4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

"มื้อเช้า"สำคัญจุดเริ่มต้นเด็ก"เติบโต สมวัยเรียนรู้เร็ว"-ฐานเศรษฐกิจ

 

 

       

          สถิติใหม่ด้านสุขภาพ การเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็กไทยเป็นเรื่องที่น่าตกใจเสมอ ล่าสุดผลสำรวจพบว่าเด็กไทยยุคสังคมมิลเลนเนียมมีภาวะการเจริญเติบโตไม่สมวัย มีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และมีค่าเฉลี่ยไอคิวต่ำกว่าระดับสากล เรื่องนี้ "รศ.ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล" สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมจะแนะนำทางเลือกต้านภัยสุขภาพเด็กยุคใหม่ด้วยมื้อเช้ามีประโยชน์ให้เด็กไทย "เติบโต-สมวัย-เรียนรู้เร็ว"

          จากการสำรวจสุขภาพของเด็กวัยเรียนโดยกระทรวงสาธารณสุขปี 2554 พบว่า เด็กส่วนใหญ่มีพัฒนาการการเจริญเติบโตที่ไม่สมวัย โดยมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารไม่ครบ 3 มื้อ 60% พร่องมื้อเช้า-กินขนมกรุบกรอบที่ให้พลังงานเกินมาตรฐานเกือบ 3 เท่า ก่อให้เกิดปัญหาหลักระดับชาติคือ เด็กไทยมีความสูงต่ำกว่าเกณฑ์ มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และมีเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าระดับปกติ และจากผลสำรวจปีล่าสุด พบว่าเด็กวัยเรียนอายุ 1-14 ปี จำนวน 520,000 คน หรือ 4.4%  ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์ และเด็กไทยจำนวน 1,080,000 คน หรือ 9% มีปัญหาเรื่องความอ้วน มีแนวโน้มเสี่ยงป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่นๆ สูงกว่าเด็กปกติทั่วไป

          ขณะที่ผลสำรวจด้านเชาวน์ปัญญาพบว่าช่วง 14 ปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวของเด็กไทยไม่เพิ่มขึ้นเหมือนประเทศอื่นๆ มีเด็กถึง 50% ที่มีระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติคือ 80 ในขณะที่เกณฑ์มาตรฐานสากลของไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 90-110 จุด
          พฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กยุคมิลเลนเนียมหรือเด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2000 เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัว กลายเป็นต่างคนต่างไปตามภาวะที่เร่งรีบ ส่วนใหญ่พึ่งอาหารนอกบ้านหรือซื้ออาหารถุง อาหารว่างมักรับประทานขนมกรุบกรอบที่ไม่มีประโยชน์ จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 2554 พบว่า การบริโภคอาหารของเด็กไทยอายุ 6-14 ปี เกือบ 1 ใน 4 กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และเกือบ 1 ใน 5 ดื่มน้ำหวานน้ำอัดลมทุกวัน แล้วช่วงเช้าเป็นเวลาเร่งรีบที่ทุกคนในครอบครัวต่างต้องรีบเร่งแข่งขันกับเวลาเพื่อไปเรียนหรือไปทำงาน

          ดังนั้นจะเห็นว่ามีรายงานการละเลยอาหารเช้าโดยเฉพาะเด็กๆ วัยเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา ตื่นสาย หรือไม่มีอาหารเช้าเตรียมไว้ที่บ้าน จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมจึงรับประทานอาหารเช้าไม่สม่ำเสมอหรือไม่ได้รับประทานเลย ผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารเช้าของเด็กไทยยุคใหม่ พบว่าโดยเฉลี่ย 32 -48% งดหรือบริโภคอาหารเช้าเป็นบางวัน และการละเลยอาหารเช้ามีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น โดยพฤติกรรมพร่องมื้อเช้าของเด็กวัยเรียนจะส่งผลในระยะยาวต่อการเรียนรู้และพัฒนาการในที่สุด

          สำหรับแนวต้านภัยปัญหาสุขภาพนั้น รศ.ดร. ประไพศรี แนะนำว่าการรับประทานอาหารเช้าช่วยลดการเกิดปัญหาพัฒนาการการเจริญเติบโตไม่สมวัยของเด็กวัยเรียนได้ เพราะอาหารเช้าถือว่าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมต่าง ๆ หลังจากที่อดอาหารมาตลอดคืน โดย อาหารเช้าจะเป็นตัวกำหนดแบบแผนการบริโภคทั้งวัน ทั้งพบว่าเด็กที่กินอาหารเช้าทุกวันมีโอกาสน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าเด็กที่งดอาหารเช้า  และสามารถป้องกันโรคเบาหวานในเด็กได้ โดยเด็กที่อดอาหารเช้ามักจะเลือก อาหารที่ให้พลังงานสูงเกินความต้องการของร่างกาย เช่น อาหารจังก์ฟูด และของหวานในมื้อต่อๆ ไป เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ไม่เหมาะสมกับโภชนาการที่ต้องการ และเมื่อเด็กๆ รับประทานอาหารเช้าแบบไม่ถูกหลักโภชนาการเป็นประจำจะส่งผลให้อารมณ์เสียง่าย เครียด อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ เรียนรู้ช้า จนระดับไอคิวต่ำในที่สุด

          ส่วนเคล็ดลับที่เป็น "5 แนวทางส่งเสริมสุขภาพ" เด็กยุคใหม่ คือ
          1. อาหารเช้าที่มีประโยชน์แสนอร่อย ให้คุณแม่แทนที่อาหารจังก์ฟูดและอาหารที่ไม่เหมาะสมกับมื้อเช้า ด้วยเมนูมีประโยชน์ครบคุณค่าตามหลักโภชนาการ เช่น ข้าวต้ม หรือโจ๊ก

          2. สร้างต้นแบบการรับประทานอาหารเช้า "ครอบครัว" คือต้นแบบที่ดีที่สุดในการปลูกฝังนิสัยและสร้างแบบแผนการรับประทานอาหารเช้าที่มีประโยชน์ ถ้าอยากให้ลูกรักมีสุขภาพดี เติบโตสมวัย ต้องเริ่มจากพ่อแม่
          3. หยุดสั่ง! แนะนำลูกรักให้ถูกวิธี  การออกคำสั่งหรือดูลูกอาจเป็นวิธีที่รวดเร็วทันใจสำหรับเวลาอยากให้ลูกรับประทานอาหารเช้าให้หมด หรือบังคับรับประทานอาหารบางชนิดที่มีประโยชน์แต่ลูกรักไม่ชอบ ซึ่งจริงๆ แล้วจะส่งผลในระยะยาวให้เด็กๆ ต่อต้านการรับประทานอาหารเช้าหรืออาหารชนิดนั้นๆ มากขึ้น ดังนั้น พ่อแม่ควรแนะนำและส่งเสริมการรับประทานอาหารเช้าด้วยการสอนหรือใช้เทคนิคจูงใจ
          4. สื่อโภชนาการอิเล็กทรอนิกส์ ในยุคแท็บเลตครองเมือง ไลฟ์สไตล์ของเด็กยุคนี้จะผูกติดกับโลกออนไลน์เป็นพิเศษ ผู้ปกครองสามารถเพิ่มความรู้ให้เด็กๆ ได้จากการสรรหาเว็บไซต์ เกมหรือคอมมิวนิตีที่ให้สาระ เกร็ดความรู้ในรูปแบบสนุกสนานหรือเป็นการ์ตูนที่เด็กๆ ชอบ แต่ต้องไม่ลืมว่าการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นต้องให้เวลากับลูกในการแนะนำ อย่าปล่อยให้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาพรากเวลาที่สำคัญนี้
          และ 5. โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพบ้านหลังที่สองของเด็กๆ  เป็นอีกช่องทางสำคัญในการส่งเสริมการรับประทานอาหารเช้า อาจทำเป็นโครงการโรงเรียนอาหารเช้าแสนอิ่ม มีประโยชน์ครบคุณค่าไว้บริการสำหรับเด็กๆ ถ้าโรงเรียนไม่มีบริการอาหารเช้า คุณครูอาจคอยดูแลและควบคุมร้านค้าหรือสหกรณ์ในโรงเรียนให้จำหน่ายแต่อาหารเช้าที่มีประโยชน์ อร่อย ครบถ้วนคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ง่ายและสะดวก อีกทั้งเป็นที่วางใจสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองว่าลูกๆ จะได้รับประทานมื้อเช้าที่มีประโยชน์ทุกวัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 17-20 มิถุนายน 2555 หน้า 26

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้