4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ผลวิจัยระบุ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยคนไทยไม่ให้ยากจนกว่า 76,667 ครัวเรือน นายกปักธงเปิดบริการการแพทย์ฉุกเฉินเมษานี้

          ผลวิจัยระบุ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยคนไทยไม่ให้ยากจนกว่า 76,667 ครัวเรือน นายกประกาศนโยบายเร่งด่วน เน้นให้ทุกหน่วยจับมือร่วมกันทำงาน ปักธงเปิดบริการการแพทย์ฉุกเฉินเมษานี้ พร้อมรับข้อเสนอ 8 ข้อของเครือข่ายนักวิชาการ

          ในการประชุมวิชาการ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทศวรรษที่สอง” ระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม 2555 ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรภาคีต่างๆ มีการนำเสนอรายงานประเมินผลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในช่วงทศวรรษแรก (พ.ศ. 2544-2553) จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศร่วมกับคณะวิจัยไทย พบว่า  ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถดูแลประชาชนได้ครอบคลุมถึง 47 ล้านคนตั้งแต่ปีแรกหลังประกาศนโยบาย ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น ลดภาระรายจ่ายและสามารถป้องกันความยากจนที่มีสาเหตุจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้มากถึง 76,667 ครัวเรือน  

          แม้ผลประเมินจะชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในหลายด้าน แต่ยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาต่อไป ซึ่งเครือข่ายวิชาการ ผู้ให้บริการ ตลอดจนภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมเสนอ 8 แนวทางสำคัญเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทศวรรษหน้า ต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในงานประชุมวิชาการ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทศวรรษที่สอง” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา  

          โดย นพ.พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการ กล่าวว่า “8 แนวทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระยะต่อไป ที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจังเร่งด่วน ประกอบด้วย 1) การพัฒนาความเข้มแข็งของกลไกอภิบาลระบบ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ 2) การพัฒนาระบบเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างพันธมิตรระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. 3) การแก้ไขปัญหาการกระจายบุคลากรอย่างจริงจัง 4) พัฒนาความเข้มแข็งกลไกซื้อบริการในระดับพื้นที่ 5) พัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายระบบบริการสาธารณสุขระดับอำเภอ 6) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ระบบสารสนเทศในการกำกับติดตามผลการดำเนินงานตามระบบหลักประกันสุขภาพ 7) ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนประกันสุขภาพ โดยกำหนดให้มีชุดสิทธิประโยชน์ มาตรฐานระบบข้อมูล และการจ่ายเงินที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ 8) การพัฒนานวัตกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคปฐมภูมิโดยเฉพาะโรคเรื้อรัง”  

          ทั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับข้อเสนอของเครือข่ายพร้อมชี้แจงนโยบายและแนวทางพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาลที่สอดคล้องกับข้อเสนอดังกล่าว โดยกล่าวต่อที่ประชุมว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค โดยกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ต่อเนื่องและครอบคลุมประชาชนให้มากขึ้น โดยจะเริ่มดำเนินการในบริการการแพทย์ฉุกเฉินก่อนภายในเดือนเมษายน 2555 นี้ โดยประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการเข้ารับริการได้โดยไม่ต้องสำรองเงินจ่าย ตลอดจนขยายขอบเขตการดูแลค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยโรคไตและผู้ติดเชื้อเอชไอวี เด็กแรกเกิด คนชรา ผู้พิการ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่ปัจจุบันมีมูลค่าถึง 271,000 ล้านบาท/ปี ด้วยมาตรการ เช่น การกำหนดราคากลาง การจัดซื้อยารวม ฯลฯ การพัฒนาระบบการสร้างสุขภาพ โดยให้ สสส. สปสช. และ สธ.ร่วมกำหนดเป้าหมายและบูรณาการการทำงานร่วมกัน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดบริการสร้างสุขภาพร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับอำเภอ การส่งเสริมให้คนไทยทุกคนมีหมอประจำครอบครัวมียาดีเพียงพอ ไม่ต้องรอรักษานาน และมีการจัดการโรคเรื้อรังโดยการป้องกันและดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รัฐบาลจะเร่งรัดให้เกิดผลโดยเร็ว  โดยเรื่องนี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ให้บริการทุกระดับที่ต้องรับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลขอให้กำลังใจกับคนทำงานทุกคน”

          ทั้งนี้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า  “สปสช. ในฐานะหน่วยปฏิบัติพร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปสู่เป้าหมายให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน  ไม่ล้มละลาย  รวมทั้งคำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีของประชาชนผู้เสียภาษีและผู้ซื้อบริการทุกคน

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้