ข่าว/ความเคลื่อนไหว
เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี การก่อตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ภายใต้พระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งตลอด 30 ปี ของการดำเนินงานตามภารกิจการบริหารจัดการงานวิจัยของ สวรส. ได้ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์สำคัญจากงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้งนี้ สวรส. จึงจัดประชุมวิชาการ 30 ปี “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 : ร่วมกันวิจัย ยกระดับคุณภาพชีวิต” TO THE NEXT DECADE : ENHANCE RESEARCH FOR LIFE ขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 ก.ค. 2565 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เพื่อประมวลรวบรวมผลลัพธ์การดำเนินงานตลอดจนเครือข่ายและกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพตลอด 30 ปี ที่ร่วมขับเคลื่อนในการวิจัยพัฒนา จนทำให้เกิดการปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้
ในการประชุมฯ ได้รับเกียรติจาก ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นประธานเปิดงาน รวมทั้งภายในงานยังมีผู้ทรงคุณวุฒิ, ผู้บริหารหน่วยงานด้านสาธารณสุขและการวิจัยพัฒนาของประเทศ อาทิ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ, นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ฯลฯ และผู้บริหารหน่วยงานสำคัญ เช่น สรพ., สสส., สปสช., สช.ฯลฯ ตลอดจนเครือข่ายการทำงานสำคัญร่วมภายในงานอย่างคับคั่ง
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สวรส. ยึดมั่นในพันธกิจการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ โดยนำเสนอข้อเสนองานวิจัยสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายและนำสู่การปฏิบัติ เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าเทียม ตลอดจนทำให้เกิดความยั่งยืนของระบบสุขภาพ รวมทั้งการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของสังคม เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดย สวรส. ทำหน้าที่ค้นหาความรู้ เหตุผล ข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการออกแบบหรือบริหารจัดการนโยบาย เพื่อการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ และในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของ สวรส. จึงได้จัดประชุมวิชาการ “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 : ร่วมกันวิจัย ยกระดับคุณภาพชีวิต” เพื่อให้ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมนำเสนอความภาคภูมิใจกับผลลัพธ์งานวิจัยที่ร่วมดำเนินงานมากับ สวรส. ในช่วงที่ผ่านมา ตลอนจนการนำเสนอความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับหรือตอบสนองการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษต่อไป
“ในทศวรรษถัดไป สิ่งสำคัญที่ สวรส. จะเร่งพัฒนาคือ การแพทย์จีโนมิกส์ หรือที่เราเรียกว่า Precision Medicine ซึ่งจะช่วยยกระดับระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทย รวมทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลระบบสุขภาพ และที่สำคัญที่สุด เราอยากทำการศึกษาที่เรียกว่า “อนาคตศึกษา” เพื่อจะมองไปอีก 10 หรือ 20 ปี ข้างหน้า ว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยควรจะพัฒนาไปในรูปแบบใด เพื่อตอบสนองกับปัญหา ความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต” นพ.นพพร กล่าว
ทั้งนี้ในเวทีการประชุมมีหัวข้อน่าสนใจที่หลากหลาย อาทิ การกระจายอำนาจด้านสุขภาพที่นำเสนอประสบการณ์และบทเรียนของการกระจายอำนาจ ตลอดจนการนำผลงานวิจัยไปขับเคลื่อนให้เกิดแนวทาง รวมถึงการปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม การสัมมนา “บทเรียนสู่อนาคตการจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์ใน PUBLIC HEALTH EMERGENCY” เพื่อสะท้อนภาพรวมสถานการณ์ของการจัดการยาและเวชภัณฑ์ในประเทศไทย การจัดซื้อ จัดหา กระจายยาฟาวิพิราเวียร์ ชุดตรวจ ATK และการบริหารจัดการวัคซีนในสถานการณ์วิกฤติในช่วง COVID-19
“งานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ สู่การพัฒนาระบบสุขภาพ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ” ซึ่งนำเสนอมุมมองการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์ไทยให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในระบบบริการสุขภาพ และการขยายผลในเชิงพาณิชย์ หรือนำไปใช้ในระบบสุขภาพ ภายใต้แนวคิดการสร้างความร่วมมือการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
และอีกหนึ่งเวทีที่สำคัญได้แก่ Genomics Thailand : Dare to be ASEAN leader in precision medicine เพื่อร่วมกันเปิดประตู “จีโนมิกส์ประเทศไทย” สู่ความพร้อมในการพลิกโฉมระบบสุขภาพและธุรกิจสุขภาพ จากจุดเริ่มต้นสู่การขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงระบบด้านการแพทย์จีโนมิกส์ และโอกาสเติบโต/ทิศทางของอุตสาหกรรมการแพทย์ การบริการ ธุรกิจ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูง และการพัฒนาบุคลากรไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับอาเซียน
ปิดท้ายด้วยเวทีเสวนาหัวข้อ “สมรรถนะระบบสุขภาพไทยเป็นอย่างไร ในยุค ก่อน-ระหว่าง-หลัง COVID-19” โดยชี้ให้เห็นสมรรถนะระบบสุขภาพของประเทศไทย ปี 2563-2564 ภายใต้แนวคิดในการประเมินผลลัพธ์ด้านสุขภาพขององค์กรระหว่างประเทศ OECD โดยเปรียบเทียบผลลัพธ์ด้านสุขภาพของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย ตลอดจนการตัดสินใจเชิงนโยบายในการแก้ปัญหา COVID-19
ส่วนในวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 จะมีการประชุมเสวนา 7 หัวข้อ ได้แก่ (1) “5 ปีแรก ของการติดตั้งวิธีวิเคราะห์ต้นทุนกิจกรรมบริการ ด้วยฐานข้อมูลอิเลกทรอนิกส์ในโรงพยาบาล เพื่อเป้าหมายพัฒนาโรงพยาบาลอย่างยั่งยืน”
(2) “ความรู้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ของต้นทุนบริการ” (3) “การพัฒนาและติตตั้งระบบวิเคราะห์ต้นทุน กับความยั่งยืนของการพัฒนาระบบสุขภาพ” (4) “การสร้างงานวิจัยแนวใหม่แบบผสมผสานเพื่อตอบโจทย์ปัญหากลุ่มเปราะบางในยุค
NEW NORMAL” (5) “การปฏิรูประบบสุขภาพโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์” (6) “ประชาชนได้อะไรจากการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ?” (7) “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 สวรส. รวมพลังเพื่อสุขภาพคนไทย”
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้