4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

‘เด็กแคมป์ก่อสร้าง’ กับยถากรรมทางสุขภาพในวิกฤตโควิด

          บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติต่อ “เด็ก” ทั่วโลก หากยึดตามสิ่งที่ควรกระทำ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเพื่อคุ้มครองเด็กทั่วโลก ที่มีบัญญัติสิทธิ 4 ประการ ได้แก่ 1.สิทธิที่จะมีชีวิตรอด 2.สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง 3.สิทธิในการพัฒนา และ 4.สิทธิในการมีส่วนร่วม เมื่อเราตั้งโจทย์เอาไว้เช่นนี้ คำถามต่อจากนี้ คือ แล้วเด็กไทย และเด็กที่อยู่ในเมืองไทย ถูกปฏิบัติตามหลักสากลนี้แล้วหรือยัง ?

          จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด -19  ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่า เรายังคง “ทิ้งเด็กส่วนหนึ่ง” ที่อาจเรียกพวกเขาว่า “กลุ่มเด็กเปราะบาง” ที่รวมถึงกลุ่มเด็กเร่ร่อน เด็กต่างด้าว เด็กจากครอบครัวยากจน ฯลฯ อีกจำนวนมากเอาไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ อาจด้วยความไม่พร้อมของการจัดการ  ข้อจำกัดทางกฎหมายหรือผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติที่ไม่สามารถทำให้เกิดรูปธรรมของการช่วยเหลือและการพัฒนาที่ยั่งยืนกับเด็กกลุ่มนี้ได้

          เพื่อฉายให้เห็นปรากฎการณ์ปัญหาเด็กที่สังคมอาจหลงลืมไป และเป็นโอกาสของการยกขึ้นเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและขับเคลื่อนสังคมด้วยการศึกษาและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการ  สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ชะตากรรมและอนาคตของเด็กเปราะบางในสถานการณ์โควิด” ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา  ซึ่งเวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการศึกษา “ชีวิตและสุขภาพของเด็กต่างด้าวกับการเข้าถึงบริการสาธารณสุข” และ “การพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและขับเคลื่อนงานของครูข้างถนน” ตามแผนดำเนินงานวิจัย ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน

          รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดศูนย์จิตตปัญญาศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าแผนงานวิจัยฯ บอกเล่ากับวงเสวนาว่า การคำนึงถึงชีวิตเด็ก คือ ทางออกของปัญหา ดังนั้นการทำงานต้องอยู่บนฐานที่ปฏิบัติได้จริง โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็ก เช่น เด็กต่างด้าวมีบริบทชีวิตที่ซับซ้อน อยู่ภายใต้สภาพสังคมและครอบครัวที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป การออกแบบแนวทางการทำงานจึงต้องให้ความสำคัญกับธรรมชาติของเด็กเป็นสำคัญ ตัวบทบัญญัติทางกฎหมายมีมากมายแต่แนวทางปฏิบัติที่ไม่สามารถทำได้จริง ก็ไม่ต่างอะไรกับการเพิกเฉยและปล่อยให้ชีวิตของพวกเขาเป็นไปตามยถากรรม หรือแม้แต่กลุ่มครูข้างถนนซึ่งเปรียบเป็นฟันเฟืองสำคัญในการทำงานที่เข้าถึงเด็กกลุ่มนี้ได้มากที่สุด ฉะนั้น การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับคนทำงานจริงในพื้นที่เช่นกลุ่มครูข้างถนนนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกวิธี

          อีกเสียงที่สะท้อนภาพของเด็กต่างด้าวในแคมป์คนงานก่อสร้างให้เด่นชัดมากขึ้นจากประสบการณ์ของคนทำงานด้านเด็กโดยตรง พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ที่สะท้อนถึงปัญหาของเด็กเปราะบาง โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กต่างด้าวจากครอบครัวแรงงานในเมืองไทยว่า รัฐบาลยังขาดมาตรการรองรับเพื่อการป้องกัน การเข้าถึงและดูแลรักษาการติดเชื้อภายในครอบครัว ส่งผลให้เด็กในครอบครัวของคนงานต่างด้าวติดเชื้อเพิ่มเป็นจำนวนมาก โดยมีกลุ่มเด็ก0-5 ปีต่างชาติที่ติดเชื้อสะสมประมาณ 5 พันรายตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 และไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม พบเด็กเสียชีวิตสะสมประมาณ 10 ราย ด้วยเด็กต่างด้าวจำนวนมากไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพ รวมทั้งเมื่อเด็กไม่ได้อยู่ในโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนที่เข้าถึงได้ ทำให้ระบบสาธารณสุขไม่ได้เตรียมการรองรับสำหรับเด็กกลุ่มนี้อีกด้วย

          “ในช่วงโควิด-19ครั้งนี้ สิ่งที่เด็กในกลุ่มครอบครัวของคนงานก่อสร้างต้องเจอกับปัญหาการติดเชื้อและการแพร่ระบาดในกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งจากบางครอบครัวที่ยังเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ปิดบังตัวตนเอาไว้เนื่องจากความกลัว ทำให้ไม่ยอมแจ้งข้อมูลที่ชัดเจน ขณะที่การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับเด็กต่างด้าวนั้นยังคงทำได้ยาก เนื่องจากเด็กจำนวนมากไม่มีสถานะทางทะเบียน รวมทั้ง มีการอพยพเคลื่อนย้ายที่อยู่ตามการทำงานของพ่อแม่ที่เป็นแรงงาน หรือเดินทางไปมาระหว่างไทยกับประเทศตนเอง ที่ทำให้การติดตามตัวเกิดขึ้นได้ยากด้วยเช่นกัน” พญ.โชษิตา กล่าว

          ด้านนางสาวทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เผยข้อมูลเมื่อครั้งลงไปทำงานช่วยเหลือเด็กเปราะบางในวิกฤติโควิด -19 ว่า ไซต์งานก่อสร้างบางแห่ง เมื่อพบว่ามีแรงงานติดเชื้อก็มักจะปกปิดและไม่เปิดเผยข้อมูล แต่จะใช้วิธีจัดการกันเอง ซึ่งเราพบว่ามีปัญหามากกว่าเพราะมีผลกระทบต่อเด็กในแคมป์คนงานโดยตรง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กในโครงการครูข้างถนน จึงต้องทำงานเชิงรุก ด้วยการขออนุญาตเจ้าของโครงการเพื่อเข้าพื้นที่ไปดูแลเด็กๆ พร้อมกับประสานหน่วยงานภายนอก และงบสนับสนุนจากสปสช. เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ และยารักษาโรคให้แก่เด็กเพื่อการป้องกันและรักษาได้มากที่สุด 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้