ข่าว/ความเคลื่อนไหว
ภายใต้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 “บุคลากรทางการแพทย์” นับเป็นกำลังคนด่านหน้าที่มีความสำคัญอย่างมาก สิ่งที่น่ากังวล คือกลุ่มบุคลากรเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะทำให้จำนวนของบุคลากรทางการแพทย์ลดลง ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่า การระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. - 7 พ.ค. 2564 มีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 512 ราย จาก 57 จังหวัดทั่วประเทศ โดยร้อยละ 54 รายน่าจะติดเชื้อจากผู้ป่วย ร้อยละ 17 จากเพื่อนร่วมงาน และร้อยละ 29 อาจติดเชื้อจากนอกสถานที่ปฏิบัติงาน โดยแบ่งเป็น มีอาการ 285 ราย ไม่มีอาการ 181 ราย และไม่ระบุอาการ 46 ราย ส่งผลต่อกำลังคนในภาพรวมของแต่ละสถานพยาบาลเป็นอย่างมาก การบริหารจัดการสถานการณ์จึงจำเป็นต้องพิจารณามาตรการกักตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสมและปลอดภัย โดยยังสามารถบริหารกำลังคนให้เพียงพอและรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการงานวิจัย ได้ให้ความสำคัญกับการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสุขภาพ โดยในสถานการณ์ระบาดโควิด-19 สวรส. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) องค์การอนามัยโลก และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ทำการศึกษาวิจัย “โครงการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรการกักตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19” โดยทำการติดตามอาการ ผลการตรวจหาสารพันธุกรรมและแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 จากผู้สัมผัสที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่อยู่ระหว่างการสอบสวนหรือเฝ้าระวังโรค เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดระยะเวลาการกักตัวและจำนวนการตรวจซ้ำที่เหมาะสม รวมทั้งสามารถนำไปใช้ในการจำแนกประเภทของบุคลากรที่มีความเสี่ยงเพื่อการติดตามอาการต่อไป
ดร.ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาเพิ่มเติมจากระบบการเฝ้าระวังในปัจจุบัน โดยติดตามข้อมูลความเจ็บป่วยและผลการตรวจหาสารพันธุกรรมและแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 จากกลุ่มอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 และได้รับการตรวจยืนยันด้วยการตรวจสารพันธุกรรมแล้วพบว่าผลเป็นลบ โดยมีการเฝ้าระวังเพิ่มเติมด้วยวิธีติดตามอุณหภูมิร่างกายและบันทึกอาการที่แสดงทุกวัน เป็นระยะเวลา 14 วัน การตรวจวินิจฉัยยืนยันการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วยการเก็บเนื้อเยื่อหลังจมูก, เยื่อบุที่อยู่ในคอ และเก็บน้ำลาย อีก 3 ครั้ง โดยจะเก็บข้อมูล ณ วันที่ 5, 10 และ 14 รวมทั้งการตรวจหาแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 ชนิด IgA, IgM และ IgG ณ วันที่ 0 และ 14
ทั้งนี้ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2564 มีอาสาสมัครยินดีเข้าร่วมโครงการจํานวน 66 ราย ซึ่งมีอายุระหว่าง 23 ถึง 63 (อายุเฉลี่ย 31 ปี) พบว่าส่วนมากเป็นเพศหญิง (ร้อยละ 82) ร้อยละ 50 ปฏิบัติงานในตําแหน่งพยาบาล รองลงมาร้อยละ 17 คือผู้ช่วยพยาบาล และร้อยละ 8 คือ แพทย์ และส่วนมากบุคลากรทางการแพทย์สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 จากการรักษาพยาบาลในห้องฉุกเฉิน คิดเป็นร้อยละ 44 หอผู้ป่วยในทั่วไป ร้อยละ 27 แผนกผู้ป่วยนอกร้อยละ 6 และหอผู้ป่วยโควิด-19 ร้อยละ 6 ทั้งนี้ร้อยละ 53 ของบุคลากรที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ชนิดเสี่ยงสูงได้รับวัคซีนโควิดครบสองเข็ม สองสัปดาห์อย่างน้อยก่อนการสัมผัสเชื้อโควิด-19 แล้ว อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลที่ปฏิบัติงานในแผนกฉุกเฉินนับเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงมากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากบุคลากรที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง ซึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง มีความตระหนักถึงความเสี่ยง ทำให้เกิดการป้องกันและระมัดระวังตนเองอย่างรัดกุม ขณะที่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในแผนกอื่น อาจมีความตระหนักน้อยกว่าหรือขาดอุปกรณ์ป้องกันอย่างเพียงพอ จึงควรให้ความสําคัญในการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันตนเองกับบุคลากรในกลุ่มนี้ด้วย รวมถึงพัฒนาระบบการทํางานเพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากร เช่น จัดให้มีเวรการทํางานแยกเป็นกลุ่มๆ และแต่ละกลุ่มไม่มีโอกาสสัมผัสกัน เพราะถ้าเกิดการติดเชื้อของบุคลากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็จะสามารถแยกกักตัวเฉพาะกลุ่ม ไม่ต้องกักตัวบุคลากรทั้งหมดในโรงพยาบาล เป็นต้น
สำหรับผลการตรวจ SARS-CoV-2 ด้วย RT-PCR พบว่าผลทั้งหมดเป็นลบ และค่าเฉลี่ยของแอนติบอดี ระหว่างวันที่ 0-5 และวันที่ 14 มีค่าไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ข้อมูลจากการติดตามดังกล่าวที่จะนำไปสรุปผลได้นั้น ต้องเป็นข้อมูลหลังการติดตามแล้วมีผลการตรวจสารพันธุกรรมเป็นบวก เพื่อจะได้ทราบว่าโดยส่วนใหญ่บุคลากรทางแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ จะพบการติดเชื้อ ณ วันที่เท่าไหร่ ซึ่งทีมวิจัยจะเร่งเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อสรุปผลและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยผลวิจัยดังกล่าวสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการพิจารณาเพื่อปรับแนวทางการกักตัวบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงความปลอดภัย และมีโอกาสน้อยที่จะแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ต่อไป
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. กล่าวว่า งานวิจัยเรื่องการพัฒนามาตรการกักตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์นี้ เป็นโจทย์วิจัยที่ผู้กำหนดนโยบายต้องการทราบข้อมูลเพื่อนำไปปรับนโยบายในกรณีที่ต้องบริหารกำลังคนให้เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในสถานการณ์การระบาดที่ค่อนข้างวิกฤติ ทีมวิจัยได้มีการทบทวนแนวทางปฏิบัติในต่างประเทศเกี่ยวกับการกักตัวบุคลากรทางการแพทย์ เช่น สหรัฐอเมริกา กรณีบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วและไม่มีอาการข้างเคียง ไม่ต้องกักตัวหากสัมผัสผู้ติดเชื้อแบบเสี่ยงสูง ส่วนที่มาเลเซียและรัฐโอริสสา ประเทศอินเดีย มีมาตรการที่ไม่ได้ประกาศเป็นทางการว่าไม่ต้องกักตัว โดยในรัฐโอริสสาจะให้บุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อทำงานเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด และไม่อนุญาตให้ทำงานกับผู้ป่วยอื่นทั่วไป ส่วนประเทศในสหภาพยุโรปให้กักตัว 10 วัน ทั้งในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วและยังไม่ได้ฉีด เป็นต้น ข้อมูลดังกล่าวได้นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้