4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. ร่วมกับเอ็มเทค สวทช. ส่งมอบนวัตกรรม HI PETE (ไฮพีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย แก่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และโรงพยาบาลเซนต์เมรี่

          จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีการระบาดและแพร่กระจายเชื้อในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังคงพึ่งพาการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศซึ่งนอกจากต้องใช้งบประมาณสูง ยังพบปัญหาการใช้งานของเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ตอบโจทย์ของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตใช้เองในประเทศและมีคุณภาพมาตรฐานเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีจุดเด่นที่สามารถออกแบบให้เป็นระบบสร้างความดันลบและห้องแยกผู้ป่วย สามารถปรับให้เหมาะสมกับรูปแบบความต้องการใช้งาน และขนาดพื้นที่ได้ โดยส่งมอบนวัตกรรม ไฮพีท (HI PETE) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย ให้แก่ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และโรงพยาบาลเซนต์เมรี่ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์รับมือสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 โดยมี นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยทีมวิจัยร่วมส่งมอบนวัตกรรมงานวิจัย เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ณ อาคารสำนักงานกลาง สวทช.

          นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า กล่าวว่า ระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สวรส. มุ่งเน้นขับเคลื่อนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองกับนโยบายของประเทศด้านสาธารณสุข โดยเต๊นท์ความดันลบ นับเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สถานการณ์ด้านการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้หลากหลายสถานการณ์ โดยเฉพาะกับการนำเต๊นท์ความดันลบ ไปใช้ในพื้นที่การกักตัวของผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน ที่พักอาศัย ทำให้ลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเต็นท์ความดันลบ สามารถป้องกันไม่ให้เชื้อของคนที่อยู่ข้างในเต็นท์ฯ กระจายสู่ข้างนอก ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ผ่านการวิจัยมีประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างมาก สวรส.จึงมุ่งหวังที่จะผลักดันให้ทุกโรงพยาบาลมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ และมีผลการวิจัยรองรับ เพื่อการนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          “อย่างไรก็ตาม ระยะถัดไป เราอาจต้องคิดค้นนวัตกรรม ห้องความดันบวก สำหรับป้องกันคนข้างใน ไม่ให้รับเชื้อจากข้างนอกด้วย ซึ่งผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้ป่วยที่ต้องการแยกตัวเป็นครั้งคราว เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่ให้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคปอดที่ต้องป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ฯลฯ ซึ่งการคิดค้นห้องความดันบวก หรือเต๊นท์ความดันบวกที่เคลื่อนย้ายได้ และสามารถจัดเก็บง่าย ก็จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี” ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว

          นายแพทย์นพพร กล่าวอีกว่า เทคโนโลยีเต๊นท์ความดันลบ นับเป็นก้าวสำคัญของระบบสาธารณสุขของประเทศในการดูแลประชาชน ที่ สวรส. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับ เอ็มเทค สวทช. พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแนวใหม่ หรือ BCG ที่เกิดความยั่งยืน ปกป้องสิ่งแวดล้อม และเกิดการขับเคลื่อนการวิจัยนวัตกรรมที่เป็นผลงานจากนักวิจัยไทย เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองภายในประเทศได้ ซึ่งงานวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์นั้น ศาสตร์ทางเทคโนโลยีต้องรวดเร็ว และสามารถต่อยอดใช้ประโยชน์ได้เลย ตลอดจนการผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ได้เองในประเทศ นอกจากจะนำไปสู่การลดการนำเข้าแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้อีกด้วย

          ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า สำหรับผลงาน HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย (Patient Isolation Chamber for Home Isolation)  เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค สวทช. ซึ่งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้มาจากการพัฒนาเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบความดันลบ ที่มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า “PETE (พีท)” มาเป็นเต็นท์สำหรับแยกผู้ป่วยแบบ Home Isolation และเรียกสั้นๆ ว่า “HI PETE (ไฮ พีท)” โดยทีมวิจัยได้ออกแบบและพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่จำเป็นต้องทำ Home Isolation ที่บ้าน แต่ไม่มีห้องแยกในที่อยู่อาศัย หรือใช้สำหรับโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกหรือกักผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อทางเดินหายใจ โดยมีจุดเด่นคือทำความสะอาดได้ง่าย สามารถปรับเลือกขนาดเต็นท์ได้เหมาะสมตามขนาดพื้นที่ห้องในที่อยู่อาศัย ต้นทุนต่ำ มีน้ำหนักเบาเคลื่อนย้ายง่าย สามารถย้ายไปติดตั้งใช้งานเป็นห้องรักษาพยาบาลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อชั่วคราว มีช่องหน้าต่างสำหรับสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน ลดระยะเวลา ลดภาระงาน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากร โดยปัจจุบัน HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย มีทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่
          1.รุ่น COMPACT (คอมแพ็ค) เป็นรุ่นที่มีขนาดเล็กพกพาง่าย ติดตั้งได้รวดเร็ว เหมาะกับที่บ้าน หรือ โรงพยาบาลสนาม
          2.รุ่น BALLOON (บอลลูน) มีดีไซน์ที่คล้ายลูกโป่ง ที่สามารถติดตั้งได้รวดเร็วด้วยปั๊มลม เหมาะกับโรงพยาบาลสนาม หรือหอผู้ป่วย
          3.รุ่น GRANDE (แกรนเด) เป็นรุ่นที่มีขนาดใหญ่ กว้างขวาง รองรับการติดตั้งเครื่องมือแพทย์ ตอบโจทย์การใช้งานในสถานพยาบาลที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยหนัก อาทิ แผนกฉุกเฉิน และหอผู้ป่วย

          นวัตกรรม HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยทั้ง 3 รุ่น ได้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยระบบไฟฟ้าเครื่องมือแพทย์ ผ่านมาตรฐานการทดสอบความเข้ากันได้ทันแม่เหล็กไฟฟ้า และผ่านมาตรฐานห้องสะอาด ISO 14644 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการส่งมอบ HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย ให้แก่ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และโรงพยาบาลเซนต์เมรี่ ทั้งหมดในวันนี้นอกจากเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ของการ “ปกป้อง” บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยแล้ว จะเป็นการร่วมมือกันศึกษาและปรับปรุงพัฒนานวัตกรรมเต็นท์ความดันลบให้ตอบโจทย์การใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพได้ต่อไป

          ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับบทบาทของบริษัทกับการสนับสนุนงานวิจัยไทยนั้น ในฐานะภาคเอกชนที่ช่วยสนับสนุนเตียงสนามและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบเข้าไปในเต็นท์เต็นท์ความดันลบ HI PETE (ไฮ พีท) โดยก่อนหน้านี้ทางบริษัทฯ ได้ร่วมกับทางสาธารณสุขจังหวัดระยองที่ต้องการเตียงสนาม ซึ่งสามารถรับน้ำหนักมาตรฐานได้ถึง 250 กิโลกรัม จึงได้ส่งมอบเตียงทั้งหมด 2,000 เตียงทั่วประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม ปตท. เพื่อให้ผู้ป่วยมีที่นอนในการแยกตัวเอง ในภาวะวิกฤติโควิด-19 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามตลอดการระบาดของโรคโควิด-19 ทางบริษัทและพันธมิตรได้ให้ความช่วยเหลือประชาชน บริจาคเตียงรวมทั้งหมด 7,000 เตียง รวมทั้งฟูก ผ้าปู หมอน ผ้าห่ม ซึ่งรู้สึกภูมิใจที่เป็นหนึ่งของภาคเอกชน ที่ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและบุคคลากรทางการแพทย์ใช้อย่างต่อเนื่อง

          “เตียงนี้สามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้ และเป็นอีกนวัตกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่ง สวทช. และอีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป ช่วยกันผนึกกำลังช่วยเหลือประเทศไทยในภาวะวิกฤติโรคระบาด ลดการพึ่งการเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสำคัญที่สุดช่วยให้ประชาชนคนไทยได้รับการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม”

          นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. เป็นองค์กรวิจัยที่นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างเป็นนวัตกรรม ขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ซึ่งในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา สวทช. ได้ส่งมอบนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยนวัตกรรมจากเทคโนโลยีของ สวทช. นี้พัฒนาขึ้นจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับทีมแพทย์ที่เป็นบุคลากรด่านหน้าที่สำคัญในการทำหน้าที่ดูแลรักษาชีวิตของผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก

          “งานวิจัยจะสำเร็จไม่ได้ หากขาดผู้สนับสนุนและผู้นำไปใช้ประโยชน์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นักวิจัย สวทช. ได้ใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีสาขาต่างๆ มาคิดและพัฒนาเป็นนวัตกรรมขึ้นมากมาย ซึ่ง HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย ก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. และพร้อมส่งต่อให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการนำไปใช้งานจริง ถือเป็นความสำเร็จและเป็นความมั่นคงทางการแพทย์ ตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG”

          ทั้งนี้ หากสถานพยาบาลหรือองค์กรใดที่มีความประสงค์ต้องการนำ HI PETE ไปใช้จริง และมีความพร้อมที่จะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้งานร่วมกับทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. สามารถแจ้งความจำนงมาได้ที่อีเมล PETE@mtec.or.th (ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ และ พรพิพัฒน์ อยู่สา) หรือ โทร. 02-564-6500

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้