการแพทย์ SNOMED CT โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และ สมสท. ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ในการเผยแพร่รหัส SNOMED CT ในประเทศไทย โดยมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้งาน SNOMED CT ให้กับระบบข้อมูลสุขภาพของประเทศ เพื่อให้ระบบข้อมูลสุขภาพของประเทศสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ
 
          ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดไฟล์เผยแพร่บัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย (TMT) และบัญชีรายการและรหัสมาตรฐานการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ไทย (TMLT) ได้ที่เว็บไซต์ www.this.or.th โดยเว็บไซต์ดังกล่าว ยังได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับมาตรฐานข้อมูลสุขภาพ เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย
 
          ด้าน นพ.ดาวฤกษ์ สินธุวณิชย์ ที่ปรึกษา สมสท. กล่าวเสริมว่า สำหรับบัญชีรายการและรหัสมาตรฐานการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ไทย (TMLT) สมสท. ได้ทำงานร่วมกับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการตรวจทางห้องปฏิบัติการแพทย์ที่มีการพัฒนาตลอดเวลา เพื่อปรับปรุงให้รหัสมาตรฐานการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ไทย (TMLT) มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน 
 
          ผศ.ดร.ประพัฒน์ สุริยผล ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศและนวัตกรรมข้อมูล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กลุ่ม Standards and Interoperability Lab Thailand (SIL-TH) เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนในวงการสุขภาพที่สนใจในการเรียนรู้และพัฒนามาตรฐานข้อมูลสุขภาพ เพื่อนำมาใช้ในบริบทของประเทศไทย โดยกลุ่ม SIL-TH ได้ศึกษาเรียนรู้มาตรฐาน HL7 FHIR ซึ่งเป็นมาตรฐานการส่งต่อข้อมูลสุขภาพระดับสากล และมีการนำไปใช้ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งสมาชิกในกลุ่ม SIL-TH ได้มีบทบาทในการผลักดันการใช้มาตรฐาน HL7 FHIR ในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาได้พูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ อย่างเช่น ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงสาธารณสุข หรือ Government Big Data Institute (GBDi) เพื่อสนับสนุนการใช้มาตรฐาน HL7 FHIR ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างหน่วยงานในองค์กรรัฐ รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพต่างๆ ที่ใช้มาตรฐาน HL7 FHIR ด้วยเช่นกัน 
 
          นายคิดคม สเลลานนท์ นักวิเคราะห์และจัดการข้อมูลระดับสูง สมสท. กล่าวถึงเครื่องมือและช่องทางการให้บริการด้านมาตรฐานข้อมูลสุขภาพว่า สมสท. ได้มีการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อสนับสนุนการใช้งานรหัสมาตรฐานทางด้านข้อมูลสุขภาพที่ สมสท. ได้จัดทำขึ้น ตัวอย่างได้แก่ TMT Browser/ TMLT Browser ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการค้นหารหัส TMT และ TMLT หรือ TMT API/TMLT API เพื่อเป็นช่องทางให้หน่วยบริการต่างๆ สามารถเปิด API (Application Programming Interface) เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลรหัส TMT/TMLT เพื่อให้หน่วยบริการต่างๆ สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลรหัส TMT/TMLT ได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
 
          จากการสร้างรากฐานระบบสุขภาพดิจิทัลไทยที่มั่นคงตลอด 10 ปี ทำให้เห็นชัดเจนว่าการพัฒนาระบบมาตรฐานข้อมูลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการวางแผนแนวทางการดำเนินงานในระดับประเทศ เพื่อให้มีระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพต่างระบ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้