4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

120 วันกับการเปิดประเทศท่ามกลางโควิด : วิจัย “วัคซีน” มีคำตอบ

          ประเทศไทย กลายเป็น 1 ใน 5 ของประเทศทั่วโลก ที่ประกาศว่าจะเปิดประเทศ ต้อนรับคนทั้งโลกให้เข้ามา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และเป็นการบ่งบอกอย่างชัดแจ้งว่า ไทย จะต้องอยู่กับโรคระบาดนี้ให้ได้

          สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง CNN และรอยเตอร์ ระบุถึงเรื่องนี้เมื่อราวกลางเดือนกันยายน 2564 ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศถัดจาก เดนมาร์ก สิงคโปร์ ชิลี และแอฟริกาใต้ ที่จะเปิดประเทศเพื่อต้อนรับต่างชาติ ทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ ซึ่งประเทศเหล่านั้นมีการฉีดวัคซีนให้ประชากรไปแล้วในสัดส่วน 70% ขึ้นไป โดยเหตุผลหลักของการเปิดประเทศสำหรับประเทศไทยเอง ก็ด้วยผลจากแรงกระทบทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับโควิด 19 ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้หลักโดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวไปนับแสนล้านบาท

          ตัวเลขที่หายไปกระทบกับทุกห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รัฐบาลจึงได้ประกาศเมื่อ 22 มิถุนายน 2564 ว่าในอีก 120 วันข้างหน้า จะเปิดประเทศ และระหว่างนี้จะต้องเร่งระดมการฉีดวัคซีนคนไทยให้ครอบคลุมมากที่สุด หรืออย่างน้อยที่สุด 70% ของประชากรจะต้องได้รับวัคซีน เพื่อลดทอนผลกระทบที่ตามมาซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการเปิดประเทศให้ได้มากที่สุด

          อย่างไรก็ตาม หากการเปิดประเทศต้องเกิดขึ้น ขณะที่ตัวเลขผู้ที่ได้รับวัคซีนในประเทศไทยยังคงรักษาระดับอย่างที่เป็นอยู่ เราจะได้เห็นภาพอย่างไรสำหรับการเปิดประเทศที่จะถึงนี้?

          คำตอบที่พอทำให้เห็นเค้าลางอนาคตจากการเปิดประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล อาจอธิบายได้ด้วยผลงานวิจัย โครงการประเมินผลกระทบและความคุ้มค่าของวัคซีนโควิดที่พึงประสงค์เพื่อใช้ในการพัฒนาและคัดเลือกวัคซีนสําหรับใช้ในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยทีมวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)  ถอดข้อมูลจากแบบจำลองสถานการณ์ที่น่าสนใจในประเด็นการเปิดประเทศในกรอบ 120 วัน และผลงานวิจัยชิ้นนี้เอง ที่ทำให้เราพอเห็นภาพการเปิดประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์การติดเชื้อจริง รวมไปถึงตัวเลขที่เป็นผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศไทย

          ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ นักวิจัยเครือข่ายสวรส. หนึ่งในทีมนักวิจัย ฉายภาพให้เห็นว่า หากสามารถจัดหาวัคซีนได้ตามจำนวนที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ คือ 40 ล้านโดสใน 4 เดือน จะสามารถลดการแพร่ระบาดและผู้เสียชีวิตลงได้ประมาณครึ่งหนึ่ง คือ ระหว่างกรกฎาคม - ตุลาคม 2564 จะมีผู้ติดเชื้อราว 2 แสนคน ผู้เสียชีวิตเกือบ 1 หมื่นคน จากเดิมที่คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 4 แสนคน ผู้เสียชีวิตราว 2 หมื่นคน ถ้าอัตราการให้วัคซีนยังเป็นเหมือนช่วงเดือนกรกฎาคม

          อีกทางหนึ่ง คือ หากหาวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และเร่งฉีดได้ทัน 80 ล้านโดสใน 4 เดือน จะสามารถลดการแพร่ระบาดและผู้เสียชีวิตลงได้จำนวน 150,000 คน และ 1 หมื่นคนตามลำดับ แต่หากไม่มีการให้วัคซีนเลยในอีก 4 เดือนข้างหน้า (หรือ ณ เดือนตุลาคม 2564) จะมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกกว่า 670,000 คน และผู้เสียชีวิตกว่า 36,000 คน การให้วัคซีนที่จัดซื้อไว้แล้วล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน

           การพิจารณาถึงประสิทธิผลวัคซีนกับกลุ่มเป้าหมายยังเป็นประเด็นสำคัญ โดยวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ จะเหมาะกับกลุ่มประชากรอายุ 20-39 ปี โดยวัคซีนที่มีประสิทธิผลลดความรุนแรงของโรค เหมาะในการให้ในกลุ่มสูงวัยตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

          ทั้งนี้ ในด้านของการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แน่นอนว่าประเทศไทยเองยังคงไม่มีโอกาสของการเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงการเปิดประเทศในอีก 120 วัน เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อและมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติ รวมไปถึงการฉีดวัคซีนยังคงไม่เพียงพอ ประกอบกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ระบาดได้ง่าย ทำให้ระดับความครอบคลุมของวัคซีนเพื่อเกิดความคุ้มกันหมู่ ยิ่งสูงขึ้นไป

          “เราพบว่าวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ จะสามารถลดความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโรค และจะสามารถ ‘ลดจำนวน’ ผู้เสียชีวิตได้ ‘มากกว่า’ วัคซีนที่มีประสิทธิผลในการลดความรุนแรงของโรคในกลุ่มผู้ติดเชื้อเพียงอย่างเดียว” ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ นักวิจัยเครือข่ายสวรส. กล่าว

          หากมองสถานการณ์ตัวเลขจริง พร้อมๆ ไปกับงานวิจัยที่ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งเห็นได้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอยู่ ซึ่งพบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเราจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลในการตัดสินใจของรัฐบาลนานาประเทศ ที่จะอนุญาตให้ประชากรของพวกเขาเดินทางมายังประเทศไทยหรือไม่

          ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ระบุว่า การให้วัคซีนสู้กับโควิด 19 ร่วมกับการใช้มาตรการ Social Vaccine อย่างเข้มข้น การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ ซึ่งทั้งหมดต้องทำอย่างเคร่งครัด ปัจจุบันแม้ว่าประชากรจะได้รับวัคซีนไปแล้วก็ตาม แต่มาตรการ social vaccine ยังคงเป็นกุญแจสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19

          “อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ หากผู้กำหนดนโยบายพิจารณานำข้อเสนอจากงานวิจัยใช้ในการเลือกและฉีดวัคซีนให้กับคนไทย ควบคู่ไปกับความร่วมมือของคนในประเทศกับการปฏิบัติตามมาตรการ Social Vaccine การเปิดประเทศน่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ อาจจะไม่ใช่ภายใต้กรอบระยะเวลา 120 วัน แต่บนความพร้อมทางสุขภาพของคนไทย ที่จะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเพียงพอต่อการต่อสู้กับโรค และขับเคลื่อนประเทศได้ต่อไป” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวทิ้งท้าย

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้