4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส.เปิดรับข้อเสนองานวิจัยปีงบ 66 เน้นงานวิจัยรองรับสถานการณ์ประเทศ มุ่งใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย พร้อมยกระดับความมั่นคงทางการแพทย์ และการเข้าถึง เท่าเทียมด้านสุขภาพ

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุม “ก้าวสู่มิติใหม่กับการวิจัยพัฒนาระบบสุขภาพ” เพื่อชี้แจงกรอบงานวิจัยปีงบประมาณ 2566 ในรูปแบบออนไลน์ พร้อมเปิดรับข้อเสนองานวิจัย ภายใต้ทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพ รวมทั้งการส่งเสริมนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ตลอดจนสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และการยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวมีนักวิจัย นักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วมฟังการประชุมและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กว่า 200 คน เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา

          นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวในการบรรยายเรื่อง “ยุทธศาสตร์การวิจัย สวรส. ปี 2565-2569 กับการรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก” ว่า ความท้าทายหนึ่งของงานวิจัยคือ การแก้โจทย์ปัญหาภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่ง สวรส. พยายามสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพ โดยสังเคราะห์ผลจากการวิจัยเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อผลักดันให้แต่ละนโยบายด้านสุขภาพมีฐานมาจากองค์ความรู้เชิงประจักษ์ รวมทั้งยุทธศาสตร์ของ สวรส. ปัจจุบัน ภายใต้การเป็นหน่วยงานหลักด้านการวิจัยระบบสุขภาพของประเทศ สิ่งสำคัญคือ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากงานวิจัย (Objectives and key results: OKRs) ต้องส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน โดย สวรส. มีการขับเคลื่อนสู่การนำไปใช้ประโยชน์ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

          นพ.นพพร กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน ทั้งเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ที่ประชากรสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งทำให้มีความต้องการเครื่องอำนวยความสะดวก มีความต้องการการบริการทางการแพทย์กับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น โดย 80% ของงบประมาณในการรักษาคนหนึ่งคน มักถูกใช้ในช่วง 20% สุดท้ายของชีวิต ดังนั้นระบบบริการสุขภาพ ต้องเตรียมการเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวให้เพียงพอ  นอกจากนั้นความแตกต่างของคนแต่ละกลุ่มวัย (generation) ที่อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี เช่น AI, Metaverse, Quantum technology ฯลฯ ช่องว่างระหว่างคนรวย-จนมีมากเกินไป และมีโอกาสที่คนจนจะเพิ่มมากขึ้น โดยลดระดับลงมาจากชนชั้นกลาง ความไม่เป็นธรรมทางด้านสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งมักเห็นชัดและถูกขยายขึ้น เมื่อประเทศเกิดวิกฤต ซึ่งประเด็นงานวิจัยด้านสุขภาพ ต้องรองรับสถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าว และพัฒนาระบบสุขภาพไปสู่การสร้างความทั่วถึง เท่าเทียม และสามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกับการพัฒนาคุณภาพบริการของสถานพยาบาลทุกระดับให้มีมาตรฐานและปลอดภัย ตลอดจนระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศต้องมีความยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดต้องใช้การวิจัยในการวางแผนและพัฒนา ทั้งนี้คำถามวิจัยที่ดี จะนำไปสู่ผลลัพธ์ของการวิจัยที่ดี และสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาที่ดีขึ้นได้อย่างชัดเจน

          ด้าน ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ย้ำว่า การประชุมก้าวสู่มิติใหม่กับการวิจัยพัฒนาระบบสุขภาพนี้ นอกจากเป็นเวทีในการชี้แจงกรอบงานวิจัยของ สวรส. ปีงบประมาณ 2566 แล้ว ยังเป็นเวทีที่ สวรส. เปิดโอกาสให้นักวิจัย/นักวิชาการ และผู้สนใจด้านการวิจัยระบบสุขภาพ ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันเป็นเครือข่ายการวิจัยด้านสุขภาพ ที่จะช่วยกันสร้างงานวิจัยที่สามารถขับเคลื่อนการแก้ปัญหาระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีความรู้เป็นฐานการคิด และส่งต่อไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายเป็นสำคัญ

          นอกจากนี้ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ได้แก่ ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์, ทพ.จเร วิชาไทย, ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ, ภญ.ดร.นพคุณ ธรรมธัชอารี และคุณบุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ได้ร่วมนำเสนอกรอบประเด็นวิจัย ภายใต้ 2 แผนงานคือ แผนงานวิจัยมุ่งเป้าด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีแผนงานวิจัยย่อย เช่น ระบบยา เวชภัณฑ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ กำลังคนด้านสุขภาพ ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ระบบบริการสุขภาพ การเงินการคลังสุขภาพ ระบบอภิบาลสุขภาพ กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เป็นต้น ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อ ยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศให้พร้อมรับมือกับโรคระบาดระดับชาติ และโรคอุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งแผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย ที่ต้องการให้ ประเทศไทยสามารถยกระดับการให้บริการจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ เพื่อให้เกิดบริการการรักษาที่มีความแม่นยำสูงและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งทุกแผนงานให้ความสำคัญกับการตั้งโจทย์วิจัยที่ตรงกับความต้องการ และสามารถแก้ปัญหาเชิงระบบได้อย่างชัดเจน โดยควรจัดทำข้อเสนองานวิจัยให้ชัดว่า งานวิจัยแก้ปัญหาอะไร ผลที่จะเกิดขึ้นคืออะไร และจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างไร ภายใต้การมองปัญหาทั้งภาพใหญ่และลงรายละเอียดในภาพย่อย พร้อมกับมีการศึกษาข้อมูลสถานการณ์จริงที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ควรเป็นการวิจัยที่มีกระบวนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เกี่ยวข้องหลากหลายสาขา เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์และสะท้อนปัญหาอย่างรอบด้านมากขึ้น และควรมีการบริหารจัดการความเสี่ยงตลอดการดำเนินงานวิจัยด้วย 

          ทั้งนี้ สวรส.จะเปิดรับข้อเสนองานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.-31 มี.ค. 2565 นี้ โดยสามารถดูรายละเอียดกรอบการวิจัยปีงบประมาณ 2566 ได้ทางเว็บไซต์ สวรส. https://www.hsri.or.th/researcher/fund/detail/13607 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ แผนงานวิจัยมุ่งเป้าด้านการแพทย์และสาธารณสุข โทร 0 2027 9701 ต่อ 9042, 9044, 9048 แผนงานวิจัยจีโนมิกส์ประเทศไทย ต่อ 9059, 9060

รายละเอียดกรอบวิจัย สวรส.ปีงบ 2566

QR CODE รายละเอียดกรอบวิจัย สวรส.ปีงบ 2566

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้