ข่าว/ความเคลื่อนไหว
“ครอบครัว” นับเป็นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตและพัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งทิศทางการพัฒนาของประเทศทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวให้อ่อนแอเปราะบางลง ความอ่อนแอของครอบครัวมีความชัดยิ่งขึ้นจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ภาพความเครียดของสมาชิกครอบครัวที่เคยหารายได้เลี้ยงครอบครัว ต้องตกอยู่ในสภาพขาดรายได้ ส่งผลต่อสภาพจิตใจของสมาชิกทุกคนในครอบครัว ทั้งภาวะซึมเศร้าจากการที่ต้องเผชิญกับปัญหารายได้ ความเครียดจากความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ไม่มากก็น้อย สถานการณ์เหล่านี้ ครอบครัวในระบบเมืองมีโอกาสเผชิญปัญหาสูงกว่า และต้องไม่ลืมว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนและความรุนแรงของการทำร้ายกันในครอบครัว การหย่าร้าง ปัญหายาเสพติด เด็กและคนชราถูกทอดทิ้ง หรือการฆ่าตัวตาย ทั้งหมดล้วนสะท้อนได้ถึงภาวะความอ่อนแอของครอบครัวไทยที่กำลังเผชิญ
ทั้งนี้ มุมมองความเห็นจากเวทีเสวนา “วิกฤตความอยู่รอดของครอบครัวเปราะบางในสถานการณ์โควิด-19” ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น โดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญการแก้ปัญหา ตลอดจนบุคลากรคนทำงานด้านสุขภาพซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องในอีกมิติของเรื่องนี้ ได้ให้ความเห็นต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ
รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดศูนย์จิตตปัญญาศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าแผนดำเนินงานวิจัย ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ให้ความเห็นว่า ความเปราะบางของสถาบันครอบครัวท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเห็นถึง ภาวะพึ่งพิงหรือช่วยตนเองไม่ได้ ที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทั้งภายนอกและภายในจิตใจ เช่น ภาวะตกงานหรือขาดรายได้จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขาดปัจจัยสี่ การเข้าไม่ถึงระบบสุขภาพ วัคซีน การตรวจเชื้อ ตลอดจนช่องทางการรักษาหรือระบบต่างๆ รวมถึงความรู้ความสามารถในการดูแลป้องกันตัวเองและแก้ปัญหาต่างๆในวิกฤติที่ซับซ้อนขึ้น สำหรับครอบครัวและคนที่ได้รับผลกระทบไม่มาก อาจเห็นปรากฎการณ์เหล่านี้ แค่เพียงผ่านตาจาการเสพข่าวข้อมูลในแต่ละวัน จนเป็นความคุ้นชิน
อีกด้านของปัญหาครอบครัวที่มีผลกระทบลึกลงไปและสะท้อนความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ ปัญหาครอบครัวในชุมชนแออัด นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค เผยว่า เรามีรายได้เพียงวันละ 300 กว่าบาท ในสถานการณ์ที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น บางครอบครัวต้องจำนนจบลงด้วยการตกงาน ส่งผลกระเทือนทั้งครอบครัว ช่วยตัวเองไม่ได้ เลี้ยงดูครอบครัวไม่ได้ ต้องพึ่งพิงสิ่งต่างๆ จากการบริจาค รับการช่วยเหลือภายนอก เช่น อาหาร ที่พัก ซ้ำร้ายติดโควิดและด้วยสภาพครอบครัวที่อยู่รวมกันหลายคนภายในห้องเล็กๆ ไม่สามารถแยกกักตัวตามแนวทางที่แนะนำ การเข้าไม่ถึงระบบการรักษา สุดท้ายต้องพากันติดโควิดทั้งครอบครัว และที่น่าหดหู่คือบางครอบครัวพ่อแม่เสียชีวิตจนเหลือเพียงเด็กที่เหลือรอดอยู่เพียงลำพัง
“สิ่งที่สะท้อนให้เราเห็น คือ เรายังต้องพึ่งพารัฐ แต่ขณะที่รัฐก็อาจยังไม่สามารถพึ่งพิงได้มากนัก การทำงานของรัฐที่ไม่คล่องตัว ระเบียบขั้นตอนของรัฐที่มาก ทำให้การแก้ปัญหาไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเสนอว่าต้องมีระบบการทำงานที่มีส่วนร่วมมากขึ้น ตลอดจนพัฒนารัฐสวัสดิการหรือจัดระบบที่ให้คนจนมีหลักประกัน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่คือการประกันคุณภาพชีวิตที่ดี” ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค สะท้อนความเห็นในวงเสวนา
ด้าน นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ่อเกลือ จ.น่าน นำเสนอมุมมองด้านระบบสุขภาพ ในการเปิดรับผู้ป่วยจากพื้นที่ระบาดรุนแรงกลับมารักษายังภูมิลำเนา เพราะประชาชนเชื่อว่าการอยู่ในเมืองเหมือนกับการรอติดเชื้อ รอตรวจหาเชื้อ รอเตียงรักษา และถึงขั้นรอความตายอยู่ที่บ้าน ในขณะที่ต่างจังหวัดยังคงมีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อ และมีเตียงสำหรับดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิดอยู่ หรือถ้ายังไม่ติดเชื้อก็มีกลไกของชุมชนในการประคับประคองให้ประชาชนที่กลับมาสามารถกักตัวจนครบ 14 วันได้ สะท้อนภาพของการหลีกหนีความเสี่ยงและความไม่มั่นคงทางสุขภาพในเมืองหลวง ข้อเสนอคือ ควรกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการปัญหาไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับปัญหาปลายทาง การปรับกฎระเบียบต่าง ๆ ของรัฐที่ไม่สามารถตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงทีให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ตลอดจนการเยียวยาทางเศรษฐกิจ และจัดสวัสดิการทางสังคมที่หลากหลายและเหมาะสมกับทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางสุขภาพในครั้งนี้
ดร.ดิเรก หมานมานะ สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ครอบครัวเปราะบางในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะต่างกับครอบครัวเมือง เช่น ความเชื่อวิถีวัฒนธรรมมุสลิม ส่งผลให้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดนั้น ภรรยาและลูกจะต้องให้สามี/พ่อเห็นชอบก่อนจึงจะฉีดได้ ครอบครัวที่เป็นหญิงหม้ายจากการสูญเสียสามีที่ติดโควิด ไม่สามารถค้าขายได้ ทำให้ไม่มีรายได้ ดังนั้นวันนี้เรารอพึ่งพารัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ นอกจากภาครัฐจะส่งเสริมสวัสดิการแล้ว รัฐยังต้องกระจายอำนาจจากส่วนกลางให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองบนบริบทวัฒนธรรมของเขาได้ เช่น ปรับปรุงระเบียบให้คล่องตัวเพื่อหนุนภาคประชาสังคมหรือองค์กรพัฒนาเอกชน โรงเรียน วัด มัสยิด ให้มีส่วนร่วมในการทำงานเสริมพลังภาครัฐ เป็นต้น
ทางด้าน ดร.สมใจ รักษาศรี มูลนิธิสถาบันครอบครัวไทย เสนอว่า รัฐต้องสร้างให้ครอบครัวไทยแข็งแกร่งขึ้น โดยต้องมีโครงสร้างการทำงานที่มีความพร้อมและทำงานได้ทันกับสถานการณ์ หรือทำหน้าที่เป็นกลไกกลางในการเชื่อมประสานภาคส่วนต่างๆเข้ามาสนับสนนุนเอื้ออำนวย สร้างความพร้อมให้กับประชาชน การกระจายอำนาจในการบริหารจัดการไม่รวมศูนย์ การพัฒนาที่มี “คน-ครอบครัว” เป็นตัวตั้ง บนความเข้าใจรากฐานของปัญหา โดยเฉพาะปัญหาความยากจนกับการแก้ปัญหาด้วยรัฐสวัสดิการ ตลอดจนการนำสิ่งต่างๆมาเป็นบทเรียนการทำงาน เพื่อเรียนรู้สำหรับการเตรียมพร้อมกับการรับมือวิกฤตที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต
ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า ที่ผ่านมาครอบครัวนับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโดยตรง ซึ่งปัญหาครอบครัวนั้นยิ่งชัดเจนขึ้นมากในวิกฤตโควิด-19 และปัญหานี้มักจะถูกมองแค่เป็นปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาหรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง แต่ในความเป็นจริงมีภาวะปัญหามานานแล้ว สิ่งที่ต้องการ คือ การวิเคราะห์ถึงรากของปัญหาและเชื่อมโยงกับโครงสร้างของระบบที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าประเทศเราจะไม่มีการระบาดของโควิด-19 แต่จะเห็นว่าครอบครัวไทยจำนวนไม่น้อยก็มีความอ่อนแออยู่มาก ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่รายได้น้อย ต้องทำงานทั้งคู่ มีเวลาในการดูแลอบรมบุตรน้อย ย่อมส่งผลต่อความสามารถที่จะพัฒนาเด็กให้เติบโตอย่างสมวัย ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด การเข้าถึงการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ยิ่งจะถ่างโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเด็กด้วยกันอย่างรุนแรง
สวรส. เห็นความสำคัญและผลกระทบของปัญหานี้ที่เชื่อมโยงกับระบบสังคมและสุขภาพ จึงได้สนับสนุนงานวิจัยทางด้านสังคมและครอบครัว ตลอดจนกิจกรรมการแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อการขับเคลื่อนการแก้ปัญหา “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนสุขภาวะของครอบครัวเปราะบางในสังคมไทย” เป็นหนึ่งในงานวิจัยภายใต้แผนพัฒนาสุขภาพสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบาง และเป็นความร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน เพื่อศึกษาสถานการณ์และหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ เน้นการแก้ปัญหาอย่างเชื่อมโยงและมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ โดยเป็นการทำงานในระยะยาวเพื่อสร้างความเข้มแข็งของรากฐานครอบครัว และการจัดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ มีโครงสร้างการทำงาน มีนโยบาย มีความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่คาดหวังที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับสถาบันครอบครัว แต่ก็ยังมีประสิทธิภาพไม่มากพอที่จะแก้ปัญหาให้กับครอบครัวที่เผชิญปัญหาความซับซ้อนในหลายมิติ ซึ่ง “วิกฤติครอบครัวนั้นคือ อาการของวิกฤติเชิงระบบ” ที่จำเป็นต้องหาทางออกด้วยการทำงานในระดับฐานคิด กระบวนทัศน์ โดยมองให้เห็นว่า วิกฤติครอบครัวคือวิกฤติเชิงระบบที่มีตัวกำหนดปัจจัยในหลายระดับที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ซึ่งการพัฒนาที่ผ่านมาจัดอยู่ในทิศทางที่ไม่ได้เอาความผาสุกมั่นคงของครอบครัวเป็นเป้าหมาย แต่ถูกใช้เป็นต้นทุนหรือปัจจัยการผลิตของ “การพัฒนาประเทศ” ดังนั้นการกลับกระบวนทัศน์ที่การมองให้เห็นว่า ครอบครัวคือต้นทุนหรือฐานสำคัญของอนาคต ที่จะนำมาซึ่งความยั่งยืนของสังคม ชุมชน และประเทศ โดยครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญของการนำไปสู่ความสำเร็จของนโยบายทางสุขภาพ สังคม การศึกษาหรือเศรษฐกิจ ในทางกลับกันนโยบายต่างๆ ที่มีครอบครัวเป็นฐานสำคัญของการคิดหรือเป็นเป้าหมายการพัฒนา ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาในแบบรากลึกที่ยั่งยืนมั่นคงได้เช่นกัน ซึ่งทำให้คุณภาพหรือสุขภาวะที่ดีของครอบครัวนั้น จำเป็นต้องถูกยกเป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้