4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

รัฐบาลตั้งคณะทำงานจัดหาวัคซีน : เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม พร้อมดึงภาคเอกชนร่วมจัดหาวัคซีนคุณภาพดี-ทันสถานการณ์-พร้อมกระจายให้ครอบคลุมป้องกันคนไทยจากโควิด-19 ภายในสิ้นปีนี้

          การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งประเทศไทยมีการเตรียมการจัดหาวัคซีนไว้แล้ว 64 ล้านโดส โดยยังมีแผนจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ครอบคลุมการให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อาศัยอำนาจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 เรื่องการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยคณะทำงานฯ มีอำนาจหน้าที่เสนอแนวทางและมาตรการในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐและวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาใช้ในสถานพยาบาลเอกชน รวมทั้งติดตามสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการจัดหาวัคซีน และดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

          ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ดังกล่าวมีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานด้านการแพทย์และด้านวิชาการสำคัญ รวม 18 ท่าน  มีศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงาน มีคณะทำงานจากบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เป็นต้น

          ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หนึ่งในคณะทำงานฯ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนว่า “รัฐบาลมีการเตรียมการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดสในหลายยี่ห้อ ซึ่งในจำนวน 35 ล้านโดสนี้ ส่วนหนึ่งเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนที่จะเข้ามาช่วยรัฐบาลในการจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองราว 10-15 ล้านโดส โดยกระบวนการต่อไปเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการโดยเร่งด่วนและเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้มีการวางแผนการกระจายและฉีดวัคซีนที่จัดหามาให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้

          ทั้งนี้ ในด้านประเด็นจากสังคมที่มองว่าการฉีดวัคซีนดำเนินการได้อย่างล่าช้านั้น ในความเป็นจริงการดำเนินการมีปัจจัยมากมายที่ต้องคำนึงถึงและต้องการการบริหารจัดการอย่างดี เช่น วิธีการกระจายและฉีดวัคซีน ซึ่งในจำนวนวัคซีนที่เข้ามาในช่วงแรก แนวคิดการกระจายวัคซีนเฉลี่ยไปตามจำนวนจังหวัดและโรงพยาบาล ซึ่งจะพบว่าตัวเลขที่เหลือจะไม่มากนัก จากนั้นเราจัดลำดับความสำคัญของการฉีด โดยจะให้ความสำคัญไปที่บุคลากรทางการแพทย์เป็นอันดับแรกก่อนเพราะเป็นจุดเสี่ยงสำคัญ โดยจะเรียงลำดับอีกทีในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันตามความเสี่ยงหรือใกล้ชิดกับโรค รวมทั้งจำนวนโดสที่ได้มาต้องหาร 2 เพราะ1 คนต้องฉีด 2 เข็ม และการฉีดที่ปลอดภัยจะดำเนินการได้ภายใน รพ.เท่านั้น ซึ่งกระบวนการฉีด 1 คนโดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 1 ชม. แต่อนาคตอาจจะกระจายการฉีดออกไปนอก รพ.ได้มากขึ้น เมื่อเรามีข้อมูลมีประสบการณ์มากขึ้น การกระจายก็จะทำได้มากขึ้น ใช้เวลาน้อยลง เปิดสถานที่ฉีดได้หลากหลายมากขึ้น เพราะมีสถานที่ที่มีความพร้อมรองรับเหตุฉุกเฉินได้มากขึ้น เป็นต้น 

          นอกจากนั้น ในด้านการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้นั้น เกิดจากปัจจัย 2 ส่วน คือ 1) ความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อโรค  และ 2) จำนวนการฉีดวัคซีน ซึ่งวันนี้มีโรคสายพันธุ์ใหม่เข้ามาซึ่งความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อมีเพิ่มขึ้น การฉีดจึงต้องครอบคลุมเพิ่มขึ้นเป็น 70% ของประชากร ซึ่งหมายถึงเราต้องการจำนวนโดสวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ยังไม่รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่คนไทยที่ต้องฉีดไปให้ถึง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้คนไทย เช่น แรงงานต่างชาติในประเทศราว 2 ล้านคน เพราะเขาใกล้ชิดติดต่ออยู่ร่วมกับเรา รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น นักการทูต เป็นต้น

          หรือแม้แต่ในด้านของกระบวนการทางมาตรฐานความปลอดภัยของวัคซีนเอง ซึ่งต้องใช้เวลาและมีกระบวนการหลายขั้นตอน เช่น การผลิตวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในช่วงต้น ต้องส่งตัวอย่างการผลิตของไทยกลับไปยังบริษัทประเทศต้นทางให้ตรวจสอบมาตรฐานการผลิตของไทยก่อนว่าได้มาตรฐานหรือไม่อย่างไร จึงจะอนุญาตให้ผลิตเพื่อนำมาใช้งานได้ รวมทั้งเมื่อบริบทหรือสถานการณ์ประเทศเปลี่ยนไป เป้าหมายการแก้ปัญหาของประเทศก็เปลี่ยนแปลงหรือมีปัจจัยให้ต้องพิจารณามากขึ้น เช่น สถานการณ์โควิด-19 ยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจด้วย ประเด็นการเปิดประเทศจึงถูกนำมาคิด แนวคิดการกระจายวัคซีนจึงต้องเปลี่ยนโดยต้องส่งไปยังจุดสัมผัสนักท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้เกิดวิธีการกระจายใหม่ เช่น ไปในจังหวัดหรือแหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง เป็นต้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้รัฐบาลต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าจะมีการบริหารจัดการอย่างไร ให้เกิดประสิทธิภาพเพียงพอและทั่วถึงกับประชาชนทุกคน รวมทั้งต้องใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า บนสถานการณ์ที่คาดการณ์ล่วงหน้าอะไรได้ไม่มากนัก” 

          นพ.นพพร ชื่นกลิ่น อธิบายเพิ่มเติมในประเด็นรัฐบาลกีดกันเอกชนไม่ให้นำเข้าวัคซีนหรือไม่นั้นว่า “รัฐบาลไม่ได้กีดกันภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนแต่อย่างใด แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ 3 ประการ คือ 1) วัคซีนเป็นตลาดของผู้ขาย ที่มีอำนาจต่อรองสูง ซึ่งขณะนี้มียอดสั่งจองรวมทุกบริษัทเกินกว่า 1-2 พันล้านโดสแล้ว หากประเทศมีความต้องการซื้อในจำนวนไม่มากพอก็มีความยากในการได้รับวัคซีน ซึ่งในกรณีนี้รัฐบาลมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะดึงความร่วมมือของภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำงาน ซึ่งจะสามารถใช้ศักยภาพในด้านความสัมพันธ์ที่ดีที่สามารถดึงให้ผู้ผลิตมีการส่งวัคซีนเข้ามาประเทศเราได้มากขึ้น 2) บริษัทที่จะนำเข้าวัคซีนได้มี 13 หน่วยงานในประเทศเท่านั้น เพราะต้องมีการรับรองคุณภาพ มีห้องเย็น มีระบบ Logistic ที่พร้อมและเพียงพอ และ 3) วัคซีนที่จะนำเข้ามาในประเทศต้องนำมาขึ้นทะเบียนที่ไทยอีกที ที่อาจทำให้เกิดความล่าช้าซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและป้องกันความไม่ปลอดภัยของวัคซีนที่อาจเกิดขึ้น เพราะวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ของโลกและเป็นวัคซีนแรกที่ถูกนำมาใช้  โดยบริษัทที่จะขึ้นทะเบียนต้องส่งเอกสารที่ทำการทดลองที่ชัดเจน ตลอดจนเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือ รวมทั้งบริษัทต้องมีตัวแทนของบริษัทในประเทศไทยมาขึ้นทะเบียน ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลรับทราบและออกการรับรองเพื่อดำเนินการได้อย่างมีมาตรฐานต่อไป โดยสรุปแล้วรัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นใคร แต่ภายนอกอาจไม่เข้าใจกระบวนการดำเนินการที่ละเอียดอ่อน ทางตรงข้ามรัฐบาลได้ดึงความร่วมมือของภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำงานด้วย ซึ่งเราก็พบว่าภาคเอกชนเห็นความสำคัญของสถานการณ์ปัญหาและมีความตั้งใจเข้ามาช่วยอย่างมากโดยไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรแต่อย่างใด

          ส่วนประเด็นการลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมนั้นมีความสำคัญมาก ทั้งนี้เพื่อเกิดระบบการบริหารจัดการข้อมูล การกระจายและการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อรัฐบาลจะนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจในการบริหารจัดการดำเนินงานและงบประมาณสำหรับเรื่องวัคซีนและสถานการณ์โควิด-19 ต่อไป”   

          ทั้งนี้การจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทั้งจากปัจจัยในเรื่องของความต้องการของตลาดจากสถานการณ์โรคที่รุนแรงเพิ่มขึ้น อำนาจการเจรจาต่อรอง ตลอดจนระยะเวลาที่วัคซีนใดจะผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอและสามารถนำมาใช้ได้เหมาะได้ทันกับสถานการณ์หรือในช่วงเวลานั้นๆ รวมทั้งบริบทต่างๆ ภายในประเทศที่มีรายละเอียดให้ต้องพิจารณาอย่างหลากหลาย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้