ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ดำเนินการวิจัย “การศึกษา Neutralizing Antibody และการผลิตพลาสมาผู้ที่ฟื้นจากโรคโควิด-19 และ Hyperimmune Globulin (IM)” โดยส่วนหนึ่งของโครงการนี้มีเป้าหมายในการผลิตพลาสมาที่มีภูมิคุ้มกัน เพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย
รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ นักวิจัยเครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สังกัดศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า พลาสมาเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของเลือด มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองในหลอดเลือดของมนุษย์ ซึ่งการรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ ด้วยพลาสมาของผู้ที่ฟื้นจากโรค (Convalescent Plasma) มีมานานเป็นร้อยปีแล้ว เป็นการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันแบบหนึ่งที่เรียกว่า Passive Immunotherapy หรือการให้สารภูมิคุ้มกันจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายโดยตรง โดยที่ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีในรูปของโปรตีนที่เป็นภูมิต้านทานอยู่ในพลาสมาของผู้ที่ฟื้นจากโรคนั้นๆ เชื่อว่าแอนติบอดีที่อยู่ในร่างกายจะอยู่ได้หลายเดือนเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไม่เป็นโรคซ้ำหรือน้อยคนที่จะเกิดโรคซ้ำ การนำพลาสมามาใช้นี้ เป็นวิธีเดียวกับที่เคยใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆมาแล้ว เช่น โรคซาร์ ไข้หวัดใหญ่ 2009 โรคมือเท้าปาก โรคอีโบลา เป็นต้น โดยการนำพลาสมาจากผู้ที่เคยป่วยและหายดีแล้วมาให้กับผู้ที่กำลังติดเชื้อ ดังนั้น แนวทางในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ด้วยพลาสมาจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานที่เชื่อว่า พลาสมาคือยาที่มนุษย์ผลิตด้วยตัวเอง จึงเป็นแนวทางของการต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่ ที่ในช่วงแรกของการระบาดจะยังไม่มียาชนิดเฉพาะเจาะจง รวมถึงวัคซีนที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา หลายๆ ประเทศทั่วโลกจึงนำเอาพลาสมามาใช้ก่อนจนกว่าจะมียาหรือวัคซีนครอบคลุมทั่วถึง
รศ.พญ.ดุจใจ กล่าวว่า มีการนำพลาสมามาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลายประเทศ เช่น ประเทศจีน ที่ได้บุกเบิกการรักษาด้วยพลาสมาตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด รวมทั้งประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เป็นต้น ทั้งนี้ แม้ว่าผลการรักษาด้วยพลาสมาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะยังไม่มีหลักฐานสนับสนุน แต่มีการวิจัยที่แสดงว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มสูงอายุ ที่ได้รับพลาสมาที่มีระดับแอนติบอดีสูงตั้งแต่เริ่ม จะช่วยป้องกันไม่ให้โรครุนแรงได้ ช่วยลดเวลาการนอนไอซียู และฟื้นตัวได้เร็วกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับพลาสมา และยังมีการวิจัยที่แสดงว่า พลาสมาที่มีระดับแอนติบอดีสูง ส่งผลการรักษาได้ดีกว่าพลาสมาที่มีระดับแอนติบอดีต่ำ
สำหรับผลการดำเนินงานจากโครงการวิจัยนี้ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเก็บพลาสมาได้จากผู้เคยป่วยโควิด-19 ในระลอกแรก มีอาสาสมัครลงทะเบียน 487 ราย สามารถบริจาคพลาสมาได้ 152 ราย เป็นเพศชาย 105 ราย (69.1%) เพศหญิง 47 ราย (30.9%) อายุระหว่าง 18 – 58 ปี โดยเก็บพลาสมาได้ทั้งหมด 460 ครั้ง ต้องคัดออก 72 ครั้ง สาเหตุจากมีค่าแอนติบอดีต่ำ ซึ่งทำให้เหลือพลาสมาใช้ได้ 386 ถุง โดยมีการนำไปเตรียมเป็นพลาสมาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยได้ 452 dose เพื่อใช้ภายใต้โครงการวิจัยการศึกษาประสิทธิผลการใช้พลาสมาของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะปอดบวมระดับปานกลางถึงรุนแรง โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ที่สนับสนุนทุนวิจัยโดย สวรส. ร่วมกับ สกสว.
รศ.พญ.ดุจใจ ย้ำว่า หลักสำคัญของการให้พลาสมาคือ การนำไปใช้เสริมการรักษาควบคู่กับยา ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ผลเหมือนกัน ขึ้นกับปัจจัยความรุนแรงโรคและช่วงเวลาการให้พลาสมาแก่ผู้ป่วย อีกทั้งปริมาณแอนติบอดีในแต่ละถุงที่ได้จากผู้บริจาคก็มีปริมาณไม่เท่ากัน ในโครงการวิจัยฯ จึงต้องคัดเลือกผู้บริจาคที่มีระดับแอนติบอดีที่สูงพอที่จะนำมาต่อสู้กับเชื้อไวรัส และควรให้พลาสมาก่อนที่ไวรัสจะไปทำลายปอดหรืออวัยวะต่างๆ เสียหาย เชื่อว่าการให้พลาสมาแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยทุเลาอาการได้เร็วขึ้น ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน ไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจนาน และช่วยลดอัตราการเสียชีวิต
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการวิจัยฯ ยังเก็บพลาสมาได้น้อยมากจากปัจจัยการควบคุมการระบาดในระลอกแรก ซึ่งมีผู้ป่วยน้อย ขณะที่พลาสมาจากผู้บริจาคที่หายป่วยจากโควิด-19 รอบแรก ได้ถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยกว่า 240 รายจนหมดแล้ว โดยขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากที่ต้องการใช้พลาสมาเสริมการรักษา เรากำลังรอพลาสมาจากผู้บริจาค เพื่อร่วมกันผ่านวิกฤตโควิด-19 ในระลอกนี้อีกครั้ง ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงเปิดรับบริจาคพลาสมา โดยผู้บริจาคต้องเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีแล้ว ไม่มีอาการ และเป็น “เพศชาย” เท่านั้น เนื่องจากเพศชายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 มากกว่า และรักษาระดับแอนติบอดีอยู่ในร่างกายได้นานกว่าเพศหญิง มีเส้นเลือดตรงข้อพับแขนชัดเจนกว่า มีความเข้มโลหิตผ่านเกณฑ์มากกว่า และช่วยลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนของผู้รับพลาสมามากกว่าเพศหญิง
ส่วนคุณสมบัติในการพิจารณาอื่นๆ คือ มีอายุ 18 ถึง 60 ปี น้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 55 กก. พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เดินทางได้สะดวก รักษาหายผลตรวจเป็นลบและออกจากโรงพยาบาลแล้วอย่างน้อย 14 วัน หรือ ออกจากโรงพยาบาลและกักตัวอยู่บ้านรวมกันแล้วครบ 28 วัน และมีสุขภาพแข็งแรงดีแล้ว โดยสามารถลงทะเบียนออนไลน์เท่านั้น ทาง https://1th.me/ZJChu ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดต่อนัดหมายเพื่อคัดกรองในรายละเอียดต่อไป สอบถามโทร 0 2256 4300
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้