4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ข้อมูลวิชาการชี้ชัด ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะเป็นวิกฤติชาติ หากไม่เร่งแก้ ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจและชีวิตคนไทย

          “วิกฤติสุขภาพจากเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ” : สถานการณ์กลับเข้าสู่ยุคก่อนมียาปฏิชีวนะ.....หวั่นความสูญเสียมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและถาวร หากไม่แก้ปัญหาทั้งระบบอย่างทันการณ์ นักวิชาการเร่งใช้มาตรการควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยาที่อยู่บนฐานของความรู้และวิชาการอย่างจริงจังเพื่อลดผลกระทบและความสูญเสียจากเชื้อดื้อยา

          ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในฐานะประธานคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาระบบการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ระบุว่า  “โรคติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญทั่วโลกเพราะเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มีอันตรายร้ายแรงเนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายชนิด ไม่มียารักษา  และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต  สถานการณ์กลับรุนเเรงเหมือนยุค 80 ปีก่อนมียาปฏิชีวนะ ทั้งนี้แต่ละปีคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมากกว่า 100,000 คน อยู่โรงพยาบาลนานขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน เสียชีวิตกว่า 30,000 คน และประเทศสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าหมื่นล้านบาท ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื้อในประเทศไทยดื้อยาอย่างรวดเร็วคือมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินจำเป็นอย่างกว้างขวาง ทั้งการใช้ยาโดยประชาชนในชุมชนและการใช้ยาในสถานพยาบาล แต่ละปีคนไทยใช้ยาปฏิชีวนะปีละมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยการใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าครึ่งเป็นการใช้ยามากเกินความจำเป็น ทำให้เชื้อโรคจำนวนมากในประเทศไทยดื้อยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

          นพ.พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า “เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสุขภาพเชิงระบบที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับบุคคลและหน่วยงานจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้ปัญหาเชื้อดื้อยาและการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นนโยบายระดับชาติที่สำคัญและเร่งด่วน ดังนั้น สวรส. จึงประสานงานการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยคณะกรรมการและคณะทำงานได้ดำเนินการมาแล้วหลายเดือนจนได้แผนงานที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนแล้ว สวรส. จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายภาคีวิชาการจัดสัมมนาระดับชาติ “เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ : ภาวะวิกฤตต่อสุขภาพคนไทย” ขึ้นในระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม นี้ เพื่อให้นักวิชาการ หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องร่วมกันระดมความคิดเกี่ยวกับระบบการควบคุมและป้องกันการดื้อยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับประเทศไทย สวรส. จะนำผลจากการสัมมนานี้ไปใช้ขับเคลื่อนการควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยาต่อไปอย่างมีพลังโดยเร็ว”

          นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยและพัฒนาระบบยา สวรส. กล่าวว่า “การสัมมนานี้ ได้ระบบและแผนการควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะที่ชัดเจน และครอบคลุมปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาและการใช้ยา การควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อ การส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและความตระหนักแก่สังคมเรื่องเชื้อดื้อยาและรณรงค์ให้งดใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม ทั้งในมนุษย์และสัตว์ มาตรการสำคัญสูงสุดในการควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยา คือ 1) สถานพยาบาลทุกแห่งมีมาตรการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด  2) สถานพยาบาลเข้มงวดในการตรวจสอบและอนุมัติการใช้ยาปฏิชีวนะ 3) บุคลากรสาธารณสุขให้บริการผู้ป่วยตามแนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล  4) สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและความตระหนักเรื่องเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะให้กับประชาชน  5) จำกัดการจ่ายยาปฏิชีวนะที่ร้านยา  และ 6) งดใช้ยาปฏิชีวนะแก่สัตว์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ที่ใช้บริโภคเป็นอาหาร  

          ทั้งหมดนี้ต้องการการลงทุน ทั้งทุนปัญญา ทุนทางสังคม และทุนเงินที่เพียงพอในการแก้ปัญหา โดยความร่วมมือจาก กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงศึกษาธิการ  สปสช.  สสส.  สวรส.  สช. และองค์กรภาคเอกชน ตลอดจนสภาและสมาคมวิชาชีพด้านสาธารณสุขทั้งหมด

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้